และหลังจากที่ครึ่งวันเช้าเราเก็บมังคุด ช่วงบ่ายกว่าๆ หน่อยเราตัดลองกองกันไปแล้ว พอมาถึงช่วงเย็น ๆ เราก็จะต้องไปตัดเงาะกันล่ะค่ะ
..... แต่ก่อนที่เราจะไปตัดเงาะกัน พิมขอเตือนเพื่อน ๆ ทุกคนว่าหากเพื่อนๆ เป็นสาวหรือหนุ่มที่รักสวยรักงาม....นอกจากเพื่อน ๆ จะต้องสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ใส่หมวกปีกกว้างและรองเท้าบูทก่อนเข้าไปในสวนเงาะแล้ว สิ่งสำคัญมากๆ อีกอย่างนั่นก็คือ เพื่อนๆ ควรจะต้องทาครีมกันยุงที่แขนขา หน้าเท้า ฝ่าเท้า หลังเท้าด้วยค่ะ (ยกเว้นที่ฝ่ามือ) เพื่อป้องกันยุงกัดนะคะ เพราะว่ายุงในสวนเงาะเนี่ยชุมมากถึงมากที่สุดเลยอ่ะค่ะ ชุมชนิดที่ว่าถ้าเรานั่งยอง ๆ กับพื้นแค่ 5 วินาที ก็จะมียุงตัวใหญ่มาก ๆ มารุมกัดเราประมาณ 10 ตัวพร้อม ๆ กันแล้วอ่ะค่ะ >_<" เพราะงั้นใครจะเข้าไปตัดเงาะกับพิมต้องระวังตรงนี้ให้มาก ๆ นะคะ .... แต่ถ้าหากเพื่อน ๆ พร้อมแล้ว ก็เข้าไปลุยกันเลยค่ะ
เมื่อพูดถึงสวนเงาะ ...... สวนเงาะของที่บ้านพิมเนี่ยจะมีอยู่ 2 โซนด้วยกันค่ะ ก็คือ โซนในสวนใหญ่ และโซนในสวนหลังบ้าน แต่วันนี้พิมขอพาเพื่อน ๆ ไปลุยในโซนสวนใหญ่แต่เพียงสวนเดียวก่อน เพราะว่าโซนสวนหลังบ้าน เงาะยังไม่แดงเลยอ่ะค่ะ ^^
ว่าแล้ว ....... ก็ขอให้เพื่อนๆ เดินเรียงแถวตามพิมกันเข้ามาเลยนะคะ ......... และนี่ก็คือบรรยากาศภายในสวนเงาะของที่บ้านพิมค่ะ
สวนเงาะของบ้านพิมที่สวนใหญ่นี่จะมีเงาะอยู่ด้วยกัน 2 พันธุ์ค่ะ ก็คือ พันธุ์เงาะโรงเรียนกับเงาะสีนะคะ ...... ซึ่งสำหรับเงาะโรงเรียน พิมเชื่อว่าเพื่อนๆ ทุกคนคงจะรู้จักกันเป็นอย่างดีอยู่แล้วค่ะ ^__^ เพราะว่าไปที่ไหนก็เห็นมีขายเน๊าะค่ะ แต่สำหรับเงาะสีชมปู เอ๊ยย สีชมพูเนี่ย พิมไม่แน่ใจว่าจะมีเพื่อน ๆ สักกี่คนรู้จักเงาะพันธุ์นี้ถึงสัก 10-20 คนรึเปล่า เพราะว่าเงาะพันธุ์นี้เนี่ย พิมไม่เห็นมีมาวางขายในตลาดทั่ว ๆ ไป (ยกเว้นปีนี้ที่เงาะมีราคาแพง) นานมาก.ก.ก.ก.ก. แล้วอ่ะค่ะ
