เมื่อ 3-4 ปีก่อน พิมเคยโพสต์วิธีการทำน้ำเต้าหู้ใบเตย แบบปั่นใบเตยไปพร้อมกับถั่วเหลืองในเวบครัวบ้านพิมไปแล้ว ซึ่งหลังจากตอนนั้นพิมก็ได้ลองทำน้ำเต้าหู้สีอื่นๆ ขึ้นมาอีกหลายสีเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเขียว เหลือง ส้ม ชมพู ดำ ฟ้า
มาวันนี้ .... ใกล้จะถึงวันส่งท้ายปีเก่า 2558 และวันขึ้นปีใหม่ 2559 แล้ว พิมเองก็ไม่มีของขวัญอะไรที่จะมอบให้เพื่อนๆ นอกจากสูตรอาหาร สูตรขนมที่พิมคิดว่าอร่อย ให้เพื่อนๆ ได้เอาไปลองทำกิน ไปลองทำขาย สร้างอาชีพ สร้างรายได้กันเน๊าะคะ
และวันนี้พิมก็เลยอยากจะเอาอีกหนึ่งสูตรอร่อย ที่พิมคิดว่าน่าจะถูกใจเพื่อนๆ หลายคนก็คือ น้ำเต้าหู้สี่สี มาฝากเพื่อน ๆ ค่ะ .. ซึ่งน้ำเต้าหู้สูตรนี้เนี่ย พิมก็ใช้สูตรน้ำเต้าหู้ที่เคยทำลงเวบครัวบ้านพิมไปเมื่อหลายปีก่อนมาปรับเพิ่มโน่นใส่นี่ที่คิดว่าเหมาะสมลงไป ทำให้จากน้ำเต้าหู้เดิม ๆ กลายเป็นน้ำเต้าหู้ที่มีสีสวยงามมากขึ้น และมีประโยชน์ต่อร่างกายมากขึ้นนะคะ ... เราไปดูส่วนผสมกับวิธีทำกันเลยดีกว่าค่ะ ^_^
:: ส่วนผสมและเครื่องปรุง ::
- ถั่วเหลืองซีก 500 กรัม
- ฟักทองปอกเปลือก หั่นชิ้นเล็ก 200 กรัม
- แครอทปอกเปลือก หั่นชิ้นเล็ก 150 กรัม
- ใบเตยหอม หั่นหยาบ 1 ถ้วย (ประมาณ 10 ใบ)
- งาดำ 3 ช้อนโต๊ะ
- น้ำเปล่า สำหรับต้มฟักทอง 1 + 1/2 ถ้วย
- น้ำเปล่า สำหรับต้มแครอท 1 ถ้วย
- น้ำเปล่า สำหรับบดงา 3/4 ถ้วย
- น้ำเปล่า สำหรับคั้นน้ำใบเตย 1 ถ้วย
- น้ำเปล่า สำหรับทำน้ำเต้าหู้ 3 ลิตร (ประมาณ 12 ถ้วย)
- น้ำตาลทราย ตามความหวานที่ชอบ (พิมใส่ทั้งหมด 10 ช้อนโต๊ะ)
- เกลือป่น 1 ช้อนชา
ถ้วย = ถ้วยตวงมาตรฐาน (แยกระหว่างถ้วยตวงของแห้ง และถ้วยตวงของเหลว) ที่มีขายตามร้านขายอุปกรณ์เบเกอรี่ อุปกรณ์ครัว ตามซุปเปอร์มาร์เกต และแผนกเครื่องครัวในห้าง
ถ้าจะทำน้ำเต้าหู้สีชมพู ให้ใช้หัวบีทรูท แล้วทำแบบแครอท/ฟักทอง และถ้าจะทำน้ำเต้าหู้สีฟ้า ให้ใช้น้ำอัญชัน ประมาณ 1/2 ถ้วย แล้วทำแบบน้ำใบเตย
:: วิธีทำ ::
