ถ้าถามพิมว่าจังหวัดไหนในเมืองไทยที่มีของกินอร่อย ๆ เยอะ หนึ่งในนั้น ... พิมว่าต้องมีชลบุรีอยู่อย่างแน่นอนอ่ะค่ะ ^_^
ชลบุรี เป็นจังหวัดไม่ใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกนะคะ ... เดิมชลบุรีเนี่ย เป็นจังหวัดที่พิมมองข้ามตลอดเลยอ่ะค่ะ >_< คือพิมไปชลบุรีบ่อยนะคะ ปีนึก็หลายครั้ง ไปทำงานบ้าง ไปทำธุระบ้าง ไปสอนทำอาหารบ้าง ไปสอนหนังสือบ้าง (พิมเคยไปสอนหนังสือวิชาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์อยู่ชลบุรี 2 ปีเลยน๊า) ..... แต่ถ้าจะไปเที่ยว พิมไม่เคยคิดถึงชลบุรีสักนิดเลยอ่ะค่ะ
จนกระทั่งวันเวลาผ่านไป จากงานที่ทำ จากคนที่รู้จัก ทำให้พิมมีโอกาสได้ไปเที่ยวที่ชลบุรีมากขึ้น แต่ก็ไปแบบไม่รู้อะไร ไม่คิดอะไรนะคะ คือใครเขียนโปรแกรมเที่ยวมาให้ยังไง พิมก็ไปตามนั้น ไม่เคยคิดหาข้อมูลเพิ่มเติมสักครั้งเลยอ่ะค่ะ
จนกระทั่งวันดีคืนดี พิมได้มีโอกาสไปงานอาหารถิ่นที่บางแสนเมื่อปลายมิถุนายนที่ผ่านมา (บางแสน อยู่ชลบุรีเน๊าะ ^^) และได้ไปรู้จักกับ #ปลาคก หนึ่งในอาหารถื่นที่น่าสนใจมากกกกกกของจังหวัดชลบุรี ก็เลยทำให้พิมไปหาข้อมูลเกี่ยวกับชลบุรีเพิ่ม จนทำให้พิมรู้ว่า ชลบุรีนอกจากจะมีอาหารถิ่นอร่อย ๆ แล้ว มีร้านกาแฟน่ารัก ๆ แล้ว ก็ยังมีสถานที่เที่ยวน่าสนใจอีกมากเลยอ่ะค่ะ ไม่ว่าจะในบางแสน หรือพัทยา แถมจากผลสำรวจของ Traveloka ถ้าพูดถึงสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลสุดฮิตสุดฮอตสำหรับหน้าร้อนปี 2017 อันดับหนึ่งนี่คือ พัทยา เลยนะคะ ดังนั้นแล้วถ้าหากใครเล็งที่จะมาชลบุรี บางแสน หรือพัทยา เอาไว้เป็นจุดหมายหลักสำหรับหน้าร้อนนี้ เพื่อความสะดวกสบายและไม่ต้องวุ่นวายมา walk in หาที่พัก ก็สามารถเข้าไปจองที่พักกับ Traveloka ได้เลยอ่ะค่ะ เพราะนอกจากจะมีแอปฯ ที่ใช้งานง่ายมาก ๆ ก็ยังมีโปรโมชั่นส่วนลด มาให้ใช้กันได้เรื่อยๆ อีกด้วยนะคะ ...... ส่วนชลบุรีจะน่าสนใจขนาดไหน มีอะไรฮิป ๆ ฮอต ๆ บ้าง พิมว่า .. เก็บกระเป๋าตามพิมมาเลยดีกว่าค่า ^_^
ทริปนี้ของพิมเริ่มขึ้นในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานะคะ พิมแพลนเอาไว้ว่าทริปนี้พิมกับคุณสามี จะไปเที่ยวชลบุรีกันสัก 2 วัน 1 คืนอ่ะค่ะ โดยหลัก ๆ แล้วก็กะว่าจะไปหาของอร่อย โดยเฉพาะพวกอาหารพื้นบ้าน ขนมพื้นบ้านทาน (ไม่เน้นอาหารทั่วไป เพราะว่าหาทานที่ไหนก็ได้) และก็จะไปเดินช๊อปปิ้งอาหารทะเล จำพวกปลา หมึกสด ๆ กุ้งสด ๆ กลับมาทำอาหารกินที่บ้านนะคะ ^_^
เพราะงั้นจุดหมายแรกของพิมในวันนี้ ก็คือตลาดวัดกลาง ที่อยู่ในเขตอำเภอเมืองชลบุรี หรือที่บางคนเรียกว่า ตลาดผ้าอ่ะค่ะ ^^
ที่ตลาดแห่งนี้เนี่ย จะเป็นตลาดเช้านะคะ (แปลว่าเริ่มขายกันตั้งแต่ฟ้ายังมึด) ..... ซึ่งนอกจากจะมีพวกปลาทะเลสด ๆ กุ้งหมึกปูสด ๆ ผักผลไม้สดๆ แล้ว
ที่นี่ก็ยังมีขนมไทยอร่อย ๆ มากมายหลายอย่างเลยอ่ะค่ะ ...... ไม่ว่าจะเป็นข้าวต้มมัด ขนมกล้วย ขนมฟักทอง ขนมใส่ไส้ และขนมตาลเจ้าที่อยู่ในซอยตรงข้ามประตูทางเข้าวัดกำแพงนะคะ
