สมัยตอนพิมยังเด็กมากๆ พิมและพี่น้องไม่เคยจะได้กินทุเรียนแบบเม็ด ๆ กันหรอกค่ะ เพราะว่าสมัยนั้นแม่พิมยังไม่ได้ทำสวนทุเรียน และทุเรียนก็มีราคาแพงเกินกว่าจะซื้อหามากินเล่นแบบสมัยนี้ได้ ... ดังนั้นพอถึงหน้าทุเรียนทีไร แม่พิมก็เลยมักจะซื้อทุเรียนลูกเล็ก ๆ มา 1 ลูก แล้วเอามาทำเป็นน้ำกะทิทุเรียน เพื่อที่จะให้สามารถกินได้หลาย ๆ คนน่ะค่ะ
แล้วสมัยนั้น ... ชาวบ้านแถวบ้านพิม (แถบพระราม 9 ในปัจจุบัน) ก็ไม่นิยมกินน้ำกะทิทุเรียนกับข้าวเหนียวมูนหรอกค่ะ เพราะมันจะเป็นแบบหวานเจอหวาน คือ หวานทั้งสองอย่าง ... กินแล้วจะเลี่ยนเอียนอะไรทำนองนั้น แต่ชาวบ้านเค้าจะนิยมกินน้ำกะทิทุเรียนกับกับข้าวตอกมากกว่า ... ซึ่ง "ข้าวตอก" ก็จะมีหน้าตาแบบนี้นะคะ
เมื่อเอ่ยถึง "ข้าวตอก" พิมเชื่อว่าหลายคนต้องงงแน่ ๆ ... ประมาณว่ามันคืออะไรกันเนี่ย เป็นข้าวพันธุ์ใหม่หรือเปล่าหรือยังไง ??
ก่อนที่เราจะมาลงมือทำน้ำกะทิทุเรียนกัน พิมก็เลยอยากจะขออธิบายเกี่ยวกับที่มาที่ไปของข้าวตอกนิดนึงอ่ะค่ะ
"ข้าวตอก" เกิดจากการนำข้าวเปลือกข้าวเหนียวหรือข้าวเจ้าก็ได้ค่ะ (แต่แม่พิมชอบใช้ข้าวเหนียว) ไปแช่น้ำสัก 2 ชม. แล้วนำไปตากให้แห้ง จากนั้นก็นำมาคั่วด้วยไฟแรง จนข้าวด้านในปะทุออกจากเมล็ด และพองจนกลายเป็นข้าวตอก (ลักษณะคล้ายป๊อปคอร์น) สุดท้ายก็นำไปคัดเอาเปลือกออก ก็เป็นอันได้ข้าวตอกสำหรับมากินกับน้ำกะทิแล้วค่ะ (แต่จริง ๆ เอาข้าวตอกไปทำขนมอย่างอื่นได้อีกหลายอย่างเลยค่ะ ไว้วันหลังจะมาทำให้ดูนะคะ)
แล้วก็นี่ค่ะ ....... หน้าตา "ข้าวตอก-น้ำกะทิทุเรียน" แบบที่บ้านพิม
ดูหน้าตากันไปแล้ว .. ที่นี้เราก็มาดูส่วนผสมกันนะคะว่ามีอะไรบ้าง
ถ้าไม่นับข้าวตอก ... เอาเฉพาะวิธีทำน้ำกะทิทุเรียน ส่วนผสมก็จะมี
:: ส่วนผสมน้ำกะทิทุเรียน ::
1. น้ำกะทิ 5 1/2 ถ้วย (คั้นด้วยน้ำอุ่น จากมะพร้าวขูด 7 ขีด)
2. น้ำตาลปี๊บอย่างดี 400-500 กรัม
3. เกลือป่นนิดหน่อย
4. เนื้อทุเรียนงอมๆ ปริมาณตามชอบ
5. ใบเตย 3-5 ใบ
มาดูส่วนผสมอย่างแรกกันเลยนะคะ ... ก็คือ "น้ำกะทิ" ... พิมใช้มะพร้าวขูดธรรมดานี่แหละ (ไม่ต้องใช้มะพร้าวขูดขาวก็ได้ แต่สมัยเด็ก ๆ จะต้องใช้แบบขูดขาวเสมอ ไม่งั้นจะโดนดุ -*-) .. ราวๆ 700 กรัมค่ะ แล้วก็ใส่น้ำต้มสุกอุ่นลงไปประมาณ 4 ถ้วยกว่าๆ ค่ะ ... แล้วก็คั้นออกมาเป็นน้ำกะทิราว ๆ 5 1/2 ถ้วย
ถ้าใครไม่สะดวกจะมาคั้นกะทิสดเอง จะให้ทางร้านขูดมะพร้าวเค้าขูดมาให้เลยก็ได้ค่ะ (แต่ระวังนิด มักมีปัญหา น้ำกะทิบูดไว) หรือว่าถ้าใครหากะทิสดไม่ได้เลยจริงๆ จะใช้แบบกล่องหรือแบบถุง ก็พอแก้ขัดได้นะคะ
