พูดถึง "เกาะหมาก" เพื่อน ๆ นึกถึงอะไรกันบ้างนะคะ ถ้าถามพิม พิมก็คงนึกถึงทะเลสวย หาดทรายขาว น้ำทะเลใสๆ และที่ขาดไม่ได้ คือ อาหารทะเลที่ทั้งสด และอร่อยอ่ะค่ะ ^_^
จะว่าไปปกติแล้วพิมเป็นคนที่ไม่ค่อยได้ไปทะเลเลยนะคะ เพราะพิมรู้สึกว่าทะเลมันเวิ้งว้าง แบบว่ามองไปทางไหนก็เหมือนไม่มีอะไร มีแต่น้ำทะเลสีเขียวสีฟ้าโล้น ๆ โล่ง ๆ สุดลูกหูลูกตาเท่านั้นเองอ่ะค่ะ เพราะงั้นเวลาพิมนึกอยากจะเที่ยวไหน ที่ ๆ พิมคิดขึ้นมาในหัวเลยก็คือ ป่า หรือภูเขา ที่มีต้นไม้เยอะๆ นั่นแหละค่ะ คือที่ ๆ พิมจะไป
จนเมื่อประมาณช่วงมีนาที่ผ่านมา อยู่ดี ๆ กลางดึกคืนนึง พี่อ๋องจากเวบ Go Travel Photo ซึ่งเป็นพี่ที่เราเคยได้ร่วมทริปกันตอนไปบุรีรัมย์ ในโครงการ 12 เมืองต้องห้าม..พลาดของ ททท. เมื่อกลางปีที่แล้วอ่ะค่ะ ก็โทรมาถามพิมว่า สนใจไปเกาะหมากในโปรเจค Castaway @ Low Carbon Island กับทาง อพท. ไหม ?? ตอนแรกพิมก็งง ๆ ค่ะ Castaway คืออะไร Low Carbon Island คืออะไร อพท. คืออะไร แล้วเราจะไปเกาะหมากเพื่อทำอะไร บลาๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ คือคำถามมีในหัวมากมาย เพราะไม่เคยรู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อนเลย แต่พี่อ๋องก็ใจเย็นมาก อธิบายคร่าวๆ ให้พิมฟังว่าอย่างนั้นคืออะไร อย่างนี้คืออะไร พร้อมกับสรุปว่า งานนี้มันเหมาะกับพิมมากจริง ๆ นะ บวกกับทางตัวแทนของ อพท. โทรมาคุย ทำให้พิมรู้สึกว่า เออ...อ โปรเจคนี้มันเหมาะกับพิมจริงๆ พิมก็เลยตัดสินใจไป ทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่เคยมีคำว่าทะเลหรือเกาะอยู่ในใจสักนิดเดียวเลยอ่ะค่ะ
พูดถึงโปรเจค Castaway @ Low Carbon Island แล้ว พิมเชื่อว่าหลายคนก็อาจจะสงสัยเหมือนพิมนะ ว่าเป็นโปรเจคเกี่ยวกับอะไร และใครเป็นผู้จัดทำขึ้นมา เพราะงั้นพิมจะเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังแบบสั้นๆ ก่อนดีกว่า เพื่อความเข้าใจก่อนที่เราจะไปเที่ยวเกาะหมากด้วยกันถึง 5 วันเน๊าะคะ ^_^
โปรเจค Castaway @ Low Carbon Inland เนี่ย เป็นโปรเจคขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า อพท. ร่วมมือกับสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า ISMED และหน่วยงานร่วมอีกหลายหน่วยงาน เพื่อช่วยกันเสริมสร้างการท่องเที่ยวในลักษณะ Low Carbon บนเกาะหมากค่ะ
