header



เช้าวันนี้พิมตื่นมาพร้อมกับความสดชื่นสุด ๆ ไปเลยนะคะ เพราะแม้ที่นี่จะไม่มีแอร์  แต่เมื่อคืนฝนตกตลอดทั้งคืน บวกกับพัดลมอีก 2 ตัว อากาศเลยเย็นสบายมากๆ เลยอ่ะค่ะ 

วันว่างแบบนี้ ไปทำอะไรดีที่ตราด ตอนที่ 1 อ่านได้ >> ที่นี่ <<

วันว่างแบบนี้ ไปทำอะไรดีที่ตราด ตอนที่ 2 อ่านได้ >> ที่นี่ << 

trat d3 045

trat d3 002

และพอตื่นมาปุ๊บ หลังจากไปล้างหน้าแปรงฟัน เก็บที่หลับที่นอนเรียบร้อยแล้ว  พี่วิไลก็เดินมาถามว่าหิวหรือยัง  แบบว่าเตรียมข้าวต้มกุ้งอร่อยๆ ไว้ให้แล้วน๊า   (เรื่องที่นอนจะไม่เก็บที่อนก็ได้นะคะ  แต่พิมติดนิสัยที่ตืนนอนแล้วต้องพับผ้าห่ม และวางหมอนให้เรียบร้อยอ่ะค่ะ ^^) 

trat d3 001

ระหว่างที่เรานั่งกินข้าวต้มกัน  (เป็นข้าวต้มกุ้งที่กินทุกคำมีกุ้ง ^^")  พี่วิไลก็มาบอกเราว่าวันนี้ขอเปลี่ยนโปรแกรมนิดนึงนะ  ตอนแรกที่คิดกันเอาไว้คือ ทำงอบ - ทำข้าวเกรียบ แล้วค่อยไปลงเรือชมวิธีประมง งมหอยปากเป็ด  แต่พอตื่นเช้ามาน้ำลดเร็วกว่าปกติ  พี่คนขับเรือเค้าก็เลยกลัวว่าถ้าจะลงเรือช่วงเที่ยง อาจจะลำบาก เรืออาจจะเข้ามาจอดที่ท่าเรือไม่ได้   เลยขอเปลี่ยนเป็นให้มาลงเรือ งมหอยปากเป็ดกันก่อน ซึ่งพิมก็ไม่มีปัญหาอะไร ว่ายังไงว่าตามกันเลยอ่ะค่ะ 

trat d3 003

จากบ้านพี่วิไล เราเดินข้ามสะพานสูงมาที่อีกฝั่งคลอง แล้วก็เดินต่อมาอีกนิด ก็จะถึงท่าเรือที่เราจะไปล่องเรือ งมหอยปากเป็ดกันแล้วนะคะ   แต่ถ้าใครเป็นโรคกลัวความสูงอย่างพิมก็ไม่ต้องกังวล ถ้าข้ามสะพานไม่ได้  เดี๋ยวพี่เค้าจะพาขี่จักรยานหรือนั่งมอเตอร์ไซด์มาแทนอ่ะค่ะ 

trat d3 023trat d3 022

trat d3 006

 จากท่าเรือ เรานั่งเรือชมวิถีชีวิตชาวประมงริมสองฝั่งคลองน้ำเชี่ยว กันประมาณครึ่งชั่วโมง ก็จะถึงจุดงมหอยปากเป็ดแล้วนะคะ  

trat d3 007

trat d3 010

สมัยเด็กๆ  ตอนพิมมาเที่ยวจันทบุรี พิมเคยเห็นหอยปากเป็ดที่ตลาดสดเยอะแยะเลยนะคะ  แต่ไม่รู้ว่าชื่ออะไร  เลยเรียกว่า หอยมีหางมาตลอด  ^_^  จนโตมานี่แหละค่ะ ถึงได้รู้ว่าเค้าเรียกว่าหอยปากเป็ด ฮ่ะๆ 

หอยปากเป็ด บางคนก็เรียกว่าหอยราก บางคนก็เรียกว่าหอยตะเกียง  จริงๆ แล้วตามข้อมูลที่พิมเคยอ่านมา เค้าบอกว่าเจ้านี่ไม่ใช่หอยนะคะ  แต่เป็นสัตว์ทะเลชนิดนึงที่มีเปลือกคล้ายหอยกาบ และมีสีเปลือกคล้ายหอยแมลงภู่อ่ะค่ะ   แล้วก็มักจะฝังตัวอยู่ในดินทรายปนเลน ดินโคลนตามชายฝั่งทะเล  โดยใช้รากหรือที่เราเรียกกันว่าหางเนี่ย ในการเคลื่อนย้าย กระดึ๊บ ๆ ไปตามที่ต่าง ๆ นะคะ 

ที่บ้านน้ำเชี่ยวเนี่ยเป็นอีกหมู่บ้านนึงในจังหวัดตราดที่มีหอยปากเป็ดชุกชุมมากเลยอ่ะค่ะ   ชุมขนาดที่ว่าเมื่อเราเอามือล้วงลงไปในโคลน เราจะสัมผัสได้ถึงหอยปากเป็ดแทบทุกอณูขนแขนของเราเลยค่า 