แต่ที่อร่อยสุด ๆ ขนาดพิมต้องตามมาซื้อและตามมาชิม ก็คือ ข้าวเกรียบอ่อนใบเตย (รสชาติคล้ายกันกับข้าวเกรียบอ่อนของเมืองระยอง แต่หน้าตามีความต่างกัน) และก็ขนมก้นถั่วอ่ะค่ะ ซึ่งสองอย่างนี้เนี่ย ขอบอกว่าอร่อยสุดๆ เลยค่า
ขนมก้นถั่ว ฟังชื่อหลายคนอาจจะสงสัยว่ามันคือขนมอะไร และหน้าตาเป็นยังไงเน๊าะคะ ^_^ ..... ขนมก้นถั่วเนี่ยเป็นขนมไทยโบราณ และเป็นขนมพื้นบ้านของเมืองชลบุรีที่มีอายุมานานกว่าร้อยปีแล้วค่ะ ขนมชนิดนี้เนี่ยจะมีเนื้อขนมที่นุ่มมากกกกก คล้ายๆ กับหน้าขนมถ้วยนะคะนะคะ แต่ว่าจะเป็นรูปเป็นทรงกว่า ส่วนรสชาติก็จะออกแนวหวาน มัน หอม เข้มข้นไปด้วยกะทิ กินแล้วอร่อยสุดๆ ไปเลยค่ะ และด้วยความที่ขนมชนิดนี้เนี่ยเค้าใช้ถั่วทองที่คั่วจนหอมรองไว้ที่ก้นถ้วย (ก่อนจะหยอดแป้งตามลงไป และเอาไปนึ่งจนสุก) ...... ก็เลยกลายเป็นที่มาของชื่อ #ขนมก้นถั่ว นะคะ
ในชีวิตพิม จะว่าไปแล้วเคยกินขนมก้นถั่วมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ยังไม่เคยเจออร่อยถูกใจจริง ๆ เหมือนเจ้าที่ซื้อกินในวันนี้เลยเลยอ่ะค่ะ ....... ขนมก้นถั่วหลายๆ เจ้า ถึงจะบอกว่าขนมชนิดนี้ต้องนุ่ม แต่เอาจริงบางเจ้าทำออกมาแข็งกระด้างมากก็มีนะคะ แต่ขนมก้นถั่วของเจ้านี้ แป้งนุ่มสุดๆ จนแทบจะละลายในปาก คือกินเข้าไปไม่มีคำว่าจะติดคอเลยอ่ะค่ะ แถมยังหอมหวานมัน รสชาติเข้มข้นสุด ๆ เพราะนั้นใครผ่านไปผ่านมาแถวตลาดนี้ช่วงเช้า ๆ อยาลืมแวะมาลองขนมก้นถั่วที่นี่นะคะ (แต่มีคนบอกว่าอีกหลาย ๆ ที่ในเมืองชล ก็มีขนมก้นถั่วอร่อย ไว้พิมจะทยอยตามไปชิมเรื่อย ๆ จ้า)
และนอกจากขนมก้นถั่ว อีกขนมที่อร่อยไม่แพ้กันเลยก็คือ ขนมข้าวเกรียบอ่อนอ่ะค่ะ
ข้าวเกรียบอ่อน เป็นอีกหนึ่งขนมที่ในแถบจังหวัดชลบุรี ระยอง ตราด ทำกินกันมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้วนะคะ ข้าวเกรียบอ่อนจะมีความคล้ายกับข้าวเกรียมปากหม้อทั้งในเรื่องของส่วนผสมและวิธีทำ แต่จะแตกต่างกันตรงไส้อ่ะค่ะ โ... ไส้ของขนมข้าวเกรียบอ่อน จะมีส่วนผสมหลักเป็นมะพร้าวขูดฝอยคลุกเคล้ากับน้ำตาลทราย แต่ว่าบางเจ้าก็จะใส่ข้าวโพดฝาน หรือไม่ก็ถั่วทองนึ่งสุก หรืองาดำงาขาวคั่วลงไปผสมด้วยนะคะ ส่วนรสชาติของข้าวเกรียบอ่อนก็จะนุ่มแป้ง หวานมัน และเค็มตามนิดๆ ... อร่อยเป็นเอกลักษณ์ดีอ่ะค่ะ ยังไงถ้าเพื่อนๆ ผ่านมาทางนี้ก็ลองมาซื้อไปทานดูนะคะ รับรองไม่ผิดหวังจ้า
จากตลาดวัดกลาง จุดหมายถัดไปของพิมก็คือร้านลิ้มย่งเฮง ร้านอาหารอร่อยประจำจังหวัดชลบุรี ที่ๆ พิมจะไปกินมื้อเช้าในวันนี้นะคะ ^_^
ร้านลิ้มย่งเฮง .. เป็นร้านอาหารที่อยู่คู่เมืองชลบุรีมาประมาณร้อยกว่าปีแล้วอ่ะค่ะ เรียกว่าถ้าถามคนเมืองชลว่าร้านอาหารไหนอยู่มานาน พิมว่าหนึ่งในนั้นต้องมี "ร้านข้าวเป็ดท่าเกวียน ลิ้มย่งเฮง" อยู่อย่างแน่นอนนะคะ
ร้านลิ้มย่งเฮง มีชื่อเสียงในเรื่องของฝีมือการทำเป็ดพะโล้ ที่นอกจากจะทำออกมาได้รสดี ไม่มีกลิ่นสาปแล้ว ความเหนียวหนับของเนื้อเป็ดก็ยังออกมากำลังดี ไม่เปื่อยไปและไม่เหนียวไปด้วยอ่ะค่ะ และนอกจากเป็ดพะโล้แล้ว ที่เด็ดไม่แพ้กันและหาทานยากมาก ก็คือ ปลาคกฉ่าย และต้มจืดเต้าหู้โบราณนะคะ
