วันนี้พิมมาชวนเพื่อน ๆ รำลึกถึงความหลัง สมัยพิมยังเด็กกัน กับการทำขนมหม้อแกง ขนมไทยอร่อย ๆ สูตรจากครัวบ้านพิมค่ะ ^_^
พูดถึง ขนมหม้อแกง แล้วเนี่ย สมัยตอนพิมยังเด็ก ๆ กรรมวิธีการทำขนมหม้อแกง ถือได้ว่าเป็นอะไรที่ตื่นตาตื่นใจพิมมากเลยนะคะ คือตอนพิมยังเด็กเนี่ย ที่บ้านยายพิมเค้าจะมีอาชีพทำขนมไทยขายกันค่ะ อย่างพวกทองหยอด ฝอยทอง ขนมถ้วย ขนมชั้น ขนมตะโก้ อะไรประมาณนี้เน๊าะคะ ซึ่งขนมพวกนี้เนี่ยวิธีการทำก็ไม่ค่อยมีอะไรสลับซับซ้อน อย่างขนมชั้นก็แค่ผสมแป้ง นวด แล้วเอาไปนึ่งในรังถึง หรือขนมตะโก้ ก็แค่กวนส่วนผสม แล้วหยอดใส่กระทง คือในกระบวนการขั้นตอนการทำเนี่ย มันเป็นอะไรที่เราเห็นหน้าตาของขนมได้ตลอดเลยอ่ะค่ะ
แต่กับขนมหม้อแกงเนี่ย ... มันมีอะไรที่มากกว่านั้นนะคะ เพราะขั้นตอนการทำขนมหม้อแกง จะเริ่มตั้งแต่การเจียวหอม ขยำไข่กับน้ำตาลและกะทิ กรอง แล้วเอาไปกวน ต่อด้วยเอาไปอบอ่ะค่ะ แล้วในสมัยนั้นด้วยความที่เตาอบยังไม่ได้มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย คือมีการใช้งานกับขนมฝรั่งเป็นปกติ แต่กับขนมไทยยังไม่ค่อยมี ก็เลยทำให้เวลาเราจะอบขนมหม้อแกงให้สุกและหน้าเหลือง เราก็เลยจะต้องเอาแผ่นสังกะสีหนา ๆ 1 แผ่นวางขวางบนเตาถ่าน (ถ่านในเตาเปรียบเสมือน ไฟล่าง ในเตาอบ) แล้วก็วางถาดขนมหม้อแกงลงไปบนแผ่นสังกะสี ให้อยู่ตรงกลางเตาถ่านพอดี แล้วก็วางแผ่นสังกะสีอีกแผ่นทับบนถาดขนมหม้อแกงอีกทีนะคะ จากนั้นก็หยิบถ่านติดไฟไปวางบนแผ่นสังกะสี ให้ตรงกับถาดขนม (เปรียบเสมือน ไฟบน ในเตาอบ) ...... แล้วก็ค่อย ๆ เกลี่ยถ่าน กลบถ่าน หยิบถ่านเข้าออก เพื่อให้ได้ความร้อนตามต้องการ ขนมจะได้สุก และมีสีสวยอ่ะค่ะ ...... ซึ่งพิมรู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่ยากลำบาก กว่าจะได้เป็นขนมหม้อแกงออกมาสักถาดนะคะ ก็เลยทำให้พิมรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับกระบวนการทำขนมชนิดนี้มากเลยอ่ะค่ะ
จนพอพิมโตขึ้นมา มีการปรับเอาเตาอบ มาใช้ในการอบขนมหม้อแกงแทนการใช้สังกะสีและเตาถ่าน ซึ่งนอกจากจะทำให้สะดวกสบายขึ้น ความอร่อยของขนมก็ยังคงอยู่นะคะ ....... เพราะนั้นแล้ววันนี้พิมก็เลยจะมาสาธิตวิธีทำขนมหม้อแกง โดยใช้เตาอบให้เพื่อน ๆ ได้ดูกัน รับรองว่าน่ากินไม่แพ้วิธีการแบบสมัยก่อนเลยอ่ะค่ะ ....... ไปดูวิธีทำกันจ้า ^_^