พอนึกถึงตอนงมหอยปากเป็ดแล้ว พิมก็แอบขำนิ๊ดดดนึงงง ตอนที่เรือไปจอดตรงบริเวณจุดๆ  นึง แล้วพี่คนขับเรือก็บอกว่าตรงนี้แหละที่มีหอย  เดี๋ยวเราจะลงไปงมกัน  พิมก็ถามพี่เค้าว่าน้ำลึกไหมคะ  พี่เค้าก็บอกน้ำไม่ลึกเลยน้อง  ไม่ถึงฟุต ......พิมก็เลยลงตามพี่เค้าไปเลยค่าาา จริงด้วยย น้ำลึกไม่ถึงฟุต  แต่โคลนนี่ลึกเกือบถึงเอวเลย 5555 

trat d3 013

 และหลังจากงมหอยปากเป็ดกันอยู่สักประมาณครึ่งชั่วโมง  พิมก็ได้หอยปากเป็ดมาเยอะประมาณนี้ล่ะค่า 

trat d3 015

ซึ่งหอยปากเป็ดพวกนี้เนี่ยก็เอาไปทำเมนูอร่อยๆ  ได้หลายเมนูเลยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นผัดฉ่า  ทอดกระเทียมพริกไทย ผัดใบโหระพา   เอาไปทำต้มกะทิ หรือถ้าจะไว้กินนานๆ  ก็ทำเป็นหอยดองเค็มหวาน ... อร่อยทุกเมนูเลยค่า

trat d3 014

trat d3 016

พองมหอยปากเป็ดเสร็จ  พิมก็ขึ้นมาล้างเนื้อล้างตัวบนเรือนะคะ (พี่เค้ามีน้ำจืดสะอาด ๆ เตรียมไว้ให้)  เสร็จแล้วพวกเราก็นั่งเรือกลับเข้าฝั่ง เพื่อจะไปทำกิจกรรมอื่นกันต่อค่า 

trat d3 017

trat d3 018

trat d3 019

จากงมหอยปากเป็ด พิมแวะไปอาบน้ำอาบท่าเปลี่ยนเสื้อผ้ากันก่อนนะคะ   จริง ๆ ไม่ต้องเปลี่ยนก็ได้  แต่เพื่อความสบายตัว เปลี่ยนหน่อยก็ดีอ่ะค่ะ ^_^  หลังจากเปลี่ยนเสื้อผ้าเสร็จ พี่วิไลก็พาพิมกับคุณสามีเดินไปชมศาลเจ้าที่อยู่หน้าทางเข้าชุมชนนะคะ  ตอนที่ยืมมองอยู่ข้างนอก ก็รู้สึกว่าสวยประมาณนึงแล้ว แต่พอเดินเข้ามาด้านใน สวยกว่าที่เห็นข้างนอกมากมายหลายเท่าเลยค่ะ  

trat d3 024

ศาลเจ้าแห่งนี้ มีชื่อว่า ศาลเจ้าเซ็งจุ้ยโจ้วซือ  .... หากเราเดินผ่าน ๆ ไป อาจจะไม่ได้คิดอะไร  แต่จริง ๆ แล้ว ศาลเจ้าแห่งนี้มีเรื่องราวที่น่าสนใจมากๆ เลยนะคะ

มีเรื่องเล่ากันว่า ในรัชสมัยฮ่องเต้ซ้องเหรินจงของจีน ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 1566 - 1606 มีเด็กคนนึงเกิดมาชื่อตันพ้อจอก แม้จะเป็นเด็กชาวจีน แต่ว่าจะแตกต่างจากชาวจีนทั่วไป เพราะตันพ้อจอกมีผิวดำ ตัวดำ หน้าดำ จมูกโด่ง คล้ยไปทางแขกอินเดีย ตันพ้อจอกเกิดในครอบครัวยากจน แต่เป็นคนเรียบร้อย ชอบการเรียนรู้ทั้งเรื่องบุ๋นเรื่องบู๊ ชอบศึกษาในเรื่องของพืชสมุนไพร และชอบศึกษาคำสอนในพระพทุธศาสนาจนแตกฉานอ่ะค่ะ

ต่อมาช่วงนึงจีนเกิดยุคข้าวยากหมากแพง ตันพ้อจอกจึงไปบวชแลกศึกษาพระธรรมวินัยที่สำนักสงฆ์ต้าหยินเอี้ยน จนเติบโตเป็นพระภิกษุหนุ่มที่ความเคร่งครัดในศาสนามากๆ ต่อมาท่านก็มาสมัครเป็นศิษย์ของอาจารย์เมงกงเซียมซือ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอภินิหาร พอได้รับการถ่ายถอดความรู้จนครบถ้วยกระบวนความแล้ว พระภิกษุตันพ้อจอกก็เลยลาอาจารย์ไปบำเพ็ญธรรมอยู่ที่สำนักสงฆ์หม่าจ่างแทนค่ะ