“ปลาคก” หรือ “ปลาคกฉ่าย” เป็นชื่อเรียกอาหารชนิดนึงของคนจีนแต้จิ๋ว ที่แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ปลาตะเพียนทะเลต้มเค็มกับผักกาดดอง” นะคะ ... ปลาคกจะมีสูตรในการทำหลายแบบมาก ขึ้นกับว่าสูตรนั้นมาจากพื้นที่ไหนและบ้านไหน แต่ถ้าเป็นปลาคกของร้านนี้ สูตรดั้งเดิมจะมาจากเมืองซัวเถา ประเทศจีนอ่ะค่ะ ซึ่งในช่วงแรก ๆ ตอนที่อยู่ประเทศจีนก็จะทำกินกันเองแค่ในครอบครัวนะคะ แต่พอย้ายมาอยู่เมืองไทยสมัยเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว และได้เปิดร้านขายข้าวหน้าเป็ด ก็เลยมีการทำปลาคกฉ่ายมาขายเพิ่มด้วยอ่ะค่ะ แต่ว่าจะประยุกต์ใช้ปลาตะเพียนทะเล ซึ่งหาได้มากในสมัยนั้นมาแทนหมูสามชั้น (เมื่อก่อนโน้น ตอนอยู่จีน จะใช้สามชั้น) จนกลายมาเป็นปลาคกฉ่าย .. อาหารถิ่นของเมืองชลบุรีในวันนี้อ่ะค่ะ ^_^
ปลาคกฉ่าย เป็นอาหารที่กินอร่อยได้กับทั้งข้าวสวยและข้าวต้มร้อน ๆ นะคะ ที่สำคัญสามารถกินได้ทั้งตัวตั้งแต่หัวยันหางเลย เพราะว่าทั้งเนื้อและก้างของเค้าจะเปื่อยนุ่มมากอ่ะค่ะ ปลาคกฉ่ายเนี่ยจะมีรสเค็มนำ แต่ไม่มากนะคะ หอมเครื่อง แล้วก็จะมีรสเผ็ดหวานนิดๆ ตาม (ไม่หวานเหมือนปลาต้มเค็ม) ทานคู่กับผักกาดดองที่ต้มในน้ำพะโล้ถึง 2 วัน อร่อยเลยอ่ะค่ะ
ในส่วนของวิะีทำปลาคกเนี่ย เค้าก็จะเริ่มจากการนำสับปะรดกับมะละกอดิบมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วเรียงลงไปที่ก้นกาละมังที่่เราจะใช้ต้มปลานะคะ จากนั้นก็วางปลาตะเพียนทะเลลงไป (ไม่ต้องตัดหัวหางหรือขอดเกล็ดเลย) ตามด้วยน้ำต้มเป็ดพะโล้ที่ทางร้านต้มเองใหม่ๆ ทุกวัน และโรยหน้าด้วยพริกแห้ง กับกระเทียม เพื่อเพิ่มความหอมกับความเผ็ด แล้วก็ต้มทิ้งไว้ประมาณ 3 วัน ๆ ละ ประมาณ 15 ชั่วโมง ด้วยไฟอ่อนจนกระทั่งก้างปลาเปื่อยนุ่มก็ใช้ได้อ่ะค่ะ และออกมาเป็นปลาคกอย่างในภาพด้านล่างนี้นะคะ
ปัจจุบันปลาตะเพียนทะเล เป็นอีกหนึ่งปลาที่หาได้ยากมากกกในแถบจังหวัดชลบุรีนะคะ หายากขนาดที่ว่าถ้าคิดอยากจะซื้อแล้วเดินไปที่ตลาด เราจะไม่มีวันได้พบปลานี้ที่ตลาดแน่นอนอ่ะค่ะ เพราะงั้นที่ร้านลิ้มย่งเฮงเค้าก็เลยต้องใช้วิธีสั่งให้เอเจ้นต์กว้านซื้อมาให้ จากทางมหาชัยบ้าง จันทบุรีบ้าง ตราดบ้าง เพชรบุรีบ้าง ได้ครั้งนึงทีละ 10-50 โล เท่านี้เองนะคะ ซึ่งร้านก็จะเอามาทำเป็นปลาคกฉ่ายสต๊อกเก็บเอาไว้ และทยอยเอาออกมาขายเป็นวัน ๆ ไปค่ะ
นอกจากเมนูเป็ดพะโล้ และปลาคกฉ่ายแล้ว ที่ร้านลิ้มย่งเฮง ก็ยังมีเมนูอร่อยอีกมากมายนะคะ ไม่ว่าจะเป็นแกงจืดเต้าหู้โบราณ หมูหวาน ปลาผัดขิง หมูหวาน ปลาอินทรีทอดราดน้ำปลา ไข่ยัดไส้ และอื่นๆ อีกมากมาย เพราะงั้นแล้วถ้าเพื่อน ๆ มาเที่ยวชลบุรี แล้วไม่รู้ว่ามื้อเช้าจะทานอะไรดี พิมก็แนะนำที่นี่เลยค่ะ ^^ และที่สำคัญต้องมีเมนูปลาคกฉ่าย แกงจืดเต้าหู้ และหมูหวานด้วยนะคะ รับรองอร่อยครบสูตรเลยค่า
จากร้านลิ้มย่งเฮง หลังจากอิ่มหนำสำราญพุงกันดีแล้ว ก็ได้เวลาที่พิมจะไปเที่ยวที่อื่นต่อแล้วอ่ะค่ะ ซึ่งจุดหมายถัดไปของพิมก็จะอยู่ที่ตลาดเก่าร้อยปีและตลาดสะพานปลาอ่างศิลานะคะ ^_^