หลายคนอาจจะสงสัยอีกล่ะว่า แล้วการท่องเที่ยวแบบ Low Carbon มันคืออะไร มีความสำคัญขนาดไหนถึงกับจะต้องทำเป็นโปรเจคขึ้นมา .... การท่องเที่ยวแบบ Low Carbon คือการท่องเที่ยวที่พิมเรียกง่ายๆ ว่าท่องเที่ยวแบบรักโลกนะคะ (แต่ไม่ใช่โลกสวยนะ ^^) คือการท่องเที่ยวแบบที่เราเที่ยวไปด้วย มีความสุข ได้รับความสนุกไปด้วย เหมือนการท่องเที่ยวปกติทั่วไป แต่ระหว่างเที่ยว เราจะพยายามปลดปล่อยคาร์บอนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นได้เลยอ่ะค่ะ เช่น จากเดิมที่เคยขี่มอไซด์บรื้น ๆ ไปเที่ยวจุดนั้นจุดนี้ ก็เปลี่ยนมาใช้วิธีขี่จักรยานแทน นอกจากจะช่วยลดคาร์บอนที่เกิดจากการเผาไหม้ของน้ำมันแล้ว ก็ยังทำให้เราซึมซับกับบรรยากาศสวยงามระหว่างทางมากขึ้นอีกด้วยนะคะ หรือจากเดิมที่เราเคยไปเที่ยวแล้วสั่งอาหารแปลกๆ ที่ไม่มีในท้องถิ่นมากิน เช่น มาเกาะหมากแล้วสั่งพิซซ่า ก็ลองเปลี่ยนมากินอาหารที่ใช้วัตถุดิบที่หาได้จากในท้องถิ่นแทน เช่น ผัดกะเพราหมึก กุ้ง ต้มยำปลาทะเลสด ๆ เพื่อลดการขนส่ง ลดการใช้น้ำมัน ซึ่งก็จะส่งผลทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนน้อยลงไปด้วย ... อะไรประมาณนี้อ่ะค่ะ ซึ่งในเมืองไทยเราอาจจะยังไม่ค่อยได้ยินคนพูดถึงเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ในต่างประเทศแล้วเนี่ย ถือได้ว่าเป็นเทรนด์ใหม่ของการท่องเที่ยว ที่เรียกว่าการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนเลยนะคะ ^_^
แล้วทำไมต้องเป็น "เกาะหมาก" ทำไมเป็นเกาะอื่นไม่ได้เหรอ ....... จริง ๆ แล้วพื้นที่ low carbon ในความดูแลของ อพท. ก็มีอยู่หลายที่หลายที่นะคะ แต่เหตุผลที่เลือกเกาะหมากก็เพราะเกาะหมากเป็นเกาะที่ใคร ๆ คิดว่าไม่มีอะไรค่ะ คนบนเกาะหมากเองก็บอกว่าเกาะตัวเองไม่มีอะไร คือ ไม่มีร้านสะดวกซื้อ ไม่มีตู้ ATM ไม่มีเจ๊ทสกี ไม่มีบานาน่าโบ๊ท ไม่มีขยะ ไม่มีโจร แต่ในคำว่าไม่มีอะไรนี่แหละค่ะ คือเสน่ห์ของเกาะหมาก การที่เกาะ ๆ นึงที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองหลวงมากนัก แต่ยังเป็นเกาะที่มีความสวยงามมาก หาดทรายสวย น้ำทะเลใสปิ๊ง ๆ ยืนอยู่บนสะพาน ก็มีปลาว่ายเวียนมาให้ชม อาหารการกินสมบูรณ์ ราคาไม่แพง มีการจัดการในเรื่องของขยะ และพลังงานทดแทน (โซล่าเซลล์) อย่างมีประสิทธิภาพ แถมธรรมชาติทั้งบนเกาะและในทะเลก็ยังสมบูรณ์มากกกกก แล้วก็ยังมีการท่องเที่ยวในแบบวิถีชุมชนที่เรียบง่าย น่าสนใจ ไม่มีปัญหาเรื่องขโมยขโจร ที่สำคัญนักท่องเที่ยวไปไหนมาไหนบนเกาะก็ได้รับการต้อนรับที่อบอุ่น ชาวบ้านมีแต่รอยยิ้ม มีแต่คำทักทาย ก็เลยทำให้เกาะหมากเป็นสถานที่ ๆ น่าไปเยือนมาก ....... เรียกว่าจากที่พิมไม่เคยสนใจทะเล ไม่เคยสนใจเกาะไหนสักเกาะ แต่ตอนนี้เกาะหมากกลับอยู่ในหัวใจพิมไปแล้วอ่ะค่ะ ^_^
โปรเจค Low Carbon Destination @ Koh Mak เป็นโปรเจคที่ทาง อพท. ได้ชวนบล๊อคเกอร์ใน 4 สายการท่องเที่ยว ก็คือ กิน จักรยาน ถ่ายภาพ และดำน้ำปีนเขา รวมทั้งหมด 10 บล๊อคไปร่วมทริปกันเพื่อตามหาว่าเกาะหมากมีดียังไง และการท่องเที่ยวแบบ Low Carbon มันสนุกสนานมากน้อยแค่ไหนนะคะ ซึ่งแน่นอนว่าครัวบ้านพิม ต้องอยู่ในทีมกินแน่นอนค่า ...... ส่วนว่าจะได้กินอะไรบ้าง ได้กินมากน้อยแค่ไหน อาหารที่เกาะหมากอร่อยจริงอย่างเค้าว่ากันไหม ..... ก็ต้องตามพิมมาเลยค่า ^_^
ทริปนี้ของพิมเนี่ย เริ่มต้นกันที่ปั๊ม ปตท. วิภาวดี เมื่อหลังสงกรานต์ที่ผ่านมาค่ะ สังเกตุว่าในภาพเหมือนพิมจะสดใส แต่จริง ๆ ขอบอกว่าง่วงมากกกนะคะ เพราะเค้านัดกันตี 5 1/2 แล้วด้วยความที่พิมกลัวตื่นไม่ทัน ก็เลยนอนไม่หลับซะงั้นค่า >_<
แล้วพอหลังจากขึ้นรถไปได้สักพัก ด้วยความที่แอร์เย็น ๆ พิมก็เลยเผลอหลับไปตั้งแต่ตอนไหนก็ไม่รู้ >_< ตื่นมาอีกทีคือถึงตราดแล้ว และทุกคนกำลังจะลงจากรถไปกินข้าวกันแล้ว คือแบบว่าหลับยาวนานมากกกค่ะ - -"
มื้อแรกของเราทุกคน (ไม่นับข้าวกล่อง ^^) ฝากท้องกันไว้ที่ร้านเรือนทะเลนะคะ เป็นร้านอาหารแนวบ้านๆ ไม่หรูหรา แต่อยู่ติดริมทะเล บรรยากาศดีงาม .. และเนื่องจากมื้อเช้าเรากินมาแบบค่อนข้างเบา มื้อนี้ทาง อพท. ก็เลยจัดให้หนักนิ๊ดดนึง ทั้งข้าวผัดกุ้ง ต้มยำทะเล ทอดมันกุ้ง และก็กะหล่ำปลีผัดน้ำปลา ... เรียกว่ามื้อนี้อิ่มแปล้ หนักท้องตึง หนังตาก็เริ่มหย่อนกันไปตาม ๆ กันเลยค่ะ ฮ่ะๆ
หลังจากอิ่มหมีพีมันกับของคาวที่ร้านเรือทะเลกันไปเรียบร้อยแล้ว ทีมของพิม (Eat it Fresh) ซึ่งมีพิม คุณสามีพิม (แคช) และพี่เล็กจากเพจ LovelyTrip ก็ตรงดิ่งกันไปกินของหวานกันต่อที่สวนทุเรียนของคุณไพฑูรย์นะคะ จริงๆ การไปกินทุเรียนเนี่ยไม่ได้อยู่ในแผนเลยค่ะ แต่ด้วยความอยากล้วนๆ เพราะทุเรียนเป็นผลไม้สุดเลิฟของพิม บวกกับพี่เจ้าหน้าที่ อพท. ประจำจังหวัดตราด มาบอกเราว่าทุเรียนสวนคุณไพฑูรย์อร่อยมากกกก อร่อยขนาดเป็นที่เชิดหน้าชูตาของจังหวัดตราดเลย เพราะงั้นงานนี้พิมจะพลาดได้ยังไงเน๊าะคะ ^_^