ป.ล. การคั้นกะทิให้ดี ควรคั้นหลาย ๆ ครั้ง ๆ นึงใส่น้ำอย่าเยอะ เพื่อให้มันกะทิออกมามากที่สุด / เติมเกลือลงไปในมะพร้าวขูดสักหน่อย น้ำกะทิจะได้มีรสชาติขึ้นมานิดนึง แล้วก็ทำให้ไม่เสียง่ายด้วยค่ะ
ต่อมาก็เป็นน้ำตาลนะคะ ... พิมเห็นบางคนเค้าจะชอบใช้น้ำตาลทรายในการทำน้ำกะทิทุเรียน แต่ที่บ้านพิมจะชอบใช้น้ำตาลปี๊บมากกว่าค่ะ เพราะรู้สึกว่ามันมีความหอมมันมากกว่า และรสชาติก็เข้มข้นกว่า
น้ำตาลปี๊บเนี่ย ... ให้เลือกน้ำตาลดี ๆ หน่อยนะคะ ตามตลาดสดทั่วไป เค้าจะมีน้ำตาลปี๊บ 2 เกรด .... พิมเคยถามร้านขายของชำ เค้าบอกว่า มีเกรดทั่วไป ไว้ใช้ทำอาหารทั่วไป กับเกรดดีหน่อย ไว้ทำขนม ... แถวบ้านพิมเกรดทั่วไป โลละประมาณ 26 บาท และเกรดดีหน่อย จะโลละประมาณ 32 บาทอ่ะค่ะ
แล้วน้ำตาลปี๊บดี ๆ เนี่ย ก็มีทั้งแบบนิ่ม ๆ เหลว ๆ กับแบบแข็งนะคะ ... ถ้าเราได้แบบแข็งมา เราก็เอามันไปตากแดดซะหน่อย เพื่อให้มันเหลว ๆ แต่ถ้าไม่มีเวลาเอาไปตากแดด ก็เอามีดบางอันเล็ก ๆ มาสไลด์น้ำตาลให้เป็นแผ่นบาง ๆ แบบนี้ก็ได้ค่ะ เวลาบี้น้ำตาลกับกะทิ... จะได้บี้ให้เข้ากับกะทิได้ง่าย
วันนี้พิมจะใช้น้ำตาล (ในสูตร) ประมาณ 400 กรัมกว่า ๆ ... พิมก็จะสไลด์น้ำตาลเอาไว้แค่ประมาณ 450 กรัมค่ะ
แล้วเพื่อให้ขยำน้ำตาลเข้ากับกะทิได้ง่าย ๆ พิมก็เลยจะใช้ใบเตยมาเป็นตัวช่วยค่ะ .. ใช้สัก 3-5 ใบก็พอ ล้างให้สะอาด แล้วตัดเป็นท่อนสั้น ๆ
สุดท้ายที่เราจะขาดไม่ได้ซะ ก็คือ เนื้อทุเรียนค่ะ ... พิมเลือกใช้ทุเรียนพันธุ์ชะนี เพราะมีกลิ่นแรง และรสหวานเข้มข้น ... ซึ่งที่เห็นในภาพอาจจะดูไม่ค่อยงามแล้ว เพราะพิมแช่แข็งทุเรียนในกล่องใบนี้เอาไว้ตั้งแต่ตอนทุเรียนพันธุ์ชะนีออกมาใหม่ ๆ ตอนต้นฤดูอ่ะค่ะ ... ก็ราว ๆ 2 เดือนได้แล้ว ^^"
สำหรับทุเรียนเนี่ย ... เลือกใช้แบบงอม ๆ จะทำให้น้ำกะทิทุเรียนของเราหอมมากมายเลยค่ะ ... แล้วพอได้มา ก็ให้เราฉีกเฉพาะเนื้อเอาไว้ก่อนได้เลยนะคะ ..... ตามในภาพนี้เลย
จากนั้นก็หันมาลงมือทำน้ำกะทิทุเรียนกันเลยค่ะ
เริ่มแรกก็ ... เอาน้ำตาลใส่ลงไปในหม้อน้ำกะทิค่ะ ใส่ไปสักประมาณ 350 กรัมก่อน (ถ้าไม่หวาน ค่อยใส่เพิ่ม)
ล้างมือให้สะอาด แล้วก็หยิบใบเตยใส่หม้อลงไป... จากนั้นก็ขยำ ๆ น้ำตาลในหม้อให้ละลายเข้ากับน้ำกะทิให้หมดค่ะ