ระหว่างที่พระภิกษุตันพ้อจอก อยู่ที่สำนักสงฆ์หม่าจาง ท่านก็บำเพ็ญปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดนะคะ อีกทั้งคอยช่วยเหลือชาวบ้านที่ยากไร้ และสร้างสาธารณะประโยชน์ เช่น ถนน สะพานมากมาย เลยทำให้ชาวบ้านเลื่อมใสกันเป็นจำนวนมาก

ต่อมามีชาวบ้านอีกตำบลนึงที่ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาลมานานมาแล้ว ทราบว่าพระภิกษุตันพ้อจอกมีบุญบารมีสูง ก็เลยนิมนต์ท่านไปทำพิธีขอฝน แล้วหลังจากทำพิธีไปไม่ได้ ฝนก็ตกลงมาอย่างมากมาย ชาวบ้านเลยขอร้องให้พระภิกษุตันพ้อ (หรือเรียกอีกชื่อว่า โจ่วซื้อ = หลวงปู่ ปรมาจารย์) มาอยู่ที่เขาฮ่องกลาย ซึ่งท่านก็ไม่ขัดข้องอ่ะค่ะ

ระหว่างนั้นหากพื้นที่ใดประสบภัยพิบัติ ก็จะนิมนต์ท่านไปช่วยขจัดปัดเป่าภัยพิบัติเหล่านั้นะคะ และด้วยคุณงามความดีของท่าน เหล่าพุทธศาสนิกชนที่เคารพนับถือท่านในสมัยนั้นก็ได้สร้างวัดกึ่งศาลเจ้าเพื่อให้ท่านจำพรรษาขึ้นที่กลางหุบเขาฮ่องหลายซาน ซึ่งที่หุบเขานี้ก็จะมีน้ำไหลเย็นจากภูเขาที่มีความใสสะอาดลงมาตามหน้าผา ก็เลยมีการเรียกชื่อท่านใหม่ว่า "เฉ่งจุ้ยโจวซือ" แปลว่าปรมาจารย์น้ำใสนะคะ (เฉ่งจุ้ย แปลว่าน้ำใส ส่วนโจ่วซือแปลว่าปรมาจารย์) และท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดฮ่องหลายซาน จนอายุ 65 ปี ท่านก็มรณภาพค่ะ

แต่ว่าแม้ร่างกายท่านจะดับสลายไปแล้ว แต่ชาวบ้านประชาชนที่ศรัทธาท่านก็ยังมีอยู่มากมาย จึงได้มีการสร้างศาลเจ้าเฉ่งจุ้ยโจวซือไว้ตามที่ต่างๆ เพื่อเป็นการระลึกถึงท่านอ่ะค่ะ ^_^  

trat d3 025

trat d3 028

trat d3 027

จากศาลเจ้าเฉ่งจุ้ยโจวซือ พิมกับคุณสามีและพี่วิไลข้ามถนนกันมาที่อีกฝั่ง (ฝั่งชุมชน) แล้วก็เดินเลยมาทางคลองนิดนึง เพื่อจะไปร้านตาโอ่งนะคะ   ซึ่งที่ร้านนี่เนี่ยนอกจากจะเป็นแหล่งรวบรวมผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ไผ่และใบจากที่หลากหลายและมากสุดของชุมชนน้ำเชียว เพื่อไว้ขายแล้ว  เราก็ยังสามารถไปเดินดูฝีมือของชาวบ้านได้จากที่นี่อีกด้วยอ่ะค่ะ 

trat d3 033

trat d3 034

trat d3 036

ส่วนราคาของสินค้าต่าง ๆ ที่นี่บอกได้เลยว่าราคาพอ ๆ กับที่ชาวบ้านทำขายปลีกเลยค่ะ อย่างงอบที่ชาวบ้านทำขายใบละ 150  ที่นี่ก็ขายใบละ 150 เหมือนกันจ้า  ยังไงถ้าแวะเวียนไปแถวนี้ อย่าลืมไปอุดหนุนผลิตภัณฑ์ของที่นี่กันนะคะ  ^_^

trat d3 035

trat d3 037

trat d3 038

จากร้านตาโอ่ง เดินเลยมาอีกนิดที่ปากทางเข้าชุมชนน้ำเชี่ยวที่อยู่ติดกับคลอง  ก็จะเจอจุดที่ชาวบ้านเค้าเอาปลาสดๆ กุ้ง หมึกสด ๆ ที่จับได้กันมาขายวันต่อวันนะคะ  ราคาก็เป็นแบบว่าชาวบ้านซื้อกันเลยอ่ะค่ะ  ถ้าเพื่อนๆ คนไหนอยากได้ปลาสด ๆ กุ้งสดๆ (แต่จะเป็นแบบปลาทู ปลาตะเพียนทะเล ปลาข้างเหลือง ปลาโอ ปลากระบอก) ก่อนจะเดินทางกลับบ้าน ก็แวะมาดูที่นี่ได้เลยค่า

trat d3 032

trat d3 030

trat d3 031

m01

จากจุดขายปลา เหลือบดูนาฬิกา ปาเข้าไปเกือบบ่ายโมงแล้ว  พี่วิไลเลยชวนพิมกับคุณสามีเดินกลับไปที่บ้าน เพื่อไปกินข้าวกลางวันกันก่อนที่จะไปเดินชมชุมชน และทำกิจกรรมอันต่อ ๆ ไปอ่ะค่ะ 

พูดถึงมื้อกลางวันที่บ้านน้ำเชี่ยว ตอนแรกพิมก็ไม่ได้คิดอะไรนะคะ  คิดว่าเป็นอาหารจานเดียวคนละจานก็เพียงพอแล้ว  แต่พอไปเห็นของจริง  โอ้วววว กับข้าวมาเป็นสำรับใหญ่เลย พิมเลยถามพี่วิไลมา ปกติมา 2 คนก็จัดให้แบบนี้เหรอคะพี่ พี่วิไลก็บอกว่าใช่แล้ว  มา 2 มา 4 หรือมามากกว่านี้ ก็จัดให้ประมาณนี้เลยค่ะ ต่างกันที่ปริมาณเท่านั้นเอง  

trat d3 043

ตอนแรกที่เห็นกับข้าวนะคะ นอกจากจะคิดในใจว่ามีหลายเมนูจัง ก็แอบคิดในใจอีกว่า จะกินหมดเหรอเนี่ย เยอะแยะขนาดนี้  แต่เชื่อไหมคะ >_<  เอาจริงแล้ว พิมกับคุณสามีทานกัน 2 คนเกือบหมดเลยค่า  (เหลือแต่ปลาทูทอด กินไปแค่ตัวเดียว)  ก็ไม่รู้ว่าทานกันไปเยอะขนาดนั้นได้ยังไงนะคะ  แต่กับข้าวทุกอย่างอร่อยมาก ถึงเครื่อง หอม เผ็ด เค็มกำลังดี  

trat d3 044

โดยเฉพาะแกงเขียวหวานปลาดุกทะเล  (ที่บังเอิญว่าวันนี้มีไข่ปลาด้วย โชคดีสุด ๆ ไปเลย)  รสชาติของน้ำแกง ความเข้มข้นของแกง กลิ่นหอมของพริกแกงไม่ต่างจากที่พิมทำเองเลยอ่ะค่ะ  ซึ่งเท่าที่คุยกับพี่วิไล  พี่วิไลบอกว่าอาหารที่เลี้ยงแขกโฮมสเตย์จะเป็นอาหารที่มาจากฝีมือการทำอาหารของหัวหน้ากลุ่มอาหารของชุมชนน้ำเชี่ยวนะคะ   คือที่บ้านหัวหน้าฯ เค้าจะมีอาชีพเกี่ยวกับการทำอาหารเป็นหลักอยู่แล้ว  ฝีมือนี่ไม่ต้องพูดถึง  นอกจากทำเร็ว ทำไว ทำครั้งละปริมาณมากๆ ได้อย่างสบาย ๆ แล้ว รสชาติความอร่อยก็เป็นที่เลื่องลือเลยอ่ะค่ะ   เพราะงั้นมาน้ำเชี่ยว ไม่ผิดหวังเรื่องอาหารอย่างแน่นอนค่า 

trat d3 045

แล้วระหว่างที่พิมกับคุณสามีกำลังทำกับข้าวกันอยู่  พี่วิไลก็เข้าครัวไปทำผัดหอยปากเป็ดมาให้เราได้ชิมกันค่ะ  พี่วิไลบอกว่าหอยอันนี้เนี่ยความอร่อยอยู่ที่ตรงหางหอยที่กรุบ ๆ นะคะ  ถึงขนาดบางทีมีการตัดหางหอยแยกขายต่างหากเลยก็มีอ่ะค่ะ    แต่ถ้าถามพิม สงสัยพิมจะแปลกประหลาดอยู่คนเดียว เพราะพิมชอบกินตัวหอยมากกว่า  อารมณ์มันคล้ายๆ  หอยกะพงตัวจิ๋วๆ เนื้อนุ่ม ๆ  ผัดกับใบโหระพาหอม ๆ กินเพลิน รู้ตัวอีกทีหมดไปเกือบครึ่งกาละมังแล้วค่ะ ฮ่ะๆ 

trat d3 049

เมื่อกินอิ่มกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  (จริง ๆ น่าจะเรียกว่าเกินอิ่มนะคะ ^^)  ก็ได้เวลาท้องฟ้าโปร่ง แดดกำลังสวยพอดี  พี่วิไลก็เลยชวนพิมและคุณสามีขี่จักรยานผ่านริมคลอง ผ่านทุ่งนา ไปดูวิธีทำข้าวเกรียบยาหน้ากันที่บ้านพี่รสริน ซึ่งอยู่อีกด้านนึงของชุมชนล่ะค่า  