สมัยก่อนสักหลักสิบยี่สิบปีที่แล้วเงาะสีชมพูเนี่ยเป็นที่ฮิตฮอตมากๆ เลยค่ะ ด้วยเหตุที่ว่าเงาะพันธุ์นี้มีรสหวานฉ่ำ และกลิ่นหอม ที่บ้านสวนของพิมก็เลยปลูกเงาะพันธุ์นี้ไว้เกือบยี่สิบต้นเลยค่ะ แต่พอกาลเวลาผ่านไป ความนิยมในเงาะพันธุ์นี้ของคนรุ่นใหม่ก็ลดลง (ด้วยเหตุผลว่าไม่อร่อย ติดเปลือก ฉ่ำเกินไป) เมื่อตัดไปขายก็ขายไม่ค่อยได้ แม่พิมจึงค่อย ๆ โค่นเงาะพันธุ์นี้ทิ้งไปทีละต้นสองต้น เพื่อเอาพื้นที่ไปปลูกผลไม้อย่างอื่น จนกระทั่งปัจจุบันเหลือเงาะสีชมพูอยู่แค่สักสิบต้นได้อ่ะค่ะ (ที่เหลือนี่ไม่โค่นแล้วค่ะ เก็บต้นพันธุ์ไว้ให้ลูกหลานในอนาคตดูอ่ะ)
ปกติเงาะที่สวนบ้านพิมจะเริ่มแก่ (เริ่มสุก+แดง) ก็ประมาณกลางเดือนพฤษภาคมของทุกปีค่ะ ซึ่งปีนี้เงาะที่บ้านพิมก็แก่ตรงเวลานะคะ แต่ว่าแก่แค่บางส่วนอ่ะค่ะ ในขณะที่บางส่วนก็ยังเขียวอี๋เป็นลูกอ่อนอย่างในภาพนี่อยู่เลย (ถ้าแก่พร้อมกันล่ะสบายเลย เพราะปีนี้เงาะได้ราคามากค่ะ)
พูดถึงเงาะ .. จะว่าไปแล้วพิมก็อยากจะเล่าให้ฟังนิดค่ะว่า ต้นเงาะเนี่ยไม่ใช่ปลูกไว้แค่ต้นเดียวก็สามารถเก็บลูกขายได้เลยนะคะ .... เพราะจริง ๆ แล้วต้นเงาะเนี่ยเค้ามีเพศด้วยค่ะ ก็คือจะมีต้นเงาะตัวผู้ กับต้นเงาะตัวเมีย (ชาวสวนเรียกเงาะตัวเมีย แต่ภาษาวิชากาเรียนเงาะสมบูรณ์เพศ) ซึ่งต้นที่ออกลูกเงาะให้เราเนี่ยคือต้นเงาะตัวเมียค่ะ ซึ่งเงาะตัวเมียที่มีช่อดอกออกมา ช่อดอกนั้นจะมีทั้งเกสรตัวผู้และตัวเมียอยู่ด้วยกัน แต่เกสรส่วนที่เป็นตัวผู้จะไม่สมบูรณ์ ช่อดอกนั้นจึงจะต้องไปรับการผสมเกสรจากเกสรของช่อดอกเงาะตัวผู้เสียก่อน ถึงจะทำให้ช่อเงาะตัวเมียติดลูกเงาะได้อ่ะค่ะ เพราะงั้นแล้วชาวสวนจึงนิยมปลูกต้นเงาะตัวผู้เอาไว้ในดงต้นเงาะตัวเมีย เพื่อให้เวลาถึงหน้าเงาะออกดอก เกสรของเงาะตัวผู้ซึ่งอยู่ในวงต้นเงาะตัวเมีย ก็จะถูกลมพัดเอาเกสรไปเกาะติดกับเกสรดอกเงาะตัวเมีย ทำให้เกิดการผสมพันธุ์กันขึ้น และกลายเป็นลูกเงาะในที่สุดอ่ะค่ะ
ซึ่งที่บ้านพิมเนี่ย ปีไหนที่แม่ไม่ว่าง แม่ก็จะปล่อยให้ธรรมชาติช่วยจัดการแบบที่พิมอธิบายข้างบนนี่แหละค่ะ แต่ถ้าแม่ว่าง มีเวลา แม่พิมเค้าก็จะจัดการตัดช่อดอกเงาะตัวผู้ไปติดปลายไม้ไผ่ที่ยาว ๆ หน่อย แล้วก็ค่อยเอาช่อดอกเงาะตัวผู้นั้นไปไล่แปะๆ ให้สัมผัสกับช่อดอกเงาะตัวเมียที่อยู่บนต้นเงาะสูง ๆ อ่ะค่ะ นับว่าจะทำให้เงาะติดมากขึ้น แต่บางทีถ้าแม่พิมไม่ทำอย่างนี้ แม่พิมเค้าก็จะใช้อีกวิธีนึงค่ะ ก็คือ ตัดเอาช่อดอกเงาะตัวผู้ไปแช่น้ำธรรมดาสัก 1 คืน แล้วนำน้ำที่แช่ดอกเงาะตัวผู้ไปฉีดโปรย ๆ ใส่ช่อดอกเงาะตัวเมียอ่ะค่ะ ......... ซึ่งวิธีนี้ก็จะช่วยผสมเกสรเงาะ ทำให้เงาะติดลูกได้ดีมากขึ้นอีกเหมือนกันอ่ะค่ะ