สวนคุณไพฑูรย์อยู่ไม่ไกลจากร้านเรือนริมน้ำสักเท่าไหร่ค่ะ ถ้าขับรถก็จะใช้เวลาประมาณ 30 กว่านาทีนะคะ ...... สวนคุณไพฑูรย์อยู่ในเขตอำเภอเมือง มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 500 ไร่ แบ่งออกเป็น 2 แปลงใหญ่ ๆ ด้วยกัน หลัก ๆ ก็ปลูกทุเรียนหมอนทองนี่แหละค่ะ แต่พันธุ์อื่น เช่นก้านยาว ชะนี และผลไม้อย่างอื่น เช่น มังคุด เงาะ คุณลุงก็ปลูก แต่ไม่มากเท่ากับทุเรียนนะคะ
ตอนที่พิมไปถึง คุณไพฑูรย์กำลังให้ลูกน้องขนทุเรียนขึ้นรถเพื่อไปส่งให้บริษัทนึงอยู่พอดีเลยค่ะ พิมเลยถามคุณลุงว่าปลูกทุเรียนเยอะขนาดนี้ หลัก ๆ คุณลุงเอาไปขายที่ไหน คุณไพฑูรย์ก็บอกว่าส่งออกไปต่างประเทศเกือบทั้งหมด มีเจ้าที่รับซื้อกันอยู่ประจำอยู่ แต่ก็มีขายในประเทศบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นคนมาซื้อที่สวน อะไรประมาณนั้นนะคะ
ว่าแล้วคุณลุงก็ถามพวกเราว่า มาถึงที่สวนลุงแล้ว ชิมทุเรียนลุงสักหน่อยไหม มีสุกอยู่ 4-5 ลูกพอดีเลย .... ด้วยความเกรงใจคุณลุง พิมก็เลยไม่กล้าปฏิเสธ ^^" คุณลุงก็เลยจัดมาให้หลายพูเลยค่า
และหลังจากได้ชิมทุเรียนสวนคุณลุงแล้ว ขอบอกเลยว่า อร่อยมากกกกกก ทั้งหวานมัน หอม และรสชาติเข้มข้น สมแล้วที่ใคร ๆ บอกว่าคุณภาพระดับส่งออกอ่ะค่ะ ^_^
แต่ว่างานนี้พิมก็ไม่ได้กินมากนะคะ เพราะกลัวว่าจะอิ่มเกิน แล้วไปเรอบนรถ >_< ก็เลยจัดไปแค่ 2 พูดเบา ๆ ขนาดในภาพเท่านั้นเองอ่ะค่ะ ^_^
หลังจากอิ่มทั้งของคาวจากที่ร้านเรือนริมน้ำ และของหวานคือทุเรียนที่สวนคุณลุงไพฑูรย์แล้ว ก็ได้เวลาไปเที่ยว เอ๊ยย.ย.ย.ย.ย ได้เวลาทำงานแล้วอ่ะค่ะ ^^ ซึ่งจุดหมายแรกของของเราก็คือ แหลมกลัด ที่ตั้งของชุมชนบ้านระวะ ... นะคะ
หลายคนอาจจะสงสัยว่า เอ๊ะ .. ไหนตอนแรกบอกจะไปเกาะหมาก แล้วทำไมมาที่แหลมกลัด แหลมกลัดมีอะไรน่าสนใจหรือเกี่ยวข้องกับเกาะหมากยังไงเหรอ ถึงได้มา .... ขอบอกว่าเยอะค่ะ แหลมกลัดมีอะไรที่น่าสนใจเยอะมาก ส่วนจะน่าสนใจยังไง พิมจะทยอยเล่าให้ฟังนะคะ