trat d3 053

trat d3 054

trat d3 051

พี่รสเล่าให้ฟังว่า จริง ๆ แล้วข้าวเกรียบยาหน้า ไม่ใช่ของกินที่มีมาแต่ตั้งแต่เดิมของทางบ้านน้ำเชียวนะคะ   แต่ว่าในสมัยนึงที่คนเวียดนามอพยพย้ายถิ่นเข้ามาอยู่ที่บ้านน้ำเชี่ยว ก็หอบเอาวัฒนธรรมทางด้านอาหารเข้ามาด้วย และหนึ่งในนั้นก็จะมีข้าวเกรียบยาหน้านี่แหละค่ะ  แต่ว่าเท่าที่พิมค้นข้อมูลดู ข้าวเกรียบยาหน้าแท้ๆ ของคนเวียดนาม  แม้จะมีวิธีการทำคล้าย ๆ กัน แต่ก็ไม่เหมือนกันซะทีเดียว  เพราะที่เวียดนามเค้าจะทำคล้ายๆ เป็นอาหารคาว คือจะใส่หมูสับ ไข่นกกระทา  หอมเจียว  ต้นหอม อะไรประมาณนี้ และมีชื่้อเรียกอีกชื่อนึงนะคะ  แต่พออาหารชนิดนี้เข้ามาอยู่ที่บ้านน้ำเชี่ยว ก็มีการปรับเปลี่ยนตามวัตถุดิบที่หาได้มากในท้องถิ่น สุดท้ายก็เป็นข้าวเกรียบยาหน้าอย่างในปัจจุบันนี่นี่แหละค่า

trat d3 060

วิธีทำข้าวเกรียบยาหน้านั้น เหมือนจะไม่ยุ่งยาก แต่เอาจริงหลายขั้นตอนมากกกค่ะ เริ่มตั้งแต่การทำตัวแผ่นแป้ง ซึ่งมีวิธีทำเหมือนๆ กับ แป้งข้าวเกรียบปากหม้อ  แต่พอทำเสร็จเป็นแผ่นแทนที่จะห่อไส้แล้วกินเลย จะต้องเอาแผ่นแป้งนั้นไปตากแดดซะก่อน    พอแห้งดีก็เอามาปิ้งบนเตาถ่านด้วยไฟอ่อน ๆ  (เหมือน ๆ การปิ้งข้าวเกรียบว่าว)   จนกระทั่งกรอบ ก็ใช้ได้ล่ะค่า

trat d3 056

trat d3 058

แล้วพอเวลาจะกิน (ถ้ายังไม่กิน ก็เอาใส่ถุงมัดปากไว้ก่อน)  ก็เอามายา (ยา = ทา)  ด้วยน้ำอ้อยเคี่ยวหนึบ ๆ เพื่อให้มีรสหวานหอม  และก็ตักหน้ามะพร้าวผัดกับกุ้งโปะลงไปมากน้อยตามชอบ  ตามด้วยต้นหอมซอย .... เป็นอันกินได้ล่ะค่า ^_^ 

trat d3 062

พี่รสบอกว่า ข้าวเกรียบยาหน้าเนี่ย ถ้านับเฉพาะในประเทศไทยจะมีที่บ้านน้ำเชี่ยวที่เดียวนะคะ  ไม่มีที่อื่น  แถมขายแผ่นละ 5 บาทเท่านั้นเองด้วยค่ะ  เพราะนั้นใครอยากจะกินข้าวเกรียบยาหน้าอร่อย ๆ  แถมราคาไม่แพง คนขายก็ใจดี๊ใจดี ...  ต้องมาที่บ้านน้ำเชี่ยวเท่านั้นค่า  

trat d3 064

จากบ้านพี่รส ... พี่วิไลพาปั่นจักรยานขึ้นมาตามถนนอีกหน่อย จนเกือบถึงถนนหลัก เพื่อมาดูวิธีการทำงอบแบบบ้านน้ำเชี่ยวนะคะ    ซึ่งหลายคนอาจจะสงสัยว่า เอ๊ะ ทำไมเราจะต้องดูทำงอบกันด้วยล่ะ  มันมีอะไรน่าสนใจมากกว่าคำว่า "งอบ" ทั่วไปรึเปล่า 

งอบที่บ้านน้ำเชี่ยว นอกจากความเป็น "งอบ" ที่ไว้กันแดดกันฝนแล้ว ก็ยังเป็นภูมิปัญญาเป็นความรู้ที่สืบต่อกันมาช้านานตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายลงมาจนถึงเหลนหลานนะคะ  ที่สำคัญคืองอบของที่นี่มีหลายทรงมาก  เพื่อให้ผู้สวมใส่แต่ละคนสามารถเลือกไปใช้ได้ตามความเหมาะสมของงานอ่ะค่า ^_^ 

trat d3 084

จริงๆ  แล้วเนี่ย การมาดูการทำงอบน้ำเชี่ยว เราจะลงมือทำหรือไม่ลงมือทำก็ได้นะคะ  เพราะยังไงในราคาแพคเกจโฮมสเตย์คนละ 1099 บาท เราทุกคนก็จะได้งอบกลับไปคนละ 1 ใบอยู่แล้วอ่ะค่ะ ... แต่ในเมื่อมาถึงที่นี้แล้ว มันก็เป็นการดีนะคะ ถ้าเราจะได้เรียนรู้ และได้ลองลงมือทำงอบไปด้วยอ่ะค่ะ ^_^ 

