header



ก่อนจะไปลงมือทำขนมอันนี้กัน พิมอยากเล่าให้ฟังก่อนค่ะว่า เพราะอะไรช่วงนี้พิมถึงทำเมนูขนมไทยลงเวบครัวบ้านพิมบ่อย ๆ นะคะ 

คือพิมอ่ะ อยู่ดี ๆ ก็มีความรู้สึกว่าอยากเปิดร้านขายขนมไทยเล็ก ๆ ค่ะ  ทีนี้ด้วยความที่ระยะหลัง ๆ พิมไม่ค่อยได้ทำขนมไทยบ่อยสักเท่าไหร่ เพราะงั้นพอคิดจะเปิดร้าน  พิมก็เลยต้องเอาสูตรขนมที่เคยเทสต์เคยทำไว้เมื่อก่อนมารื้อฟื้นสักหน่อยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นขนมต้มใบเตย ขนมต้มอัญชัน ขนมดอกโสน  ข้าวต้มจิ้ม ข้าวต้มมัด  ขนมถั่วแปบ ข้าวเหนียวมูนธัญพืช  ข้าวเหนียวมูนกลอย ขนมเล็บมือนาง ขนมเหนียว  และขนมอื่น ๆ ค่ะ  ซึ่งเพื่อน ๆ ที่ติดตามเวบและเพจครัวบ้านพิม ก็น่าจะเห็นขนมพวกนี้อยู่ เพราะว่าวันไหนที่พิมทำ  พิมก็มักจะโพสต์รูปขนมพวกนี้ลงเพจทุกที  😊😊  #เรียกได้ว่าขี้อวดนั่นเองนะคะ ฮ่า ๆ 

มาวันนี้เนี่ยก็เป็นคิวของขนมขี้หนูล่ะค่ะ  หนึ่งในขนมที่พิมเคยชอบกินมากตอนที่ยังเด็ก ๆ   เป็นขนมที่ส่วนผสมไม่ได้เยอะแยะอะไรเลย วิธีการก็ไม่ยุ่งยาก  แต่ว่าทำให้ออกมาเป็นขนมขี้หนูอร่อย ๆ และเนื้อขนมละเอียดฟูสวยนี่ยากมากนะคะ  พิมทำเทสต์ ๆ อยู่เป็นสิบ ๆ รอบกว่าจะจับจุดได้ว่าต้องทำแบบไหนและทำยังไงค่ะ   เพราะงั้นวันนี้ที่พิมเอาสูตรเดิมมาลองทำดู และมันยังออกมาเป็นขนมขี้หนูอย่างที่ชอบ   พิมก็เลยขอเอาสูตรมาแปะไว้ในเวบครัวบ้านพิมด้วย  เผื่อว่าเพื่อน ๆ คนไหนอยากลองทำตามนะคะ 

ไปค่ะ .. ไปดูสูตรและวิธีทำกันเล๊ยยยยย 😄😄

kanom kee noo20

kanom kee noo17

:: ส่วนผสม ::

- แป้งข้าวเจ้า 400 กรัม (แป้งเก่า) 
- กะทิข้นปานกลาง อบควันเทียน 260 กรัม
- น้ำลอยดอกมะลิ 300 กรัม (หรือน้ำเปล่า + หยดกลิ่นมะลิ) 
- น้ำตาลทรายขาว 330 กรัม
- น้ำอัญชัน 25 กรัม
- น้ำใบเตย 25 กรัม
- สีผสมอาหารตามที่ชอบ 2-3 หยด (พิมใช้สีม่วง) 

- มะพร้าวทึนทึกขูดเส้น 150 กรัม
- เกลือสมุทรป่น 1/3 ช้อนชา

- เทียนอบ  (ถ้าไม่ใช้กะทิอบควันเทียน ให้ใช้กะทิ + เทียนอบ) 

** ได้ประมาณ 18 ถุงตามในภาพด้านบน

kanom kee noo03 

:: วิธีทำ ::