:: ส่วนผสมและเครื่องปรุง ::
- ไข่เป็ด 10 ฟอง
- กะทิอัมพวา 2 ขวด (ขวดละ 250 มิลลิลิตร)
- น้ำตาลมะพร้าว 550 กรัม
- เผือกนึ่งสุก 200 - 250 กรัม (ใช้เผือกดิบน้ำหนักเท่าเผือกสุก)
- แป้งข้าวเจ้า 2 + 1/2 ช้อนโต๊ะ
- ใบเตยหอม ใบใหญ่ 5 ใบ หั่นเป็นท่อนสั้น
- หอมแดงปอกเปลือก ซอยบาง ๆ 1 + 1/2 ถ้วย
- น้ำมันสำหรับเจียวหอมแดง 1 ถ้วย
*** ส่วนผสมตามด้านบน จะทำขนมหม้อแกงออกมาได้ 5 ถาด ตามในภาพ หากใครต้องการขนมน้อยกว่านี้ หรืออยากจะลองเทสต์สูตรดู ก็อาจจะทำสักครึ่งสูตรได้นะคะ
:: วิธีทำ ::
อันดับแรก เรามาดูที่เผือกกันก่อนเน๊าะคะ .... สำหรับเผือกเนี่ย ปกติพิมจะใช้เผือกหอม เพราะเนื้อมันจะร่วนกว่า ซุยกว่า หอมกว่า แต่ว่าสองสามวันนี้พิมไปเดินตลาด 3-4 ตลาด หาเผือกหอมไม่ได้สักตลาด เลยใช้เป็นเผือกธรรมดานะคะ ที่เนื้อมันจะแข็งๆ หน่อย แต่ก็ทำออกมาแล้วอร่อยดีเหมือนกันอ่ะค่ะ ^_^ #แต่เผือกหอมจะละมุนกว่า
เมื่อได้เผือกมาแล้ว ให้เราปอกเปลือกเผือกออกให้หมด แล้วหั่นไว้เป็นชิ้นย่อม ๆ หน่อย ก่อนจะเอาไปล้าง แล้วก็ใส่ตะกร้าพักไว้ให้สะเด็ดน้ำนะคะ
ซึ่งตอนล้างเผือกเนี่ย ให้เราระวังนิดนึง เพราะยางเผือกเมื่อโดนผิวเราจะทำให้เกิดอาการคันได้ ถ้าคนไหนไม่แพ้ ก็ไม่เป็นอะไร อย่างมากแค่รู้สึกคันจิ๊ด ๆ แต่ถ้าเกิดแพ้ขึ้นมา อาจจะคันมากจนหาที่อยู่กันแทบไม่ได้เลยนะคะ ทางที่ดีคือผสมน้ำปูนใสในน้ำล้างเผือก แล้วแช่เผือกไว้สักประมาณครึ่งชั่วโมงก่อนจะเอาไปล้าง ก็จะพอช่วยได้อ่ะค่ะ หรือไม่อย่างนั้นก็ใส่ถุงมือเวลาล้างเผือก อันนี้ช่วยได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เลยนะคะ หรือถ้าไม่แพ้อย่างพิม ก็ล้างธรรมดา ๆ เลยก็ได้ค่ะ ^_^
จากนั้นก็เอาเผือกไปนึ่งบนน้ำเดือดจัด ใช้เวลาประมาณ 15 นาที จนกระทั่งเผือกสุก ก็ปิดไฟเตา แล้วพักเผือกไว้ให้เย็นนะคะ
ระหว่างนั้น เราก็จะมาเจียวหอมกันต่ออ่ะค่ะ
ก็ให้เราเทน้ำมันใส่ลงในกระทะที่จะใช้เจียวหอมนะคะ เปิดไฟเตากลาง ๆ รอจนน้ำมันร้อนก็ใส่หอมแดงลงไปเจียวค่ะ
