หลายวันก่อนพิมไปเที่ยวจังหวัดเลย อำเภอภูเรือ ไปเชียงใหม่ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก เขาค้อ ภูหินร่องกล้า และภูทับเบิกมาค่ะ
พิมขับรถไปเองกับคุณสามี จริง ๆ คือคุณสามีเป็นคนขับ พิมเป็นคนนั่ง ^_^ ไม่มีการวางแผนก่อนล่วงหน้าว่าจะไปกี่วัน แต่ละวันจะไปไหนบ้าง และไม่มีการจองโรงแรมก่อน อยู่ดี ๆ ตื่นเช้ามาคุณสามีก็ถามว่าไปหาน้องสาวพิมที่ภูเรือกันไหม (น้องสาวพิมเค๊าไปตัดแก้วมังกรอยู่ที่ภูเรือ) พิมก็ใจง่าย กลัวคุณสามีเสียน้ำใจ เลยตอบว่าไป แล้วหลังจากนั้นอีก 10 นาที เราก็ขับรถออกจากบ้านกันเลยนะคะ ระหว่างทางไม่ว่าจะขาไปหรือขากลับ เจอตลาดข้างทางตรงไหน คุณสามีก็จะจอดแวะให้พิมเรื่อย ๆ เพราะรู้ว่าพิมชอบเดินตลาดค่ะ #ซึ่งพิมเชื่อว่าหลายคนก็เป็น ^_^ แล้วสุดท้ายพอกลับถึงกรุงเทพฯ พิมก็เลยได้ผักหญ้าติดไม้ติดมือมาเพียบ เลยเป็นที่มาของเมนูนี้นะคะ
ไม่พูดเยอะเน๊าะ เดี๋ยวใครจะว่าพิมขี้คุย ฮ่า ๆ เราไปดูหน้าตา ส่วนผสมและลงมือทำกันเลยดีกว่าค่ะ
:: ส่วนผสมและเครื่องปรุง ::
- ใบย่านาง 20 ใบ
- น้ำเปล่า 3 ถ้วย
- หอมแดง 5 หัว (60 กรัม)
- พริกกะเหรี่ยง 25-30 เม็ด (20 กรัม)
- ตะไคร้ 3 ต้นใหญ่
- หน่อไม้ต้มสุก หั่นชิ้นพอคำ 170 กรัม
- ฟักทอง 120 กรัม
- เห็ดหลาย ๆ อย่าง รวมกัน 160 กรัม (เช่น ออรินจิ เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดชิเมจิ เห็ดเข็มทอง ฯ)
- เห็ดหูหนู 110 กรัม
- ชะอมเด็ด 30 กรัม
- ใบแมงลัก 30 กรัม
- น้ำปลาร้า 1/2 ถ้วย
- น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ
- ข้าวเหนียว (ดิบ) 2 ช้อนโต๊ะ
- พริกกะเหรี่ยง สำหรับโรยหน้าตามชอบ
:: วิธีทำ ::
เริ่มแรก ... เรามาเตรียมในส่วนของข้าวเบือกันก่อนนะคะ ก็ให้เราหยิบถ้วยย่อม ๆ มา 1 ใบ ใส่ข้าวเหนียวดิบที่ล้างสะอาดแล้วลงไป ตามด้วยน้ำเปล่าพอท่วม จากนั้นก็พักไว้ประมาณ 1-2 ชม. นะคะ
#ข้าวเบือ คือ การนำข้าวสารดิบ (ข้าวเหนียวหรือข้าวเจ้าก็ได้ แต่โดยส่วนใหญ่จะใช้ข้าวเหนียว) ไปแช่น้ำจนนิ่ม แล้วเอาไปตำ/ปั่นให้ละเอียด ก่อนที่จะเอาไปปรุงรสในอาหารหลาย ๆ อย่าง เพื่อให้อาหารนั้นมีความข้นมากขึ้นค่ะ และถ้าเอาไปใส่ในแกงที่มีรสขมอย่างแกงหวาย ก็ยังช่วยลดความขมได้ด้วยนะคะ