อ่างศิลา... ในอดีตที่พิมรู้จักตั้งแต่ตอนสมัยพิมยังเด็กๆ จะมีชื่อเสียงในเรื่องของการเป็นแหล่งทำครกหินนะคะ ซึ่งในสมัยนั้นเนี่ยถ้าใครขับรถผ่านอ่างศิลา ก็จะเห็นครกหินตั้งขายเรียงรายกันเต็มถนนสองข้างทางเลยอ่ะค่ะ แต่ด้วยความที่ในระยะหลัง มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวอ่างศิลา เป็นจำนวนมาก ก็เลยทำให้พ่อค้าแม่ค้านำข้าวของมาวางขายในบริเวณอ่างศิลาหลากหลายขึ้น และหนึ่งในนั้นคืออาหารทะเลสด ๆ ที่พ่อค้าแม่ค้ามาตั้งขายกันอยู่แถวบริเวณสะพานปลานะคะ
โดยตลาดสะพานปลาอ่างศิลาแห่งนี้เนี่ย จะเปิดขายกันทุกวันเลยอ่ะค่ะ ถ้าเป็นวันธรรมดาก็จะเปิดขายกันตั้งแต่ 6 โมงเช้าไปจนถึงประมาณ 6 โมงเย็นนะคะ แต่ถ้าเป็นวันเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุด ก็จะเปิดขายกันตั้งแต่ตี 5 กว่า ๆ ไปจนถึงเกือบ ๆ ทุ่มนึงเลยอ่ะค่ะ
โดยของที่พ่อค้าแม่ค้านำมาวางขายกันที่นี้ ก็จะเป็นพวกอาหารทะเลสด ๆ อย่าง หมึก กุ้ง หอย ปู ปลา ซะเป็นส่วนใหญ่นะคะ สนนราคาก็ค่อนข้างจะถูกกว่าที่พิมซื้อที่กรุงเทพฯ กิโลละหลายสิบบาท แต่ว่าจะมีให้เลือกซื้อเยอะกว่ามากๆ อ่ะค่ะ ^_^
และนอกจากอาหารทะเลสด ๆ แล้ว ที่นี้เค้าก็ยังมีอาหารทะเลแปรรูป อย่างพวกปลาเค็ม กุ้งแห้ง หมึกเค็ม ปลาหวาน หอยดอง ปูเค็ม ปูจืด ขายอีกด้วยนะคะ แถมไม่ได้ขายกันแค่ร้านเดียวสองร้าน แต่มีขายอย่างละหลายสิบร้านเลยอ่ะค่ะ เรียกว่าถ้าเป็นคนชอบทำอาหาร ชอบกินอาหารพวกนี้แล้ว อาจจะช๊อปเพลินจนหมดตังในกระเป๋าแบบไม่รู้ตัวก็ได้นะคะ ^_^
ตลาดแห่งนี้ไม่มี ATM น๊าาา ... ATM ที่อยู่ใกล้สุดจะอยู่ตรงแถวศาลเจ้านาจา ซึ่งจะห่างจากตลาดนี้ไปประมาณ 1 กิโลกว่าๆ อ่ะค่ะ
ซึ่งเคล็ดลับของการซื้ออาหารทะเลสด ๆ และอาหารทะเลแปรรูปของที่นี่ (รวมถึงที่อื่นๆ) เผื่อป้องกันความผิดหวังที่อาจจะเกิดขึ้น พิมแนะนำว่าให้ซื้อของที่เราสามารถหยิบจับมาดูได้ด้วยมือของเราเองนะคะ อย่าเลือกซื้อของที่อยู่ในถุงหรืออยู่ในแพคเกจแบบที่เราไม่สามารถมองเห็นข้างในได้อ่ะค่ะ (เช่นถูกห่อกระดาษจนปิดมิด) เพราะถ้าเราไม่เห็นของข้างใน เราจะบอกไม่ได้ว่ามันดีจริงไหม โดยเฉพาะพวกปลาเค็มทั้งหลายนี่สำคัญมาก ๆ เลยนะคะ
และสำหรับพวกปลาทะเลสด ๆ หมึกกุ้งสด ๆ พิมแนะนำว่าให้เลือกซื้อจากร้านที่เราสามารถหยิบของใส่ถุงเป็นตัว ๆ ได้เองอ่ะค่ะ หรือไม่ก็เลือกซื้อจากกระบะที่เราสามารถเห็นได้ด้วยตาอย่างชัดเจนเวลาแม่ค้าจะหยิบใส่ถุงให้นะคะ จะดีที่สุดเลยอ่ะค่ะ ^_^
จากสะพานปลาอ่างศิลา จุดหมายถัดไปของพิมก็คือ ศาลเจ้าแม่หินเขา พิพิธภัณฑ์ตึกแดง และตลาดเก่าร้อยปีอ่างศิลานะคะ ซึ่งสถานที่ 3 แห่งนี้ อยู่ในระยะที่สามารถเดินจากสะพานปลาได้ โดยไม่ต้องต่อรถอะไรเลยอ่ะค่ะ ^_^
ศาลเจ้าแม่หินเขา เป็นศาลที่ตั้งอยู่ริมทะเลในบริเวณพื้นที่ของพระตำหนักมหาราชนะคะ ซึ่งจากจุดที่ตั้งนี่เอง ทำให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่อยากมากราบไหว้สักการะเจ้าแม่หินเขา สามารถเดินเลียบชายฝั่งทะเลตามทางเดินจากสะพานปลาอ่างศิลามายังศาลเจ้าแม่หินเขาได้ ภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 นาทีอ่ะค่ะ
ศาลเจ้าแม่หินเขาเป็นศาลเก่าแก่ที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 นะคะ เดิมทีศาลแห่งนี้เป็นศาลเล็ก ๆ ตั้งอยู่บริเวณหินขนาดใหญ่ ชาวบ้านในละแวกนั้นก็เลยเรียกศาลแห่งนี้ว่า “ศาลเจ้าแม่หินเขา” อ่ะค่ะ