พอน้ำตาลละลายหมด ... ก็ลองชิมดูว่าความหวานโอเคไหม (แต่จะต้องเผื่อความหวานจากทุเรียนอีกด้วยนะคะ) ถ้าหวานน้อยไป ก็ิเติมน้ำตาลลงไปอีกค่ะ แล้วก็ขยำ ๆ เหมือนเดิมจนน้ำตาลละลาย ... แล้วก็ชิมอีกที ถ้าไม่พอใจอีก ก็เติมได้ค่ะ แต่หากหวานไป ก็ให้เติมน้ำกะทิแทนนะคะ .... ซึ่งพอน้ำกะทิหวานได้ที่ ก็ให้เราหยิบใบเตยออก แล้วทำการกรองซะ 1 ครั้ง จะด้วยผ้าขาวบางหรือกระชอนก็ตามสะดวก เพื่อเอาน้ำตาลที่ละลายไม่หมดออกไป และกรองเอากากใบเตยส่วนที่หลุด ๆ ทิ้งไปด้วยค่ะ
แล้วเราก็จะทำได้น้ำกะทิผสมน้ำตาลออกมาหน้าตาประมาณนี้
เสร็จแล้วก็เอาไปตั้งไฟต่อแป๊บนึง พอให้ร้อนจัด แต่ไม่ต้องเดือด ก็ยกลงค่ะ (ป.ล. ดันเอาทัพพีเลอะทุเรียนไปคนน้ำกะทิ เลยมีเนื้อทุเรียนหลุดไปอยู่ในหม้อเลย -*-)
จากนั้นก็เอาเนื้อทุเรียนที่เราฉีกไว้ตั้งแต่ตอนแรก ... ใส่ลงไป (ถ้าเป็นสมัยโบราณ มักจะเอาทุเรียนทั้งเม็ดลงไปขยำในหม้อน้ำกะทิเลยค่ะ) แล้วก็คน ๆ ให้เข้ากัน ^^
ก็จะได้ "น้ำกะทิทุเรียน" ออกมาหน้าตาประมาณนี้เลยค่ะ ... พอมาถึงขั้นตอนนี้ก็ลองชิมดู ว่ารสชาติโอเคไหม ถ้าหวานน้อยไปเติมน้ำตาลทรายลงไปได้ค่ะ (เพื่อให้ละลายง่าย) แต่ถ้ามันหวาน แต่ยังหวานแบบธรรมดา ไม่โดดเด่น ไม่เข้มข้น (ไม่ได้หมายถึงหวานจัด) ก็ให้เติมเกลือลงไปนิดนึง เพื่อดึงรสหวานออกมาให้มากกว่าเดิม ... แต่ถ้าหวานมากไป ให้เติมน้ำสุกอุ่นค่ะ เติมพอประมาณ ให้ได้ความหวานตามต้องการ ก็ใช้ได้ค่ะ (อย่าเติมน้ำอุ่นเยอะ เดี๋ยวจะไม่หลงเหลือความมันของกะทินะคะ)
แล้วพอเวลาจะกิน ... ก็ให้เราเอาข้าวตอกใส่ชามค่ะ ปริมาณก็ประมาณสัก 1 ถ้วย ต่อ 1 คน ..... อ้อ ๆ ก่อนจะเอาข้าวตอกใส่ถ้วย อย่าลืมเก็บเปลือกข้าวเปลือก (หรือที่เรียกว่า กาก) ทิ้งไปด้วยนะคะ ^^
นี่ค่ะ ... ใส่ถ้วยประมาณนี้ (อย่าใส่เยอะนะคะ เพราะหากใส่มากเกินไป มันเหมือนเวลากินก๋วยเตี๋ยวแล้วเราใส่เส้นเยอะ ๆ มันจะอืด ๆ ไม่อร่อยอ่ะค่ะ)
แล้วก็ตักน้ำกะทิทุเรียนที่เราทำเอาไว้ .......ราดลงไป พร้อมเนื้อทุเรียนด้วยนะคะ (ดูแล้ว น้ำลายไหลเอง -*-)
จริงๆ เมื่อทำถึงขั้นตอนข้างบน ก็เป็นอันว่าพร้อมกินได้แล้วค่ะ ^___^ แต่ถ้าจะกินแบบแม่พิม แบบพิม หรือกินแบบสมัยโบราณ เค้าจะต้องคลุก ๆ ข้าวตอกให้เข้ากับน้ำกะทิแบบนี้ก่อนค่ะ แล้วค่อยตักเข้าปาก.... ถึงจะกินแล้วอร่อยสุด ๆ ^^
ว่าแล้ว ... พิมก็ขอตักให้เพื่อน ๆ ที่เข้ามาชมเมนูนี้ทุกคนเลยนะคะ ... และแอบหวังเล็ก ๆ ว่า จะมีคนชอบเมนูนี้มาก ๆ เหมือนพิม ^^ .. บ๊ะบายค่ะ
:: เพิ่มเติม ::
1. ข้าวตอกสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายของชำ ในตลาดสดที่เก่าๆ หน่อยค่ะ
2. เคยใช้ป๊อปคอร์นแบบไม่ผสมอะไรมาแทนข้าวตอก ก็พอแทนกันได้นะคะ แต่ไม่นุ่มนวลเท่า