แหลมกลัด เดิมชื่อ แหลมตรัส ... เป็นแหล่งที่อยู่ของชุมชนบ้านระวะค่ะ ซึ่งเป็นชุมชนที่ทำประมงปูม้าเป็นหลัก (แต่ก็ทำประมงอย่างอื่นด้วย) ชุมชนนี้เดิมเป็นชุมชนที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางทะเลมาก แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทะเลแถบนี้ก็ประสบปัญหาเรื่องของโลกร้อนไม่ต่างจากที่อื่น ทำให้ปูม้า และสัตว์ทะเลอื่นๆ ที่เคยจับได้ ลดน้อยลง ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์ประมงชาวฝั่งหน้าปากคลองอ่าวระวะ รวมถึงจัดตั้งธนาคารปูม้าขึ้นมา เพื่ออนุรักษ์และขยายพันธุ์ปูม้าไม่ให้หายไปจากท้องทะเลแหลมกลัดนะคะ
โดยชาวบ้านจะจับเอาแม่ปูที่ไข่แก่แล้วเนี่ยมาเลี้ยงไว้ พอถึงเวลาแม่ปูสลัดไข่ออกจากตัว (ทีละ 2-3 แสนฟอง) ชาวบ้านเค้าก็จะรีบนำไข่ปูไปปล่อยลงสู่ทะเล เพื่อให้กลายเป็นลูกปู และปูตัวโตต่อไป แล้วระหว่างที่ลูกปูยังเล็กอยู่ เพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกปลาตัวใหญ่หรือสัตว์ทะเลอื่นๆ มากินตัวเอง ลุกปูก็จะไปอาศัยอยู่ตามกอหญ้าทะเลนะคะ แต่ปัจจุบันเนี่ยกอหญ้าทะเลแถว ๆ นี้ ส่วนใหญ่ตายในหน้าที่บ้าง ไม่ก็ถูกลากติดอวนขึ้นมาบ้าง หญ้าทะเลที่เป็นหญ้าจริง ๆ ก็เลยเหลือน้อยเต็มที ทางชุมชนเค้าก็เลยมีการจัดทำหญ้าทะเลเทียมขึ้นมา โดยอาศัยความร่วมมือจากคนในชุมชนบ้าง จากนักท่องเที่ยว และจากองค์กรต่างๆ เช่น อพท. บ้าง จนปัจจุบันทะเลแหลมกลัด กลายเป็นแหล่งทำหญ้าทะเลเทียมมากที่สุดในประเทศไทยไปแล้วอ่ะค่ะ ^_^
และผลของการวางหญ้าทะเลเทียมลงไปในทะเลเป็นระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร นอกจากจะมีที่ให้ลูกปูได้เจริญเติบโตจนกลายเป็นปูตัวโตแล้ว ก็ยังทำให้สัตว์ทะเลเล็ก ๆ เช่น ปลา กุ้ง ตัวเล็ก ๆ ได้มีแหล่งอาศัยอีกด้วยนะคะ และพอสัตว์ทะเลเล็ก ๆ เข้ามาอาศัย ก็จะมีปลาตัวใหญ่กระดึ๊บ ๆ เข้ามาวนเวียนอยู่แถวนั้นเพื่อจะกินปลาตัวเล็กด้วยค่ะ เพราะงั้นแล้วจากทะเลที่เกือบจะแย่เพราะประสบปัญหาจากสภาวะโลกร้อน แต่จากความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน และจากการสนับสนุนของหน่วยงานอย่าง อพท. ทะเลแถวนี้ก็กลับกลายเป็นทะเลที่กลับมาอุดมสมบูรณ์ได้อีกครั้งนึงนะคะ ^_^
แล้วหลังจากที่พวกเราได้นั่งคุยกับคุณฐิติ ประธานกลุ่มอนุรักษ์ประมงชายฝั่งปากคลองอ่าวระวะ ไปสักพักนึง คุณฐิติก็ชวนเราลงเรือไปชมบรรยากาศของทะเลแถวนี้กันอ่ะค่ะ ^_^
