ทำไมเวลาทำกับข้าวพวกแกงที่ใส่กะทิ เค้าจะต้องพูดว่า "เคี่ยวให้กะทิแตกมัน" มันเป็นยังไง ทำแล้วดียังไง... วันนี้พิมจะมาเฉลยให้ฟังค่ะ
การเคี่ยวกะทิให้แตกมันสำหรับทำอาหารจำพวกแกงกะทินั้น ในสมัยโบราณเค้านิยมใช้น้ำกะทิที่คั้นครั้งที่ 2 เอาไปเคี่ยว (ส่วนหัวกะทิเอาไว้ราดหน้าทีหลัง) แล้วเคี่ยวด้วยไฟกลางค่อนไปทางอ่อน เรื่อย ๆ เคี่ยวแบบใจเย็น ๆ ประมาณ 15-30 นาที (ขึ้นกับปริมาณน้ำกะทิ) กะทิก็จะแตกมัน
ลักษณะที่เราเรียกว่า "กะทิแตกมัน" คือ กะทิจะมีลักษณะเหมือนน้ำมันใสๆ ลอยอยู่บนผิวหน้าของกะทิ ปริมาณน้ำมันจะมากน้อยขึ้นอยู่กับความมันของกะทิและระยะเวลา รวมถึงไฟที่ใช้ในการเคี่ยว (กะทิจะมีน้ำมันอยู่ การเคี่ยวด้วยไฟอ่อนเรื่อย ๆ จะทำให้น้ำมันแยกตัวออกมาจากน้ำกะทิ) .....
แล้วเมื่อเคี่ยวกะทะจนแตกมันได้ที่ เราก็จะค่อย ๆ ช้อนเอาส่วนหน้ากะทิที่มัน ๆ เนี่ย มาผัดพริกแกง จะทำให้พริกแกงที่ผัดที่ได้มีความมัน ใส และสีสวย แต่ในปัจจุบันอาจจะด้วยเวลา และเพื่อความประหยัด จึงนิยมนำเอาหัวกะทิ ปริมาณพอผัดพริกแกง เช่น 1 ถ้วย ลงไปเคี่ยวในกระทะที่เราจะผัดพริกแกง ... จนกระทั่งหัวกะทิแตกมันดี ....แทนการใช้น้ำกะทิทั้งหมดใส่หม้อไปเคี่่ยวบนเตาน่ะค่ะ
:: หมายเหตุ ::
- การเคี่ยวกะทิให้แตกมัน เมื่อน้ำกะทิเริ่มเดือดให้คนเพียงครั้งเดียว เพื่อไม่ให้กะทิเป็นลูก (ส่วนมัน ๆ จับตัวกันเป็นก้อน) ก็พอค่ะ อย่าคนบ่อย ไม่งั้นกะทิจะไม่ค่อยแตกมัน
- กะทิคั้นแบบสด ๆ จะแตกมันง่ายกว่ากะทิสำเร็จรูป จำพวกกะทิกล่อง กะทิถุง กะทิผง
- แกงบางอย่าง ชอบให้กะทิแตกมันเยอะๆ เพราะเวลาผัดพริกแกงออกมาแล้ว จะแดงสวยดี แต่แกงบางอย่างก็ไม่ต้องค่ะ