ศาลเจ้าแม่หินเขา ถูกสร้างขึ้นด้วยเหตุผลอะไร ไม่มีหลักฐานปรากฎแน่ชัดนะคะ แต่จากคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมาเนี่ย มีการสันนิษฐานว่า เจ้าแม่หินเข้าน่าจะเป็นดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พระปิยมเหสีในรัชกาลที่ 5 อ่ะค่ะ ซึ่งท่านทรงสิ้นพระชนม์ด้วยอุบัติเหตุเรือพระประเทียมล่ม ในระหว่างการตามเสด็จฯ รัชการที่ 5 แปรพระราชฐานไปประทับยังพระราชวังบางประอินนะคะ ชาวบ้านก็เลยเชื่อกันว่าด้วยเหตุที่ท่านต้องสิ้นพระชนม์จากอุบัติเหตุทางเรือ เมื่อท่านกลายเป็นดวงวิญญาณไปแล้ว ก็จะทรงมีพระเมตตา แผ่บารมีให้ชาวเรือทั้งหลาย แคล้วคลาดจากอุบัติภัยทางน้ำไปด้วย ก็เลยกลายเป็นที่มาของศาลเจ้าแม่หินเขาแห่งนี้อ่ะค่ะ
จากศาลเจ้าแม่หินเขา เดินมาอีกนิ๊ดดดดดดนึง ก็จะเจอกับ “พระตำหนักมหาราช” และ “พระตำหนักราชินี” ซึ่งเคยถูกใช้เป็นสถานพักฟื้นตากอากาศสำหรับผู้ป่วยแห่งแรกของประเทศไทยนะคะ ^_^ โดยพระตำหนักทั้งสองหลังเนี่ย ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ว่าก็ไม่ได้มีการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการนะคะ ชาวบ้านแถวบ้านก็เลยเรียกว่าตึกขาวกับตึกแดงมาตลอด (ตามสีอาคารพระตำหนัก) จนวันเวลาผ่านไป พระตำหนักทั้งสองแห่งก็ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา พอมาถึงสมัยของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระองค์ท่านก็เลยให้มีการบูรณะพระตำหนักทั้งสองแห่งขึ้นมาใหม่ และหลังจากบูรณะเรียบร้อยแล้ว ท่านก็ได้มีการตั้งชื่อตำหนัก 2 แห่งว่า พระตำหนักมหาราช และพระตำหนักราชินี แต่ชาวบ้านแถว ๆ นั้น ด้วยความที่อาจจะไม่ชินกับชื่อใหม่ ก็เลยคงยังเรียกว่าตึกขาวและตึกแดงมาตลอดจนถึงปัจจุบันนี้อ่ะค่ะ
ตึกขาวและตึกแดง ในปัจจุบันถูกนำมาจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชนะคะ ซึ่งเปิดให้เข้าชมทุกวันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยในวันธรรมดาจะเปิดตั้งแต่ 8.30 ไปจนถึง 16.30 นะคะ ส่วนวันเสาร์อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ทั้งหลาย ก็จะเปิดตั้งแต่ 09.30 ไปจนถึง 16.30 น. อ่ะค่ะ หากเพื่อน ๆ คนไหนไปแล้ว ประตูปิด !! แต่อยากเข้าไปชมด้านใน ก็ให้ไปติดต่อได้ที่สำนักงานเทศบาลตำบลอ่างศิลาได้เลยจ้า
จากตึกแดง ตึกขาว เดินเลยมาอีกนิดนึง ก็จะเป็นตลาดเก่าอ่างศิลาที่มีอายุกว่า 140 ปีนะคะ
ตลาดแห่งนี้เนี่ย ..... จะว่าไปก็ไม่เชิงจะเรียกได้ว่าเป็นตลาดนะคะ คือเค้าจะเป็นชุมชนที่ชื่อว่าชุมชนอ่างศิลาอ่ะค่ะ แล้วด้วยความที่แถวนี้มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวกันเยอะ ชาวบ้านในชุมชนเค้าก็เลยเปิดหน้าบ้านเป็นร้านขายของนะคะ จากหนึ่งร้านเป็นสองร้าน จากสองร้านเป็นสี่ร้าน จากสี่ร้านกลายเป็นสิบร้านยี่สิบร้านสามสิบร้าน จนกลายเป็นตลาดไปเลยอ่ะค่ะ ซึ่งในสมัยก่อนเนี่ยก็จะมีร้านเยอะมากกกก เอาแค่ร้านขายอาหารทะเลแห้งๆ ก็มีนับเป็นสิบร้านแล้วนะคะ แต่ว่าในปัจจุบันด้วยความที่ตลาดสไตล์นี้ในชลบุรีมีเยอะมาก (พิมคิดเอาเอง) บวกกับเศรษฐกิจที่ค่อนข้างจะซบเซา ก็เลยทำให้คนมาเที่ยวตลาดแห่งนี้น้อยไปนิ๊ดดดดนึงอ่ะค่ะ >_<