วิธีการทำงอบของที่บ้านน้ำเชี่ยว ก็จะเริ่มจากคัดใบจากทีละใบ  ซึ่งนอกจากจะต้องให้มีขนาดเท่า ๆ กันแล้ว ยังต้องดูความเหมาะสมอีกด้วยว่างอบทรงที่เรากำลังจะทำ  ควรใช้ใบจากใบเล็กหรือใหญ่ขนาดไหนนะคะ 

trat d3 066

พอคุณยายคัดเลือกใบจากได้แล้ว ก็จะนำมาตัดโคนตัดปลายใบให้เรียบร้อย แล้วก็เย็บตรงกลางใบให้ติดกัน ก่อนจะแผ่เป็นทรงกลมอ่ะค่ะ  จากนั้นก็มัดด้วยเชือกฟางแบบคร่าว ๆ  เพื่อให้ใบจากแต่ละใบไม่ขยับเขยื้อน  แล้วก็เย็บด้วยด้ายให้ใบจากแต่ละใบติดกันประมาณ 11-13 วง   ก่อนจะขึ้นทรง และไปตากแดดให้แห้ง (ใช้เวลาหลายวันอยู่)   พอแห้งดีก็ส่งต่อไปให้สมาชิกในกลุ่มทำงอบคนอื่นได้ทำในกระบวนการต่อไปอีกหลายขั้นตอน จนออกมาเป็นงอบน้ำเชี่ยวแบบในภาพด้านล่าง ๆ นะคะ  ซึ่งงานนี้เนี่ยพิมได้ข่าวมาว่ากว่าจะทำเสร็จเป็นงอบ 1 ใบ ต้องใช้คนประมาณ 6-7 คนเลยค่า  ตั้งแต่ตัดใบจาก ทำตัวงอบ ทำขอบ ทาแลคเกอร์ ทำจุก และอื่นๆ  อีกมากมาย   เพราะงั้นราคาขายแค่ใบละ 150 บาท พิมว่าถูกสุด ๆ ไปเลยนะคะ   เพื่อนๆ คนไหนที่ไปน้ำเชี่ยว หรือไปตราด ถ้ายังไม่รู้ว่าจะซื้ออะไรกลับมาฝากคนที่บ้าน หรือเพื่อนฝูงดี  งอบของบ้านน้ำเชี่ยวก็เป็นอะไรที่น่าสนใจมากเลยค่ะ ^_^ 

trat d3 067

trat d3 072

trat d3 075

trat d3 076

trat d3 078

อ้อๆ เกือบลืม  สิ่งที่ทำให้งอบที่บ้านน้ำเชี่ยวแตกต่างจากงอบที่อื่นก็คือเรื่องของ" ทรง" นะคะ  เพราะงอบที่บ้านหลายเชี่ยวนั้นมีหลายทรงมาก ไม่ว่าจะเป็นทรงกระทะคว่ำ ทรงสมเด็จ ทรงหัวแหลม ทรงกระดองเต่า และทรงกระโหลก  ซึ่งแต่ละทรงนั้นไม่ใช่ว่าคิดขึ้นมาเฉย ๆ  แต่คิดให้เหมาะสมกับลักษณะการใช้งานด้วยอ่ะค่ะ   โดยทรงกระทะคว่ำเป็นทรงอเนกประสงค์ใช้กันแดดกันฝนทั่ว ๆ ไป  ทรงกระดองเต่าจะเป็นทรงที่เหมาะกับใส่ทำนา เพราะส่วนเว้าของหมวกทางด้านหน้าจะทำให้คนใส่เนี่ยมองเห็นได้สะดวกนะคะ   ส่วนทรงยอดแหลม เหมาะกับชาวสวนชาวไร่  เพราะระบายความร้อนได้ดี   และทรงกระโหลกทีมีรูปทรงคล้ายหมวดภาคสนามของทหาร  ก็จะเป็นทรงใส่ทั่วไป ไม่กระชับเกะกะ ใส่ได้ทุกสถานการณ์อ่ะค่ะ  ^_^  ว่าแล้วงานนี้พิมก็ขออุดหนุนสัก 3 ใบนะคะ  ทรงแหลมฝากแม่ ทรงกระโหลกฝากน้องชาย และทรงกระทะคว่ำไว้ฝากน้องสะใภ้ค่า ^^

trat d3 085

จากบ้านทำงอบ พี่วิไลก็พาพิมกับคุณสามีกลับมาเก็บข้าวของที่บ้าน เพราะได้เวลาที่เราจะเดินทางไปต่อที่อื่นแล้วอ่ะค่ะ   ระยะเวลาที่ได้อยู่ที่บ้านน้ำเชี่ยว แม้จะแค่ 1 วันกับอีก 1 คืน แต่เป็นอะไรที่มีความสุข และสนุกสนาน ได้เที่ยวได้เห็นได้กินได้ทำอะไรที่ไม่เคยหลายอย่าง เป็นอีกประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ดีมากๆ    ขอบคุณทุก ๆ คนในบ้านน้ำเชี่ยวเลยนะคะ ^_^   