แล้วก็เจียวหอมแดงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหอมแดงเริ่มเป็นสีเหลืองทองแบบในภาพมุมขวาล่าง (ให้เหลืองกว่าในภาพอีกหน่อยนึง)
ก็ปิดไฟเตา แล้วเทหอมใส่กระชอน พักไว้ให้สะเด็ดน้ำมันนะคะ ^_^
จากนั้นให้เราหยิบกาละมังใบย่อม ๆ มาใบนึงค่ะ ใส่ไข่เป็ดลงไป ตามด้วยน้ำตาลมะพร้าว กะทิอัมพวา และใบเตยนะคะ
*** ตอนที่ตอกไข่ ให้ตอกไข่ทีละฟองใส่ลงในถ้วยก่อน แล้วค่อยเทใส่กาละมัง เผื่อว่าหากตอกไข่แล้วมีไข่ใบไหนเสีย จะได้ไม่เสียทั้งกาละมังอ่ะค่ะ
*** ใบเตยช่วยดับกลิ่นขาวไข่ และทำให้หม้อแกงเราหอมมากขึ้น
แล้วขยำทุกอย่างในกาละมังให้เข้ากัน จนกระทั่งน้ำตาลละลายหมด #ใบเตยจะแหลกๆหน่อย
ก็เทส่วนผสมทั้งหมดใส่ลงในกระชอน ที่รองด้วยผ้าขาวบาง 1 ชั้น
*** ผ้าขาวบาง จะมีแบบตาห่าง (เนื้อผ้าไม่ค่อยดี) กับแบบตาถี่ (เนื้อผ้าจะดีกว่า และผ้ามีความแข็งแรงมากกว่า) ให้เราเลือกใช้แบบตาถี่นะคะ แต่ถ้ามีแต่แบบตาถ่าง ก็ใช้เป็นผ้าขาวบางแบบทบ 2 ชั้นอ่ะค่ะ
จากนั้นรวบมุมทั้งสี่ของผ้าขาวบ้างเข้าหากัน แล้วก็รีดเอาส่วนผสมออกมาให้ได้มากที่สุด
เราก็จะได้ส่วนผสมออกมาหน้าตาอย่างในภาพด้านล่างนี้ ...... ถึงตรงนี้ก็พักส่วนผสมเอาไว้ก่อนนะคะ
ต่อมาก็ให้เราหยิบเครื่องปั่นน้ำผลไม้มาค่ะ (ถ้าไม่มีอาจจะต้องใช้วิธีขยำรวมกันด้วยมือในกาละมังอีกใบ) แล้วก็ใส่เผือก แป้งข้าวเจ้า กะทิอัมพวาลงไป
*** ใช้มันม่วง ฟักทอง แทนเผือกได้นะคะ
*** ถ้าต้องการให้เนื้อหม้อแกงเนียน ใช้เผือกแค่ 200 กรัมก็พอ แล้วปั่นให้ละเอียดแบบไม่เห็นเป็นเผือก แต่ถ้าอยากเน้นเผือก ใส่ไปเลย 250 กรัมค่ะ
จากนั้นนำไปปั่นให้เนียนเป็นเนื้อเดียวกัน หรือถ้าใครชอบแบบมีชิ้นเผือกให้เคี้ยว อาจจะปั่นหยาบๆ หน่อย ก็ได้นะคะ
และพอปั่นเสร็จ ก็เทลงไปในกาละมังส่วนผสมไข่ แล้วคนให้เข้ากันค่ะ
จากนั้นก็เทส่วนผสมใส่ลงในกระทะที่เราใช้เจียวหอมเมื่อสักครู่นี้ ตามด้วยน้ำมันหอมเจียวสัก 4-5 ช้อนโต๊ะด้วยนะคะ
นำไปกวนบนเตาด้วยไฟกลาง จนกระทั่งส่วนผสมเริ่มข้น ก็ปิดไฟเตาได้เลยอ่ะค่ะ (ไม่ต้องให้ข้นมากนะคะ เอาแค่พอเริ่ม ๆ ข้น)
แล้วก็เทส่วนผสมที่กวนได้ ใส่ลงในพิมพ์ตามชอบ อาจจะเป็นพิมพ์ถ้วยฟอยด์ หรือถาดเหลี่ยมใหญ่แบบถาดขนมชั้น หรือถาดอลูมิเนียมเหลี่ยมเล็กแบบในภาพด้านล่างนี่ก็ได้ เอาตามที่สะดวกเลยนะคะ