เริ่มต้นเรามาดูที่ถั่วเหลืองกันก่อนนะคะ ...... วันนี้พิมใช้ถั่วเหลืองซีกค่ะ ซึ่งถั่วเหลืองแบบนี้เนี่ยหาซื้อได้ตามห้าง หรือร้านขายของชำในตลาดทั่วไปเลยนะคะ ถุงนึงครึ่งกิโลกรัม ถ้าพิมจำราคาไม่ผิด ประมาณ 30 กว่าบาทค่ะ เมื่อได้ถั่วมาแล้วก็ให้เรานำถั่วเทใส่กระจาดหรือกาละมังก่อนนะคะ แล้วก็ลองเกลี่ย ๆ ดูว่ามีเม็ดเสีย มีกรวดดินหินทรายปนมาบ้างไหม ถ้ามีก็เก็บทิ้งไปค่ะ
ถึงตรงนี้ .... หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วใช้ถั่วเหลืองแบบเม็ดได้ไหม พิมขอตอบว่าได้นะคะ เพียงแต่ถ้าใช้แบบเม็ด ถ้าจะให้นิ่มพอกันกับแบบซีก จะใช้เวลาแช่นานกว่าก็เท่านั้นเองค่ะ ^_^
เมื่อได้ถั่วเหลืองที่เราคัดแยกเรียบร้อยแล้ว ก็นำมาล้างน้ำสะอาดประมาณสัก 3-4 น้ำนะคะ หรือล้างจนกระทั่งน้ำใส ก็ค่อยเทน้ำใส่กาละมังให้ท่วมถั่วสักประมาณ 4-5 นิ้ว แล้วก็แช่ถั่วเอาไว้อย่างนั้นประมาณสัก 6 ชม ... ก็จะได้ถั่วเหลืองออกมาอย่างในภาพมุมขวาล่างค่ะ
พอได้ถั่วเหลืองที่พองน้ำอย่างนั้นแล้ว ก็ล้างน้ำสะอาดอีกสักรอบ แล้วเทถั่วใส่ตะกร้าโปร่งๆ พักไว้ให้สะเด็ดน้ำนะคะ
พอถั่วสะเด็ดน้ำดีแล้ว เราก็ทยอยนำไปปั่นกับน้ำสะอาดในเครื่องปั่นน้ำผลไม้ค่ะ โดยในการปั่นถั่วแต่ละครั้ง พิมจะใช้ถั่วประมาณ 1.5 ถ้วย น้ำเปล่าประมาณ 2 ถ้วย หรือ 2 ถ้วยกว่าๆ ซึ่งปริมาณอันนี้พิมกะ ๆ เอาด้วยสายตา ไม่ได้ชั่งตวงวัดจริง ๆ นะคะ ^_^ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้ว เพื่อนๆ จะใช้สัดส่วนประมาณเท่าไหร่ ต่อครั้งจะปั่นมากน้อยสักเท่าไหร่ ก็ขึ้นกับขนาดของโถปั่นของเพื่อน ๆ ด้วยอ่ะค่ะ
ซึ่งเราจะต้องปั่นถั่วกับน้ำให้ละเอียดประมาณนี้เลยนะคะ (ละเอียดแบบละเอียดจริง ๆ อ่ะค่ะ)
พอปั่นถั่วกับน้ำละเอียดแล้ว ก็ให้เราเทใส่กระชอนที่รองด้วยผ้าขาวบางที่มีตาละเอียด ๆ (ตา = รู) หรือถ้าผ้าขาวบางตาหยาบ ก็อาจจะพับทบสัก 2 ชั้นนะคะ .... และบีบน้ำถั่วออกมาให้หมด จากนั้นก็นำกากถั่วไปปั่นรวมกับน้ำที่เหลืออีกครั้ง แล้วก็ทำการกรองด้วยผ้าขาวบางอีกครั้ง
เราก็จะได้น้ำนมถั่วเหลือง หรือน้ำเต้าหู้ออกมาอย่างในภาพด้านล่างนี้อ่ะค่ะ ..... ซึ่งพอได้มาแบบนี้แล้ว ก็ให้เราเติมเกลือป่นลงไป แล้วนำหม้อน้ำเต้าหู้ไปตั้งเตาไฟนะคะ โดยช่วงแรกใช้ไฟกลาง หมั่นคนเรื่อยๆ อย่าให้ติดก้นหม้อ และอย่าใช้ไฟแรง เพราะอาจไหม้ก้นหม้อได้ และถ้าเกิดไหม้ก้นหม้อ จะทำให้น้ำเต้าหู้มีกลิ่นไหม้ ทีนี่ล่ะ แก้ไขอะไรไม่ได้เลยค่ะ