พูดถึงทะเลแล้ว ... หลายครั้งที่พิมไปเที่ยวทะเล แล้วพบว่าแค่ยืนริมทะเลเฉย ๆ โดยไม่ต้องลงน้ำทะเล ตัวก็เหนียวได้แล้ว แต่ทะเลที่นี่ไม่ทำให้พิมรู้สึกอย่างนั้นเลยนะคะ พอลองถามคุณฐิติดู คุณฐิติบอกว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะน้ำทะเลแถวนี้ยังบริสุทธิ์อยู่มาก ต่างจากน้ำทะเลตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ทำให้แม้จะลงไปเล่นน้ำทะเลจนเปียกปอนไปทั้งตัว ตัวเราก็ยังจะไม่รู้สึกเหนียวอ่ะค่ะ ^_^ แหมมมม มันดีงามจริงๆ เลยค่า
พูดถึงอาชีพประมงของคนแถวนี้นอกจากจะจับปูม้า จับกุ้ง จับปลาเป็นอาชีพหลักแล้ว คนที่นี่เค้าก็ยังมีการทำแปลงเลี้ยงหอยแมลงภู่ในทะเลอีกด้วยนะคะ ซึ่ง 1 แปลงแบบนี้เนี่ย ถ้าหากอยู่ในช่วงที่ทะเลสมบูรณ์ เมื่อมีการเก็บขึ้นมาจะได้หอยครั้งละประมาณ 10 ตัน หรือราว 1 หมื่นกิโลเลยอ่ะค่ะ แบบว่าเยอะมากก หู้ววววว..ว
หลังจากนั่งเรือชมบรรยากาศของอ่าวตราด ชมนกชมไม้ ชมน้ำทะเลกันพักใหญ่ ก็ได้เวลาขึ้นฝั่งไปหัดทำหญ้าเทียมกันล่ะนะคะ ... ซึ่งตอนแรกที่พิมยังไม่เห็นว่าหญ้าเทียมหน้าตาเป็นยังไง พิมก็จินตนาการว่าเค้าคงจะใช้เชือกฟางมาผูก ๆ กับอะไรสักอย่างที่เป็นฐาน แล้วฉีกให้เชือกฟางมันฟู ๆ ประหนึ่งเหมือนทำพู่สำหรับเชียร์ในงานกีฬาสีอ่ะค่ะ ^_^ แต่เอาจริง ๆ แล้วมันไม่ได้เป็นอย่างที่พิมคิดเลยสักนิด ฮ่ะๆ
การทำหญ้าทะเลเทียมของที่นี่ เค้าจะใช้เชือกเส้นใหญ่ขนาด 2 ซม. ตัดให้มีขนาดยาว 2 เมตร แล้วนำมาผูกติดกับแท่นปูนอันใหญ่นะคะ จากนั้นก็ค่อย ๆ แกะเชือกจากเส้นใหญ่ให้กลายเป็นเส้นเล็กฝอย ๆ ฟู ๆ เพื่อให้มีจำนวนเส้นมาก ๆ จะได้มีจุดให้สัตว์น้ำยึดเกาะได้มากอ่ะค่ะ
และเมื่อแกะเสร็จ ก็จะออกมาเป็น "หญ้าทะเลเทียม" หน้าตาประมาณในภาพด้านล่างนี้นะคะ ขอบอกว่าตอนแรกเหมือนจะยากกกกก เพราะจังหวะที่เราพยายามจะแกะเชือกเส้นใหญ่ให้เป็นเส้นเล็ก ด้วยความที่เชือกมันแข็ง มันก็เลยไม่ค่อยจะเป็นไปตามมือเราอ่ะค่ะ >_< แต่พอทำไปเรื่อยๆ ขอบอกว่ายากกว่าเดิมอีกนะคะ 555 เพราะมันจะเริ่มเมื่อยมือ เจ็บมือ แต่สุดท้ายแล้วก็พยายามทำจนเสร็จล่ะค่า ^_^ ... สำหรับเพื่อน ๆ คนไหน หรือหน่วยงานไหนที่สนใจ อยากมาช่วยชาวบ้านทำหญ้าทะเลเทียม หรือสนใจอยากเรียนรู้เรื่องการทำหญ้าทะเลเทียมเพื่อไปใช้ในพื้นที่อื่นบ้าง ก็ติดต่อได้ที่ คุณฐิติ เบอร์โทร 089-0978457 เลยนะคะ