ตลาดแห่งนี้เนี่ย จะว่าไปเป็นตลาดที่มีของอะไรดี ๆ โดยเฉพาะของกินน่าสนใจเยอะแยะเลยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นหอยจ๊อ (ปู) แฮกึ๋น (กุ้ง) ของร้านเศรษฐีเรือทอง ที่เป็นหอยจ๊อลูกโต ปูเยอะ แต่ราคาแค่ลูกละ 12 บาทเท่านั้นเองอ่ะค่ะ ^_^
แล้วก็ยังมีห่อหมกปลาสาก (ถ้าบ้านเราก็เรียกปลาน้ำดอกไม้) ของร้านแม่เนือง และร้านแม่เย็นใจนะคะ ที่สนนราคาขายแค่ห่อละ 10 บาทเท่านั้น แต่เนื้อปลานี่เน้น ๆ เลยอ่ะค่ะ ^_^
ห่อหมกของทางชลบุรี รสชาติเครื่องแกงจะไม่เข้มข้นเท่าที่บ้านพิมทำ แต่ว่ารสชาตินี่ก็กลมกล่อมเลย แม้จะติดหวานนิดนึงนะคะ
นอกนั้นก็จะมีข้าวเหนียวอุบ .. ขนมที่เกิดมาพิมก็เพิ่งได้ยินชื่อ >_< แต่แม่ค้าบอกว่าเป็นขนมที่อยู่คู่เมืองชลบุรีมานานนับหลายสิบปีแล้วอ่ะค่ะ รสชาติและหน้าตารวมไปถึงวิธีทำ คล้ายๆ กับข้าวเหนียวปิ้งไส้มาก แต่จะแตกต่างกันตรงที่ข้าวเหนียวปิ้งต้องห่อใบตอง แต่ข้าวเหนียวอุบนี่ไม่ต้องห่ออะไรเลย แค่หุ้มกล้วยด้วยข้าวเหนียวมูน ปั้นให้เป็นก้อนสี่เหลี่ยม ๆ แล้วเอาไปจี่บนกระทะจนเหลืองทั้งสองด้าน ก็จะได้ข้าวเหนียวอุบมาทานแล้วนะคะ ซึ่งเท่าที่พิมซื้อมาลองชิม 4 ชิ้น อร่อย และรสชาติดี คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปชิ้นละ 5 บาทมากๆ เลยค่ะ ^_^
ส่วนอีกร้านนึงในตลาดเก่าอ่างศิลาที่พิมว่าน่าสนใจมาก ก็คือ ร้านขายขนมไทย ที่ชื่อว่า "ร้านขนมคุณยาย" นะคะ ซึ่งที่ร้านนี้เนี่ยจะมีขนมไทยสมัยเก่าขายอยู่หลายอย่างเลยอ่ะค่ะ เช่น ถั่วกวน ทองม้วน ข้าวตู ขนมผิง และถั่วตัดอ่ะค่ะ แต่มีขนมอยู่ชนิดนึงที่พิมว่าอร่อยสุดๆ และอยากชวนเพื่อน ๆ ให้ได้ไปลิ้มลองกัน ก็คือขนมรังไร ที่ตัวขนมทำจากแป้งข้าวเจ้ากวนกับกะทิ เอามาใส่พิมพ์กดให้เป็นเส้นยาว แล้วกินคู่กับหัวกะทิ มะพร้าวทึนทึกขูด และงาขาวนะคะ .... รสชาตินี่อร่อย หอม หวาน มัน และนุ่มนวลสุดๆ ไปเลยค่ะ ถ้าเพื่อน ๆ ผ่านไปแถวนี้ ยังไงต้องไปลองให้ได้นะคะ อร่อยจริง ๆ ค่า (ห่อละ 20 บาท)
บริเวณใกล้ ๆ ร้านนี้ ช่วงบ่ายแก่ ๆ ประมาณสัก 3-4 โมงเย็น จะมีชาวบ้านมาย่างปลาสีเสียด (ย่างเตาถ่าน) และแกะหอยแมลงภูแบบสด ๆ ขาย (โลละ 150) ถ้าเพื่อนๆ สนใจลองแวะดูนะคะ
จากร้านขนมคุณยาย เดินไปอีกประมาณ 100 เมตร ก็จะเจอเข้ากับสามแยกถนนใหญ่นะคะ ตรงสามแยกนี้ให้เราเลี้ยวขวา แล้วเดินต่ออีกสักประมาณ 50 เมตร ก็จะเจอกับแหล่งขายครกหินอ่างศิลาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเลยอ่ะค่ะ
แต่คำว่าครกหินอ่างศิลา ไม่ได้หมายความว่าครกทั้งหมดที่ขายอยู่ที่นี่จะเป็นครกหิน ที่ทำจากหินอ่างศิลานะคะ ..... ในสมัยก่อนตอนที่อ่างศิลายังมีหินอยู่เยอะๆ อาจจะใช่ แต่ในปัจจุบันที่อ่างศิลาเต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่อง และหินอ่างศิลาถูกระเบิดเอามาใช้เกือบหมดแล้ว ครกหินที่มีขายอยู่ที่นี่จึงเป็นครกหินที่ #ทำในพื้นที่อ่างศิลา แต่ไม่ใช่ที่ #ทำจากหินอ่างศิลา ทั้งหมดอ่ะค่ะ