หลังจากใช้ไฟกลางต้มไปสักแป๊บ พอน้ำเต้าหู้ทำท่าเหมือนจะเริ่มร้อน ให้หรี่ไฟลงไปทางไฟอ่อน เพิ่มความถี่ในการคน พอน้ำเต้าหู้ทำท่าเหมือนใกล้จะเดือด อันนี้พิมแนะนำให้เฝ้าหม้อเลยนะคะ เพราะถ้าน้ำเต้าหู้เดือดแล้ว มันจะล้นหม้อทันที และถ้าล้นหม้อ หม้อก็จะเลอะ เตาก็จะเหนียว ไฟเตาก็อาจจะดับ ต้องแก้ไขกันยาวเลยนคะ เพราะงั้นตรงส่วนนี้ระวังนิดนึงค่ะ ^_^ ........ และพอน้ำเต้าหู้เดือดถั่วดี ก็ปิดไฟเตาได้เลย แล้วพักไว้ก่อนนะคะ
ต่อมาก็ให้เราต้มฟักทองที่ล้างสะอาดแล้วกับน้ำเปล่า ด้วยไฟกลาง จนกระทั่งฟักทองนิ่มดี
ก็นำมาปั่น (ทั้งน้ำและเนื้อ) จนเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน
แล้วเทใส่ถ้วย พักเอาไว้ก่อนค่ะ
ส่วนแครอท ก็ให้เราทำเช่นเดียวกันกับฟักทองนะคะ คือน้ำแครอทไปต้มกับน้ำ ด้วยไฟกลาง
ถ้าอยู่เมืองไทย พิมแนะนำแครอทออสเตรเลียนำเข้า เพราะว่าหวานกว่า หอมกว่าแครอทจีน
พอแครอทนิ่มดี ก็นำมาปั่นให้เนียนละเอียดเป็นเนื้อเดียวกันอย่างในภาพด้านล่างนี้นะคะ
ส่วนงาดำ ให้เรานำงาไปคั่วด้วยไฟอ่อน จนกระทั่งเป็นหอม (ระวังอย่าให้ไหม้เด็ดขาดนะคะ) ถ้าไม่รู้ว่าสีงาขนาดไหนจะกำลังดี ให้ใส่งาขาวเพิ่มไปสัก 1/2 ช้อนโต๊ะ แล้วคั่วไปพร้อม ๆ กันกับงาดำเลย พองาขาวเหลืองสวยดี ก็แปลว่างาดำใช้ได้ ... ปิดไฟเตาได้เลยนะคะ
แล้วก็นำงามาปั่นรวมกับน้ำต้มสุกตามในสูตร ก็จะได้ออกมาเป็นน้ำงาดำอย่างในภาพด้านล่างนี่ค่ะ
ต่อมาอย่างสุดท้ายก็คือน้ำใบเตยนะคะ ก็ให้เรานำใบเตยหอมแก่ๆ ประมาณสัก 10 ใบ ล้างสะอาด ซอยให้ละเอียด แล้วนำมาปั่นรวมกับน้ำสะอาดตามสูตรด้านบนเช่นเดียวกันนะคะ
โดยในการปั่นน้ำใบเตยเนี่ย พิมมีตัวช่วย ก็คือ ที่กรองแบบในภาพด้านล่างค่ะ ซึ่งที่กรองตัวนี้เนี่ย เราใส่ลงไปในโถปั่นเลยนะคะ (ตามภาพด้านบน) แล้วก็ใส่ใบเตยลงไปในตรงกลางที่กรอง เติมน้ำลงไป แล้วก็กดปั่นจนกระทั่งใบเตยละเอียดดี