และหลังจากที่เราเหนื่อยกับการออกเรือไปชมทะเล เหนื่อยกับการฝึกทำหญ้าทะเลเทียม เป็นเวลาหลายชั่วโมง (เหนื่อยมากกกกกกก >_< แหมมมม.ม.ม.ม.) ทางชุมชุนเค้าก็เลยจัดปูม้าสด ๆ กุ้งสด ๆ ที่เป็นผลผลิตของอ่าวตราด มาให้พวกเราได้ชิมกันนะคะ
ซึ่งปูม้าของที่นี่เนี่ย พิมบอกเลยค่ะว่าเป็นปูตัวไม่ใหญ่ แต่เนื้อแน่น หวาน และรสชาติเข้มข้นมาก เพราะว่าทะเลตรงบริเวณนี้เนี่ยเป็นจุดที่มีน้ำจากคลองหลายสายไหลมาบรรจบกัน ก็เลยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุและแพลงตอนมากมาย กลายเป็นแหล่งอาหารชั้นดีสุด ๆ ของปูม้า ทำให้ปูม้าของที่มีรสชาติอร่อยโดดเด่นกว่าที่อื่นนะคะ โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนา เมษา และพฤษภา ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ปูจะเริ่มอพยพออกไปจากอ่าวเพื่อกลับลงสู่ทะเลอ่ะค่ะ ^_^
และสำหรับเมนูที่แม่บ้านของชุมชนจะทำให้พวกเราได้ชิมกันในวันนี้ ก็มีหลายเมนูเลยนะคะ ไม่ว่าจะเป็น ปูม้าต้ม กุ้งแช่น้ำปลา ยำมะม่วงกับปูม้า ซึ่งวิธีการต้มปูม้าเนี่ย แม่บ้านของชุมชนเค้าก็บอกเคล็ดลับกับเราว่า ให้ใส่น้ำพอปริ่มๆ หลังปู แล้วต้มสัก 10-15 นาทีก็พอ (ขึ้นกับขนาดตัวปู) แล้วเนื้อปูจะออกมาสุกหวานกำลังดี ไม่แข็งเกินไปอ่ะค่ะ
แล้วนอกจาก 3 เมนูที่ว่า ก็ยังมี กุ้งอบเกลือ ฝีมือพิมอีกด้วยนะคะ ซึ่งเมนูกุ้งอบเกลือเนี่ยก็ทำได้ง่าย ๆ เลยค่ะ แค่เพียงเอากุ้งสด ๆ ทั้งเปลือก ใส่ลงไปในกระทะหรือในหม้อ แล้วโรยเกลือป่นลงไปให้ทัว ๆ อัตราส่วนเกลือป่นประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ต่อกุ้งราว ๆ 1 กิโลนะคะ จากนั้นก็ปิดฝา แล้วนำกระทะไปตั้งบนเตาไฟโดยใช้ไฟกลาง ผ่านไปสักแป๊บ กุ้งจะเริ่มคายน้ำออกมา เราก็เขย่า ๆ กระทะเล็กน้อยเพื่อให้กุ้งกับน้ำเกลือเข้ากัน จากนั้นก็เร่งเป็นไฟแรง เพื่อให้น้ำในกระทะแห้ง พอและเปลือกกุ้งเริ่มมีกลินไหม้แบบหอม ๆ นิด ๆ ก็ปิดไฟเตา เปิดฝา แล้วตักกุ้งใส่จานได้เลยค่า ^_^
ซึ่งตอนที่พิมทำกุ้งอบเกลือเนี่ย พิมได้ Live ผ่านเพจครัวบ้านพิมไว้ด้วย เพื่อน ๆ คนไหนที่สนใจ ลองเข้าไปดูได้นะคะ https://www.facebook.com/pim.in.th/videos/1152697161428000/