ระหว่างนั้นเราก็จะมาเตรียมในส่วนอื่น ๆ ของแกงกันค่ะ
#น้ำใบย่านาง ... หยิบเครื่องปั่นน้ำผลไม้มานะคะ ใส่ใบย่านางลงไป ตามด้วยน้ำเปล่าครึ่งนึงจากในสูตร นำไปปั่นให้ละเอียด แล้วกรองเอาแต่น้ำไว้ ส่วนกากก็ทิ้งไปค่ะ แต่ถ้าใครไม่มีเครื่องปั่นหรืออยากใช้วิธีดั้งเดิมก็ง่ายมาก นำใบย่านางที่ล้างสะอาดแล้วใส่ในกาละมังใบโตหน่อย จากนั้นก็ใส่น้ำเปล่าตามลงไปพอท่วม ขยำ ๆ ด้วยมืออย่างรุนแรงประหนึ่งว่าใบย่านางคือศัตรูของเรา ^_^ จนน้ำกลายเป็นสีเขียว (สีเขียวออกมาจากสีใบย่านาง) ก็กรองเอาไว้แต่น้ำ ส่วนกากใบย่านางก็ทิ้งไปเช่นกันนะคะ หรือถ้าใครไม่สะดวกคั้นเอง จะซื้อแบบสำเร็จรูปที่ขายเป็นถุงตามร้านขายวัตถุดิบทำอาหารอิสานในตลาดสดมาเลยก็ได้ค่ะ
ต่อมาในส่วนของเครื่องแกง ก็ให้เราหยิบครกมาใบนึง (ถ้าไม่มี ก็ใช้โถปั่นของแห้ง) ใส่หอมแดงกับพริกกะเหรี่ยงลงไป ตำให้แหลกแบบหยาบ ๆ เสร็จแล้วก็ตักใส่ถ้วยเอาไว้ก่อนนะคะ
*** บางสูตร บางพื้นที่เค้าใส่กระเทียมด้วย แต่บางพื้นที่อย่างบ้านเพื่อนพิมที่สุรินทร์ - เลยนี่ไม่ได้ใส่ อันนี้ไม่ดราม่าเน๊าะ
จากนั้นเอาข้าวเบือที่นุ่มได้ที่แล้ว (ถ้าไม่นุ่ม ก็ต้องออกแรงตำกันมากหน่อย) มาใส่ครก ตำข้าวให้แหลกจนเป็นเลน แล้วตักใส่ถ้วยรอไว้เหมือนกันค่ะ
ในส่วนของผัก เราจะใช้ตะไคร้ หน่อไม้ ฟักทอง เห็ด ชะอม แมงลัก ประมาณนี้นะคะ
สำหรับ #ตะไคร้ .. ให้เราหั่นเป็นท่อนสั้น และ #ฟักทอง ให้หั่นเป็นชิ้นแบบในภาพค่ะ
*** บางคนก็นิยมหั่นตะไคร้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วตำรวมไปกับเครื่องเลยเลย ก็ได้เหมือนกันนะคะ
#เห็ดหูหนู ตัดโคนทิ้งแล้วหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ #เห็ดชิเมจิ ตัดโคนทิ้ง แล้วแยกไว้เป็นดอก ๆ แต่ถ้าดอกไหนเล็กมาก ก็แย่เป็นกลุ่ม ๆ ได้ค่ะ ส่วน #เห็ดออรินจิ ก็หั่นไว้เป็นชิ้นพอคำแบบในภาพนะคะ
#ใบแมงลัก เด็ดเอาเฉพาะส่วนใบ ไม่เอาก้านใบ เพราะบางทีเวลาตักกินมันจะพันช้อนค่ะ แต่ถ้าส่วนไหนใบเล็กมาก เช่นใบตรงยอด ก็เด็ดมาทั้งยอดเลยก็ได้นะคะ