trat d3 087

trat d3 088

ก่อนจะไปทำอะไรกันต่อ  เหลือบมองดูนาฬิกาเกือบ 5 โมงเย็นแล้ว พิมกับคุณสามีก็เลยคิดว่าเราไปเช็คอิน เอาข้าวของเก็บที่ที่พักกันก่อนดีกว่านะคะ  ซึ่งที่พักของพิมกับคุณสามีในคืนนี้ก็คือ Hotel Toscana  ซึ่งเป็นโฮเทลเล็กๆ  แต่น่ารัก และพิมเคยมาพักแล้วอ่ะค่ะ 

trat d3 089

Hotel Toscana  เป็นที่พักที่อยู่ห่างจากตัวเมืองเพียงแค่ 2 กม. และห่างจากบ้านน้ำเชี่ยวประมาณ 6 กม. กว่า ๆ เท่านั้นเองนะคะ  พิมชอบที่นี่ตั้งแต่ครั้งแรกที่มา เพราะห้องเค้ากว้างดี มีที่วางของ  เตียงก็นอนสบาย  หมอนก็มีให้หลายใบ  แอร์ก็เย็น น้ำฝักบัวก็แรง  ห้องก็สะอาด  แถมมีสระน้ำอุ่นขนาดใหญ่ให้ได้ว่ายเล่นอีกด้วยอ่ะค่ะ   ที่สำคัญคือราคาไม่แรง  พร้อมอาหารเช้าต่อคืนต่อห้องก็จะอยู่ที่ 1200 บาท ซึ่งพิมว่าเป็นราคาที่ใคร ๆ ก็สามารถมาพักได้นะคะ ^_^

trat d3 090

trat d3 091

trat d3 092

หลังจากเก็บของเข้าที่พักแล้ว พิมกับคุณสามีก็แอบงีบกันไปแว๊บบบบบบนึงค่ะ เพราะอยากพักสายตา (จริงเร๊อออออ)  แล้วประมาณทุ่มกว่า ๆ ก็ได้เวลาออกไปหาของกินแล้วล่ะค่า  

จุดหมายปลายทางของพิมค่ำนี้อยู่ที่ตลาดโต้รุ่งนะคะ   ซึ่งก็อยู่ห่างจากโรงแรมแรมประมาณแค่ 2 กม. เท่านั้นเองค่ะ  

trat 055

ที่ตลาดโต้รุ่งเนี่ยก็มีของกินอร่อย ๆ ขายหลายอย่างเลยนะคะ   ไม่ว่าจะเป็นปลาเฉลียบแดดเดียว  ที่ขายถูกมาก (สำหรับคนกรุงเทพฯ อย่างพิม) แค่ชิ้นละ 20 บาทเท่านั้นเอง กินกับข้าวต้มร้อน ๆ นี่อร่อยไม่อยากจะแบ่งใครเลยค่า

trat 057

กั้งสดดองน้ำปลาแล้วเอามายำ อันนี้แค่คิดก็น้ำลายไหลแล้วนะคะ  เพราะที่ตราดนี่เป็นแหล่งกั้งของไทย  กั้งที่นี่ก็สดมาก  ดองน้ำปลาออกเค็มหน่อย ๆ แล้วเอามายำใส่พริกใส่มะนาว แซ่บซี๊ดอย่าบอกใครเลยค่า   

trat 060

หรือถ้าใครชอบปูทะเลสดๆ นึ่ง ที่นี่เค้าก็มีนะคะ  พิมลองซื้อมากินดูแล้ว เนื้อเต็ม หวาน หอม เหมือนเราซื้อปูสด ๆ มานึ่งเองเลยค่า  

901

หรือถ้าใครอยากกินปู แต่ขี้เกียจแกะ เช่นพิม ^^"  ในตลาดเค้าก็มีแกะปูขายกันแบบสด ๆ เลยนะคะ  พิมไปยืนดูเค้าแกะ เนื้อปูไข่ปูนี่มาเต็มเลยค่า   หรือ.....หรือ ถ้าใครอยากกินน้ำพริกไข่ปูแบบรสชาติเข้มข้น    ที่ตลาดนี้เค้าก็มีขายนะคะ มีทั้งแบบน้ำพริกไข่ปูเดี่ยว ๆ  น้ำพริกไข่ปูที่ขายคู่กับผักสด  และน้ำพริกไข่ปูที่มาพร้อมกับข้าวเกรียบอ่อนอ่ะค่า  (อันหลังนี่เป้าหมายหลักของพิมเลย)  หรือ.อ..อ  ถ้าใครอยากกินข้าวเกรียบอ่อนแบบปกติที่เค้าทานกับน้ำจิ้มแบบหวานๆ เปรี้ยวนิดๆ เผ็ดหน่อยๆ  ใส่กุ้งแห้งหอม ๆ ที่นี่ก็มีขายเหมือนกันจ้า