อันดับแรก  ... เราจะมาเตรียมน้ำเชื่อมกันก่อนค่ะ

ให้เราหยิบหม้อมาใบนึง ใส่น้ำตาลทรายกับน้ำลอยดอกมะลิลงไป  คนให้เข้ากัน  ตั้งไฟพอน้ำตาลละลาย ก็ปิดไฟเตาได้เลยนะคะ  😊😊

kanom kee noo04

จากนั้นแบ่งน้ำเชื่อมออกเป็น 3  ส่วนเท่า ๆ กัน   (วันนี้พิมใช้วิธีชั่ง แต่บางวันก็ใช้วิธีตวง 😄 เลือกเอาที่เพื่อน ๆ สะดวกได้เลย)  ...   แล้วเติมน้ำอัญชัน  น้ำใบเตย และสีผสมอาหารลงไปในแต่ละชามตามความเข้มอ่อนของสีที่ชอบค่ะ     (เวลาเสร็จเป็นขนมแล้ว สีจะอ่อนลงนิดนึง) 

kanom-kee-noo07.jpg

kanom kee noo05

คนให้เข้ากันดี  แล้วพักน้ำเชื่อมไว้ให้เย็นสนิทก่อนเอามาใช้งานนะคะ 😊

kanom kee noo06

ต่อมา ... ให้เราหยิบกะละมังมาอีกใบ  ใส่แป้งข้าวเจ้าลงไป  ตามด้วยน้ำกะทิค่ะ  #ทยอยใส่เน้ออออ   แล้วนวดแป้งกับกะทิให้เข้ากัน   จนแป้งมีลักษณะเหมือนทรายเปียก  #อย่านวดนานแป้งจะเป็นก้อนแน่น  .. ก็หาอะไรมาปิดปากกะละมัง  แล้วพักแป้งไว้ประมาณ 10 นาทีนะคะ 

kanom kee noo08

พอครบเวลา ก็หยิบซึ้งที่เราจะใช้นึ่งขนมออกมาค่ะ 

ส่วนของก้นซึ้งให้เราใส่น้ำลงไปประมาณ 3 ใน 5 ส่วน  ปิดฝา แล้วยกไปตั้งเตา รอเดือดนะคะ 

ส่วนตัวซึ้ง ให้เราหยิบผ้าขาวบางมาปู  แล้วยีแป้งทั้งหมดผ่านกระชอนตาถี่ลงไปที่ผ้า   มันอาจจะมีแป้งบางส่วนที่จับตัวกันเป็นเม็ดบ้าง  ก็ใช้เอานิ้วบี้ ๆ ไปกับกระชอนได้เลย ... ไม่มีปัญหาค่ะ  😁

*** ผ้าขาวบาง ชุบน้ำและบิดหมาด ๆ ก่อนเอาใช้ด้วยน๊าาา 

kanom kee noo09

kanom kee noo10

พอน้ำเดือดจัด ๆ  ก็ยกซึ้งแป้งวางลงไปเลยค่า   จัดการปิดฝา  แล้วนึ่งด้วยไฟแรงประมาณ 30 นาที ...  และพอแป้งสุกดี  ก็ปิดไฟเตา  ยกซึ้งลงได้เลยนะคะ 

kanom kee noo11

 จากนั้นแบ่งแป้งร้อน ๆ ออกเป็น 3 ส่วน   #กะด้วยสายตาหรือใช้วิธีชั่วตวงก็ได้ ...  แล้วเอาแป้งแต่ละส่วนใส่ลงในชามน้ำเชื่อมแต่ละสีค่ะ

kanom kee noo12

 จัดการมูน (คลุกเคล้า) แป้งกับน้ำเชื่อมให้เข้ากัน   แล้วหาฝาอะไรมาปิดให้สนิท  ถ้าไม่มีก็ใช้ฟิล์มแรปได้   ..... พักแป้งไว้ประมาณ 20 นาทีค่ะ 

kanom kee noo13

 พอครบเวลา ก็จะได้ตัวขนมขี้หนูออกมาหน้าตาอย่างในภาพด้านล่างนี้นะคะ  แต่ว่ามันจะยังเป็นแป้งขนมที่เนื้อแน่น ๆ อยู่  😁😁

kanom kee noo14

ก็ให้เอาส้อมมาตะกุย ๆ แป้งค่ะ  พยายามตะกุยให้ถี่ ๆ นิ๊ดดดนึง เพื่อที่จะได้ตัวขนมขี้หนูที่ฟูสวย และเนื้อขนมละเอียดนะคะ  😊😊