และแล้วเมื่ออาหารครบ เราก็เริ่มตั้งวงกันได้เลยค่ะ มื้อนี้เหมือนจะมีอาหารไม่กี่อย่าง แต่ว่าแต่ละอย่างนี่ปริมาณเยอะ และรสชาติเด็ด ๆ ทั้งนั้นเลยนะคะ ยิ่งได้ทานคู่กับน้ำพริกเกลือ หรือน้ำจิ้มทะเลสูตรของคนแถบระยอง จันทบุรี ตราด ด้วยแล้ว ยิ่งอร่อยสุด ๆ ไปเลยค่ะ ซึ่งเพื่อน ๆ คนไหนที่อยากลิ้มลองปูม้าอร่อย ๆ กุ้งอร่อย ๆ แบบนี้ ก็ติดต่อได้ที่คุณฐิติ (ผู้ชายใส่เสื้อขาวลายตาราง) เบอร์โทร 089-0978457 เลยนะคะ แต่เนื่องจากว่าทางคุณฐิติและชาวบ้านชุมชนบ้านระวะเค้าทำอาชีพประมงกันเป็นหลัก ไม่ได้เป็นร้านอาหารที่เปิดให้บริการทุกวัน ดังนั้นแล้วถ้าเพื่อน ๆ จะไปวันไหน ให้โทรบอกคุณฐิติล่วงหน้าสัก 3-4 วัน เพื่อให้ทางชุมชนเค้าได้มีเวลาเตรียมตัวก็จะดีมากๆ เลยอ่ะค่ะ ^_^
อ้อ ๆ เกือบลืมเลย ..... อาหารของที่นี่ จะเป็นอาหารประเภท ต้ม นึ่ง ยำ หรือกินสด ๆ เท่านั้นนะคะ เพราะชาวบ้านเค้าบอกว่าอาหารสด เราก็ต้องกินความสด เพราะนั้นเค้าจึงจะไม่ปรุงมากอ่ะค่ะ
และหลังจากทำภารกิจตะลุยกินถิ่นซีฟู้ด พร้อมอิ่มหมีพีมันกับมื้อเย็นแสนอร่อยที่ชุมชนบ้านระวะแล้ว ก็ถึงเวลาพักผ่อนล่ะค่า ซึ่งค่ำคืนนี้เราไปฝากกายฝากใจกันไว้ที่ Hotel Toscana ในตัวเมืองตราดนะคะ ... เป็นครั้งแรกที่พิมได้มาพักที่นี่ แต่ขอบอกว่าประทับใจมาก ห้องสะอาด สวย มีที่วางของเยอะ ที่สำคัญมีสระว่ายน้ำแบบน้ำอุ่นให้พิมได้ว่ายเล่นก่อนนอน เพื่อคลายความเมื่อยล้าของแขนขาหลังจากที่ถูกใช้งานมาทั้งวันด้วยอ่ะค่ะ
ส่วนวันที่ 2 ของทริป Low Carbon Destination @ Koh Mak ของพิมและทีม Eat it Fresh จะเป็นยังไง มีอะไรน่าสนใจ และมีเมนุอะไรอร่อย ๆ บ้าง มาติดตามกันในตอนต่อไปนะคะ ส่วนตอนนี้พิมขอสวัสดีและขอตัวไปนอนก่อนล่ะค่า ^_^
การไปเกาะหมากในครั้งนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มี องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือที่ใคร ๆ รู้จักกันในนาม อพท. และ ISMED สถาบันพัฒนารัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม .... ขอบคุณจริง ๆ ค่ะที่ทำให้ครัวบ้านพิมได้เปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ขอบคุณทีมงานทุกคนที่ช่วยดูแลพวกเราในครั้งนี้ และขอบคุณคนเกาะหมากทุกคนที่ช่วยกันดูแลและทำให้เกาะหมากเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบ Low Carbon อย่างยั่งยืนนะคะ
สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ดูรายละเอียดได้ >> ที่นี่ << เลยค่ะ