ก็เทเฉพาะน้ำใบเตยออกมา แล้วเราก็จะได้น้ำใบเตยสีเขียวอย่างในภาพด้านล่างนี้ โดยไม่ต้องมากรองอีกครั้งอ่ะค่ะ
และแล้วถึง ณ ตอนนี้ เราก็จะได้วัตถุดิบที่เตรียมเสร็จแล้วออกมาตามในภาพด้านล่างนี้นะคะ
จากนั้นก็ให้เรานำส่วนผสมแต่ละอย่าง ผสมกับน้ำเต้าหู้ที่ต้มไว้แล้วอย่างละ 2 ถ้วย คนให้เข้ากัน เติมน้ำตาลมากน้อยตามชอบ (พิมเติมอย่างละประมาณ 2 + 1/2 ช้อนโต๊ะ) แล้วนำไปตั้งเตาไฟ ด้วยไฟอ่อนจนเดือด ซึ่งระหว่างตั้งไฟก็อย่าลืมคนด้วยนะคะ ... พอเดือดทั่ว ก็ปิดไฟเตาได้เลยค่ะ
ถ้วย = ถ้วยตวงมาตรฐาน (แยกระหว่างถ้วยตวงของแห้ง และถ้วยตวงของเหลว) ที่มีขายตามร้านขายอุปกรณ์เบเกอรี่ อุปกรณ์ครัว ตามซุปเปอร์มาร์เกต และแผนกเครื่องครัวในห้าง
เรื่องน้ำตาล .. ปกติพิมจะใช้น้ำตาลทรายที่ไม่ขัดสีค่ะ จะหอมกว่า หวานนุ่มนวลกว่า แต่วันนี้ไม่มี ก็ใช้น้ำตาลทรายขาวนะคะ
แล้วเราก็จะได้น้ำเต้าหู้ 4 สี่ออกมาอย่างในภาพด้านล่างนี้นะคะ ซึ่งถ้าหากเพื่อนๆ ทานไม่หมดในคราวเดียว ก็สามารถเก็บใส่ขวดปิดฝา ใส่ตู้เย็นเอาไว้ได้ประมาณ 4 วัน แต่อาจจะเก็บได้นานกว่านี้ แต่พิมยังไม่เคยลองเลย เพราะว่ากินหมดก่อนทุกทีเลยค่ะ >_<
ยังไงลองไปทำทานกันดูนะคะ เพราะว่าทั้งอร่อยแล้วก็ดีต่อสุขภาพเลยค่ะ ^_^ อ้อ ๆ เกือบลืม น้ำเต้าหู้สี่สีนี้ ความเข้มข้นของน้ำเต้าหู้จะไม่เท่ากันนะคะ ตัวที่เป็นสีเหลืองจะเข้มข้นสุด เพราะมีเนื้อฟักทองอยู่ด้วยในปริมาณมาก อารมณ์เหมือนกินน้ำฟักทองใส่นมสด อะไรทำนองนั้นค่ะ ส่วนน้ำงาดำกับที่เป็นน้ำใบเตย จะมีความข้นเหมือนน้ำเต้าหู้ปกตินะคะ ซึ่งเพื่อนๆ สามารถจะปรับเพิ่มลดฟักทอง แครอท ใบเตย และงาดำได้ตามความชอบของเพื่อนๆ เลยค่ะ แต่อย่างแครอท แนะนำว่าใส่มากกว่านี้ได้นิดหน่อย แต่อย่าใส่มากเกิน เพราะจะทำให้กลิ่นแครอทโดดเด่นเกินจนไปลดความอร่อยของน้ำเต้าหู้นะคะะ ส่วนใบเตยก็เช่นกัน ถ้าใส่มากเกินอาจจะทำให้เหม็นเขียวได้ค่ะ
ยังไงลองไปทำทานกันดูนะคะ แล้วพบกับพิมใหม่ในเมนูอร่อยๆ ถัดไปจ้า ^_^
:: เพิ่มเติม ::
พอดีพิมได้ผู้ช่วยมาใหม่ เป็นเครื่องปั่นยี่ห้อ Magic Chef ที่ทางแบรนด์ Summer มอบให้พิมมา เลยอยากขอบคุณทางแบรนด์ไว้ ณ ทีนี้ด้วยค่ะ ^_^