#ชะอม ถ้าเป็นยอดอ่อน ๆ ให้เด็ดมาทั้งยอดเลยค่ะ แต่ถ้ายอดอ่อนอันไหนยาวหน่อยก็เด็ดเป็น 2 ท่อนนะคะ (ตามที่พิมทำเส้นประสีแดง ๆ เอาไว้) แต่ถ้าอันไหนเป็นยอดที่เริ่มแก่และใบเริ่มบานแล้ว ก็ให้เรารูดเอาเฉพาะใบจากด้านบนลงด้านล่าง ส่วนก้านเราไม่เอาค่ะ
ถึงตรงนี้ ... เมื่อเราเตรียมทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็มาลงมือทำกันได้เลยนะคะ
เริ่มจากตั้งหม้อบนเตา เทน้ำใบย่านางที่เราเตรียมไว้ใส่ลงไป ตามด้วยน้ำเปล่าที่เหลือ เปิดไฟกลางๆ ค่ะ พอน้ำซุปในหม้อเดือดก็ใส่เครื่องแกงที่เราตำไว้ลงไป ตามด้วยตะไคร้นะคะ
จากนั้นก็ใส่ฟักทองกับหน่อไม้ที่ต้มสุกแล้วลงไปค่ะ (ถ้าใครใส่มะเขือเปราะ มะเขือยาว ก็หั่นแล้วใส่ไปตอนนี้เลยนะคะ)
พอฟักทองสุกดีก็ใส่เห็ดทั้งหมดลงไปเลยค่ะ ตามด้วยน้ำปลาร้า คนพอเข้ากัน ... แล้วลองตักน้ำซุปขึ้นมาชิมดูว่าเค็มประมาณไหนนะคะ เพราะน้ำปลาร้าแต่ละยี่ห้อแต่ละที่มามันก็จะเค็มหอมต่างกันนิดนึงค่ะ ถ้ายังเค็มไม่พอก็เติมน้ำปลาเพิ่มลงไปได้ (พิมเติมน้ำปลาเพิ่ม 2 ช้อนโต๊ะ) พอเค็มเผ็ดหอมได้ที่แล้ว ก็ค่อยใส่ข้าวเบือลงไป คนให้เข้ากัน แล้วทิ้งไว้ประมาณ 2 นาทีนะคะ
พอข้าวเบือสุก น้ำซุปในหม้อแกงของเราก็จะมีความข้นหนืดขึ้นเล็กน้อย ก็ให้เราใส่พริกกะเหรี่ยงที่เหลือ ชะอม และใบแมงลักลงไป ... คนให้เข้ากันอีกที ก็ปิดไฟเตา ตักใส่ชาม กินร้อนๆ ได้เลยค่ะ
แล้วเราก็จะได้ แกงหน่อไม้ใส่เห็ดรสแซ่บ ๆ ออกมาหน้าตาประมาณนะคะ กินกับข้าวเหนียวคือเข้ากันมาก แต่ถ้าใครไม่ถนัด จะกินกับข้าวสวยก็ได้ อร่อยเหมือนกันค่ะ
ยังไงก็ลองไปทำกินกันดูน๊า ตามสูตรด้านบนจะได้แกงประมาณสัก 3 ชามตามในภาพ ถ้าใครกลัวกินไม่หมดก็แบ่งทำสักครึ่งสูตรพอค่ะ (ใช้ส่วนผสมทุกอย่างแค่ครึ่งเดียว) หรือถ้าใครทำเต็มสูตรไปแล้วแต่กินไม่หมด ที่เหลือก็ตักใส่กล่อง แช่ตู้เย็นไว้กินได้ประมาณ 3-4 วันนะคะ หรือถ้าใครอยากเก็บไว้กินนาน ๆ ก็แช่ช่องฟรีสไปเลย อยู่ได้ประมาณ 1 เดือนค่ะ
แล้วเจอกันใหม่ในเมนูถัดไป สวัสดีค่า ^_^