ทีนี้เพื่อนๆ หลายคนก็อาจจะสงสัยว่า แล้วหินที่เอามาทำครกหินเนี่ย มันมาจากไหนนะคะ ... หลัก ๆ ก็จะมาจากหินแกรนิตภายในประเทศเรานี่แหละ เช่นที่ตาก เพชรบูรณ์ และเลยอ่ะค่ะ แต่ว่าบางส่วนก็จะมาจากต่างประเทศ เช่น อินเดีย อิตาลี แอฟริกา นะคะ ซึ่งราคาครกหินที่ขายกันที่อ่างศิลา (และที่อื่น) นอกจากจะขึ้นกับขนาด ขึ้นกับรูปร่าง และลวดลายแล้ว ก็ยังขึ้นกับที่มาของหินที่เอามาใช้ทำครกใบนั้นๆ อีกด้วยอ่ะค่ะ
อย่างถ้าเป็นครกที่ทำจากหินจังหวัดเพชรบูรณ์ ราคาก็จะถูกหน่อย เพราะว่าหินจากจังหวัดนี้เป็นหินแกรนิตที่อ่อน ทำให้สกัดเป็นครกง่าย ค่าแรงก็เลยถูก แต่ในขณะเดียวกันใช้ ๆ ไป ก็จะสึกง่ายกว่าครกจากหินอย่างอื่นนะคะ ^^" แต่ถ้าเป็นครกที่ใช้หินจากแอฟริกา อันนี้จะราคาแพงขึ้นมาอีกหน่อย เพราะหินจากที่นี่เป็นหินแกร่ง+แข็ง และสกัดยาก ทำให้ค่าแรงค่อนข้างสูง แต่ในขณะเดียวกันเวลาใช้ก็จะสึกกร่อนยาก และใช้ได้นานอ่ะค่ะ
ส่วนถ้าเป็นครกหินอ่างศิลาแท้ ๆ ที่มีสีหินขาวอมชมพู แถมยังมีประกายเพชรวิบวับอยู่ในหิน อันนี้จะยิ่งราคาสูงกว่าครกอื่น ๆ นะคะ เพราะนอกจากจะเป็นหินที่หาได้ยากในปัจจุบันแล้ว หินอ่างศิลาก็ยังเป็นหินแกรนิตที่แกร่งและมีเนื้อหินที่เนื้อละเอียดมาก ทำให้เวลาเอาไปใช้ตำอะไร ส่วนผสมจะละเอียดง่ายกว่าตำด้วยครกหินทั่ว ๆ ไปอ่ะค่ะ ซึ่งสนนราคาครกหินอ่างศิลาใบเล็ก ๆ อย่างในมือพิม ราคาเริ่มต้นก็เกือบ ๆ ใบละ 1 พันบาทนะคะ แต่ก็ใช้กันไปยันลูกยันหลานเลยจ้า ^^
จากอ่างศิลา เหลือบดูนาฬิกาก็ปาเข้าไปบ่าย 4 โมงเย็นกว่าๆ แล้วนะคะ พิมมีแผนว่าจะกลับเข้าไปกินข้าวแถว ๆ ตลาดเก่าหน้าเก๋ง แต่ด้วยความที่ยังไม่ถึงเวลากิน พิมก็เลยชวนคุณสามีให้ไปเช็คอินที่โรงแรมก่อนอ่ะค่ะ ซึ่งโรงแรมที่พิมเลือกพักในคืนนี้ก็คือ MT Park Resident ที่อยู่ในเขตตัวเมืองชลบุรีนะคะ
จริง ๆ โรงแรมในตัวเมืองชลบุรี ก็มีอยู่หลากหลายโรงแรมนะคะ แต่ว่าโรงแรมที่อยู่ใกล้กับสถานที่ ๆ พิมอยากจะไป และตรงตามความต้องการของพิมมีแค่ MT Park Resident เพียงโรงแรมเดียวอ่ะค่ะ ซึ่งตอนแรกพิมก็แอบหวั่นๆ ใจนะคะ ว่าจะเป็นที่พักที่ดีหรือไม่ แต่ปรากฎว่าพอได้เข้าไปพักจริง ๆ ดีงามเกินราคาเลยอ่ะค่ะ ทั้งห้องที่มีขนาดกว้าง เตียงนอนที่มีขนาดใหญ่ น้ำฝักบัวก็แรง แอร์ก็เย็นไว แถมยังมีโซฟา มีโต๊ะให้นั่งทานข้าวให้อีกด้วย ในราคาคืนละไม่ถึง 1000 บาท พิมว่าคุ้มค่ามากๆ เลยนะคะ
และหลังจากที่เอาข้าวของขึ้นไปเก็บ พร้อมทั้งนอนกลิ้งพักสายตาอยู่แป๊บนึง ประมาณ 5 โมงครึ่งกว่าๆ ก็ได้เวลาออกไปหาข้าวเย็นทานล่ะค่ะ ซึ่งจุดหมายปลายทางในวันนี้ ก็คือร้านเจ๊กตง ที่อยู่ในตลาดเก่าหน้าเก๋งนะคะ ^^
ตลาดเก่าหน้าเก๋ง เป็นเวิ้งเล็ก ๆ ที่อยู่ด้านซ้ายมือของถนนวชิรปราการก่อนจะถึงธนาคารกสิกรไทยสาขาวชิรปราการอ่ะค่ะ ตลาดแห่งนี้เนี่ยจะเป็นศูนย์รวมอาหารอร่อย ๆ ที่อยู่คู่เมืองชลบุรีมากว่า 100 ปีแล้วนะคะ ภายในตลาดก็จะมีร้านขายอาหารทั้งที่เป็นรถเข็นและเป็นห้องแถวรวมกันประมาณ 6-7 ร้านอ่ะค่ะ (น่าเสียดายมาก วันที่พิมไป มีเปิดแค่ 3 ร้าน) โดยเวลาที่เปิดขาย บางเจ้าก็จะเปิดตอนเช้าแล้วขายถึงบ่ายๆ แต่ส่วนใหญ่จะเปิดขายตั้งแต่ประมาณ 4 โมงเย็น แล้วไปปิดเอาตอนประมาณ 5 ทุ่มถึงเที่ยงคืนนะคะ