สำหรับคนที่ใช้กะทิอบควันเทียน  พอยีขนมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็เอาตัวขนมไปคลุกกับมะพร้าวทึนทึกแล้วกินได้เลยค่ะ  แต่ว่าถ้าใครใช้กะทิธรรมดา  และอยากให้ตัวขนมมีกลิ่นที่หอมชวนกิน  ก็ให้เอาไปอบควันเทียนสัก 30 นาทีนะคะ 

kanom kee noo15

ต่อมาในส่วนของมะพร้าว  ก็ให้เอามะพร้าวทึนทึกที่ขูดเป็นเส้นเล็ก ๆ ไปนึ่งประมาณสัก 10 นาที เพื่อยืดอายุของมะพร้าวค่ะ     แต่ว่าถ้าใครทำกินเองที่บ้าน  ไม่ได้จะทำไปขายใคร  และกะว่าจะกินขนมหมดภายใน 5-6 ชม. ก็ไม่จำเป็นต้องนึ่งมะพร้าวนะคะ 

เมื่อนึ่งมะพร้าวเสร็จแล้ว  ก็ให้เอามะพร้าวไปคลุกกับเกลือสมุทรป่นพอให้มีรสเค็มปะแหล่ม ๆ เพื่อที่เวลาเอาไปกินกับขนมขี้หนู รสเค็มของมะพร้าวจะได้ไปตัดกับรสหวานของขนมค่ะ 😊

kanom kee noo16

และพอถึงเวลากิน เราก็ตักขนมขี้หนูใส่ถ้วย ใส่จาน หรือใส่ถุง  แล้วหยิบมะพร้าวคลุกเกลือโรยไปด้านบนตามความชอบ  เวลากินก็คลุกเคล้าทั้งสองอย่างให้เข้ากัน เท่านี้เราก็จะได้ขนมขี้หนูอร่อย ๆ พร้อมกินแล้วนะคะ 

kanom kee noo02

ขนมขี้หนูที่อร่อยสำหรับพิม ตัวขนมจะต้องฟูนิ่มและมีเนื้อละเอียด  มีกลิ่นหอมของเทียนอบ  (ใครไม่ชอบ ไม่ต้องอบเน้อออ)  รสชาติจะต้องหวานนำแต่ไม่หวานโดด  ได้ความมันและเค็มจากมะพร้าวที่กินแล้วเข้ากับรสหวานของตัวขนมค่ะ   ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลเนี่ยมันก็จะต้องมาจากสัดส่วนของแป้งและน้ำเชื่อมที่เหมาะสมกันนะคะ  ^_^   ซึ่งเท่าที่พิมได้ลองทำสูตรนี้มาหลายครั้ง  บอกเลยว่ายังไม่มีครั้งไหนที่ผิดหวังค่ะ    

kanom kee noo01

เพราะงั้นเพื่อน ๆ ก็ลองเอาไปทำกันดูน๊า  ติดขัดตรงไหนก็แวะมาถามไถ่กันได้ อันไหนพิมตอบได้ จะช่วยตอบให้นะคะ 

kanom kee noo17

แล้วเจอกันใหม่ในเมนูขนมไทยถัดไป  ส่วนวันนี้ขอตัวไปกินขนมขี้หนูก่อน บ๊ายบายค่า 😊😊

kanom kee noo20



ครัวบ้านพิม on Facebook

สมาชิก