trat 061

trat 068

902

และที่พิมลองชิมแล้ว อร่อยมากอีกอย่างนึงก็คือ ห่อหมกปลาน้ำดอกไม้ ซึ่งเป็นปลาที่หาได้มากจากท้องทะเลตราด ของตากับยายคู่นี้  แม้จะแค่ห่อละ 10 บาท แต่รสชาติไม่ได้น้อยไปตามราคาเลยนะคะ  ความหอมของพริกแกงมาเต็ม รสชาติเค็มเผ็ดกำลังดี  จนรู้สึกเสียดายที่ซื้อมาแค่ 3 ห่อเท่านั้นอ่ะค่ะ T__T 

trat 058

trat 062

trat 067

trat 069

และสุดท้ายก่อนกลับที่พัก ... เห็นแล้วเดินผ่านไปแบบเฉย ๆ ไม่ได้เลยนะคะ  กับทุเรียนชะนีที่เป็นชะนีบ้านและสุกกำลังกินแบบนี้   ทั้งสี ทั้งกลิ่น ทั้งความหอม ความเหนึบเหนียวของเนื้อทุเรียน ดีงามที่สุดเลยอ่ะค่ะ >_< พิมก็เลยจัดมาเบาๆ  1 ลูกเล็ก 180 บาท นะคะ   ตอนแรกกะว่าจะเอาไปแบ่งพนักงานที่ตรงเคาเตอร์โรงแรม  เพราะกินคนเดียวคงไม่หมด เนื่องจากคุณสามีไม่ช่วยกิน  แต่ที่ไหนได้ รู้สึกตัวอีกทีเหลือเม็ดเดียวแล้วค่า  T__T   เพราะงั้นคืนนี้ท่าทางจะนอนหลับฝันดีแบบยาว ๆ แน่นอน ฮ่าๆ 

พิมไม่ได้นั่งกินทุเรียนในโรงแรมนะคะ กินข้างนอก บรรยากาศโล่ง ๆ โปร่ง ๆ เลยค่า

ว่าแล้วคืนนี้พิมก็ขอตัวอาบน้ำนอนก่อนดีกว่านะคะ  เพราะพรุ่งนี้เนี่ยเป็นวันสุดท้ายของทริปเที่ยวตราดของพิมแล้ว  แถมมีโปรแกรมเที่ยวยาวตั้งแต่เช้าจรดเย็นเลยด้วยอ่ะค่ะ  เลยขอนอนเอาแรงไว้สักหน่อย แล้วเดี๋ยวพรุ่งนี้เจอกันอีกทีค่า

trat 059

:: ข้อมูลเพิ่มเติม ::

- โฮมสเตย์บ้านน้ำเชี่ยว ติดต่อคุณหน่อย โทร. 084-8925374
- เราไม่สามารถเลือกว่าจะพักโฮมสเตย์หลังโน้นหลังนี้ได้นะคะ ขึ้นอยู่กับว่าวันที่เราติดต่อไป เป็นคิวของหลังไหนอ่ะค่ะ แต่เท่าที่พิมได้คุยมา ทุกหลังเจ้าของบ้านน่ารักหมดจ้า
- นอนโฮมสเตย์ เพื่อนๆ จะตื่นเวลาไหนก็ได้นะคะ ขออย่าให้สายจนเกินเวลาก็พอ แต่ถ้าจะตื่นสายมากหน่อย บอกเจ้าของบ้านไว้สักนิดก็ดี เค้าจะได้จัดเตรียมอาหารให้เราถูกเวลาอ่ะค่ะ
- กิจกรรมในแพคเกจ 1099 ก็คือจะมีตามที่พิมรีวิวให้ดูนะคะ ส่วนกิจกรรมอื่น สามารถคุยเพิ่มเติมกับคุณหน่อยได้เลยค่ะ
- อาหารมื้อกลางวันที่มาเป็นสำรับ เท่าที่ถาม เราไม่สามารถรีเควสได้นะคะว่าจะเอาเมนูโน้นนี้ได้ เพราะขึ้นกับวัตถุดิบที่หาได้ในวันนั้นอ่ะค่ะ แต่ถ้าสมมติว่าเรากินอะไรไม่ได้ เช่น กินกุ้ง กินปลาดุกไม่ได้ เราสามารถบอกทางโฮมสเตย์ไว้ก่อนได้นะคะ ซึ่งส่วนใหญ่อาหารของที่นี่ก็จะเป็นอาหารทะเลนะคะ เช่น กุ้ง หมึก ไข่หมึก ปลาทะเลค่ะ 
- หากต้องการมาทำกิจกรรมที่มีในบ้านน้ำเชี่ยวอย่างเดียว ไม่มาพักโฮมสเตย์ ก็ได้นะคะ ค่าใช้จ่ายเค้าก็จะคิดเป็นอย่าง ๆ ไป ซึ่งติดต่อที่คุณหน่อยได้เช่นกันค่ะ



ครัวบ้านพิม on Facebook

สมาชิก