โดยร้านที่เด็ดสุด ๆ ชนิดที่ถ้าใครมาเที่ยวแถวนี้แล้ว ควรจะต้องแวะมากินให้ได้ ก็คือ ร้านข้าวต้มเป็ดและข้าวต้มทะเลที่ชื่อว่า "ร้านเจ็กตง หน้าเก๋ง (เจ้าเก่า)" อ่ะค่ะ ซึ่งที่ร้านนี้เนี่ยนอกจากของทะเลจะสดสุด ๆ และปรุงรสมาแบบถึงเครื่องแล้ว ราคาก็ยังถูกแสนถูกอีกด้วยนะคะ ชามนึงแค่ 40-50 บาทเท่านั้นเองอ่ะค่ะ
โดยเมนูเด็ดของที่นี่เนี่ย หลัก ๆ ก็จะเป็นข้าวแห้งเป็ด และข้าวต้มทะเลนะคะ
โดยข้าวแห้งเป็ด จะเป็นข้าวสวยที่ราดด้วยเนื้อเป็ดพะโล้สับกับเลือดเป็ดพะโล้นะคะ แล้วก็จะมีการโรยกระเทียมเจียวกับขึ้นฉ่ายนิดหน่อย เวลาทานก็จะทานคู่กับซีฟู้ดรสเปรี้ยวเผ็ดอ่ะค่ะ .... รสชาติโดยรวมก็เหมือนกินข้าวหน้าเป็ด แต่เป็นข้าวหน้าเป็ดที่เนื้อเป็ดมีความนุ่มหนึบ และความมีคามหอมอร่อยเป็นพิเศษ กว่าข้าวหน้าเป็ดธรรมดาทั่วไปหลายเท่าเลยนะคะ เรียกได้ถ้ามาที่ร้านนี้ สั่งเมนูนี้มากิน แล้วจะไม่ผิดหวังเลยอ่ะค่ะ
ส่วนชามถัดมา ก็คือ ข้าวต้มปลากับไข่ปลา (อินทรี) นะคะ ... ชามนี้เป็นข้าวต้มแบบธรรมดาทั่วไป แต่ความพิเศษอยู่ตรงที่เนื้อปลากับไข่ปลาสดและหวานมาก ตัวข้าวก็ต้มมาได้สุกกำลังดี ไม่แข็งไปไม่บานไป น้ำซุปก็หอมกลิ่นสมุนไพร กินรวม ๆ กันแล้ว อร่อยเพลินจนกินหมดชามไม่รู้ตัวเลยอ่ะค่ะ
ส่วนชามนี้เป็นก๋วยจั๊บหมึกและหอยเชลล์นะคะ .... ความแตกต่างของชามนี้กับข้าวต้มด้านบน ก็คือชามบนเป็นข้าว ชามนี้เป็นเส้นก็เท่านั้นเองอ่ะค่ะ แต่ความอร่อยนี่เหมือน ๆ กันเลยนะคะ ^^
ส่วนจานสุดท้ายที่พิมสั่งมาลองชิม เป็นลวกจิ้มรวมมิตรอ่ะค่ะ ในจานก็จะมีไข่ปลาอินทรี เนื้อปลาอินทรี หมึก หอยเชลล์ และโรยหน้ามาด้วยหมึกแห้ง กระเทียมเจียว ขึ้นฉ่ายนะคะ ... หน้าตาแลดูธรรมดามากๆ แต่พอทานกับน้ำจิ้มเต้าเจี้ยวที่ทางร้านเตรียมไว้ให้ รสชาตินี่แจ่มจรัสสุดๆ ไปเลยอ่ะค่ะ ถ้าเพื่อน ๆ ไปร้านนี้ อย่าลืมสั่งมาลองดูนะคะ ^_^
และหลังจากที่ทานกันจนอิ่มอืดแล้ว ก็ได้เวลาจ่ายค่าอาหารกันล่ะค่ะ ..... เบ็ดเสร็จมื้อนี้ พิมก็จ่ายค่าเสียดายทั้งข้าวทั้งน้ำไปประมาณ 220 บาทนะคะ ซึ่งเมื่อเทียบกับรสชาติ เทียบกับคุณภาพอาหาร เรียกได้ว่ามื้อนี้คุ้มเกินคุ้มเลยอ่ะค่ะ ^^
จากตลาดเก่าหน้าเก๋ง ตอนแรกพิมกะว่าจะไปนั่งชิลด์ ๆ ดูพระอาทิตย์ตกที่ริมทะเลกับคุณสามีสักหน่อยนะคะ แต่หลังจากกินเสร็จ เหลือบตามองดูนาฬิกาที่มือถือก็ปาเข้าไปเกือบ ๆ จะทุ่มนึงแล้วอ่ะค่ะ (กินนานจริง -*-) แบบว่าไปทะเลตอนนี้ก็คงจะไม่เห็นอะไรนอกจากความมึด >_< แถมพรุ่งนี้พิมแพลนจะตื่นตั้งแต่ตี 4 ตี 5 เพื่อจะไปดูเค้าเผาข้าวหลามกันแถวบางแสนนะคะ (ห่างจากที่พักเกือบครึ่งชั่วโมง) ....... จากเหตุผลข้างต้น สรุปแล้วพิมก็เลยเปลี่ยนแผนจากไปทะเล เป็นกลับโรงแรมเพื่อไปอาบน้ำอาบท่าและพักผ่อนแทนอ่ะค่ะ ^_^
ส่วนว่าพรุ่งนี้พิมจะไปเที่ยวไหนบ้าง จะไปกินอะไรที่ไหนบ้าง ยังไงคอยติดตามกันอีกทีนะคะ รับรองจัดแน่นจัดเต็มเหมือนอย่างทุกทริปแน่นอนค่ะ ...... ส่วนตอนนี้พิมขอตัวไปอาบน้ำนอนก่อน ราตรีสวัสด่ิ์นะคะ ^_^