*** ถาดเหลี่ยมเล็กแบบในภาพ หาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์เบเกอรี่ ราคาขายปลีกอยู่ที่ประมาณใบละ 6-7 บาท และต้องล้างทำความสะอาด เช็ดให้แห้งก่อนนำมาใช้งาน
จากนั้นก็นำเข้าอบไฟ 180 องศาเซลเซียส เป็นเวลาประมาณ 30-40 นาที หรือจนกระทั่งขนมสุกทั่วกันทั้งชิ้นอ่ะค่ะ (ถ้าพิมพ์มีขนาดใหญ่หรือเล็กกว่านี้ก็จะใช้เวลามากน้อยต่างกันไป)
และพอขนมสุกแล้ว หลังจากเรายกออกมาจากเตา ก็ให้เราเอาแปรงจุ่มลงในน้ำมันหอมเจียว (ที่เราเจียวไว้ในตอนแรก) เล็กน้อย คือจุ่มแค่ปลาย ๆ แปรง แล้วก็ทาน้ำมันลงไปบาง ๆ ที่หน้าขนมหม้อแกงที่เพิ่งอบเสร็จใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มความหอมให้กับขนมหม้อแกงนะคะ ^_^
และพอถึงเวลากิน เราก็โรยหอมเจียวลงไปที่หน้าขนม มากน้อยตามชอบ เท่านี้เราก็จะได้ #ขนมหม้อแกงแสนอร่อย ที่พร้อมเสิร์ฟแล้วล่ะค่า
ซึ่งความอร่อยของขนมชนิดนี้ ก็จะได้มาจากหลายส่วนรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นความหอมจากหอมเจียว ใบเตย เผือก ความหวานจากน้ำตาลมะพร้าว ความมันจากกะทิ และความละมุนจากไข่อ่ะค่ะ ที่สำคัญเมื่ออบเสร็จแล้ว ขนมจะต้องมีความฉ่ำด้วยนะคะ ซึ่งถ้าเวลาทานแล้วรู้สึกว่าขนมมันแห้ง ๆ ไม่ค่อยฉ่ำ แปลว่าเพื่อน ๆ อบนานเกินไป ครั้งหน้าต้องลดเวลาในการอบลงอ่ะค่ะ แต่ถ้าเพื่อน ๆ อบขนมนานแล้ว ขนมก็ยังไม่สุก ส่วนนึงอาจจะเกิดเพราะว่าน้ำตาลที่เพื่อน ๆ ใช้ มีส่วนผสมของน้ำตาลทรายอยู่ด้วย ทำให้ปริมาณของเหลวเยอะ ขนมจึงสุกยากนะคะ เพราะงั้นแล้วขั้นตอนในการเลือกส่วนผสมทุกอย่าง ไม่ว่าจะน้ำตาล กะทิ หรืออื่น ๆ ... มีความสำคัญทั้งหมดเลยอ่ะค่ะ
และสำหรับเพื่อนๆ คนไหนที่ไม่ชอบทานเผือก จะเปลี่ยนเป็นถั่วทองนึ่งสุก มันม่วงนึ่งสุก ฟักทองนึ่งสุก แทนก็ได้นะคะ เอาตามที่ชอบเลย หรือถ้าไม่ชอบใส่ของพวกนี้ จะทำเป็นหม้อแกงไข่ล้วน ๆ เลยก็ยังได้อ่ะค่ะ ^_^
ส่วนอายุของขนมเนี่ย ด้วยความที่หม้อแกง เป็นขนมสดเน๊าะคะ ดังนั้นแล้วจะเก็บไว้ในตู้เย็นได้ประมาณ 1 สัปดาห์ (ความอร่อยอยู่ที่ 3 วัน) แต่ถ้านอกตู้เย็นล่ะก็ 2 วันก็เต็มที่แล้วอ่ะค่ะ
ยังไงไปลองทำกันดูนะคะ แล้วพบกับพิมใหม่ในเมนูถัดไป สวัสดีค่า ^_^