ป.ล. จริง ๆ วิธีการผสมพันธุ์ดอกเงาะ มันมีรายละเอียดปลีกย่อยกว่านี้ แต่เอาคร่าวๆ ล่ะกันเน๊าะค่ะ เดี๋ยวไม่งั้นจะกลายเป็นวิชาการไป
แล้วหลังจากที่เงาะติดลูก ใช้เวลาประมาณหลายเดือนอยู่ เงาะก็จะค่อย ๆ เติบโตจนเป็นผลใหญ่สุกแดงอย่างที่เห็นในภาพนี่อ่ะค่ะ แต่ว่ากว่าเงาะจะสุกแดงออกมาอย่างในภาพแบบนี้ ถ้าเรารดน้ำไม่ดี ปริมาณไม่ตรงกับความต้องการของเค้า (ต้นเงาะ) ใส่ปุ๋ยบำรุงดูแลไม่ทั่วถึง ไม่เหมาะสม โอกาสที่ลูกเงาะจะร่วงหล่นลงมาตั้งแต่ยังเป็นลูกอ่อน จนถึงลูกโต ๆ หน่อย ก็มีเยอะ อย่างที่เห็นบนพื้นในภาพบน ๆ อ่ะนะคะ ..... เพราะงั้นพอพิมได้ยินคนบางคนที่ชอบพูดว่า ทำสวนไม่เห็นต้องใช้ความรู้เลย อาศัยแต่แรงก็ได้แล้ว ก็อดที่จะโมโหไม่ได้ค่ะ เพราะว่าการทำงานทุกสิ่งทุกอย่างในโลกใบนี้ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ทุกอย่างต้องใช้ความรู้ (และทำๆ ไปก็ต้องใช้ความชำนาญ) ซึ่งหากไม่มีความรู้ในตอนเริ่มต้น มันก็ต้องมีการเรียนรู้ค่ะ เพราะงั้นใครที่พูดกับพิมกับแม่พิมว่าทำสวนไม่ต้องใช้ความรู้ ใช้แต่แรง ไม่ต้องใช้สมอง ...... พิมถือว่าดูถูกกันอย่างมากอ่ะค่ะ
อ๊ะๆ ...... เริ่มจะดราม่าแหละ เปลี่ยนๆ มาเข้าเรื่องของเรากันดีกว่าค่ะ ^^
ว่าแล้วพอวันเวลาผ่านไป จากดอกเงาะก็กลายเป็นเงาะลูกเล็กๆ ที่ยังไม่มีเนื้อใน (แบบในภาพด้านบน) จากนั้นก็กลายเป็นเงาะลูกโตหน่อย เริ่มมีเนื้อในแล้ว แล้วก็กลายมาเป็นเงาะลูกโตเบ้อเร่อแต่ยังยังเขียวอยู่ และค่อย ๆ กลายจากเขียวมาเป็นเงาะสีแดง ๆ ลูกอวบอ้วนแบบในภาพด้านล่างนี่อ่ะค่ะ ^^
อวบอ้วนขนาดไหนดูได้จากที่พิมเก็บมาเลยค่ะ แบบว่าแค่ 4-5 ลูก ก็เต็มมือพิมแล้วอ่ะ ^^
ว่าแล้วตามประเพณี (ประเพณีบ้านไหนเนี่ยยย) ก็ขอเด็ดลูกเงาะที่สดจากต้นมาชิมให้เพื่อน ๆ ดูกันสักลูกนะคะ (จริง ๆ กินไปเป็นสิบลูกเลยค่ะ หุหุ)
พูดถึงการเก็บเงาะ สอยเงาะ ตัดเงาะ ...... โดยปกติเค้าจะมีคนสอย 1 คน คู่มากับคนซอยเงาะ (ตัดเงาะจากช่อให้เป็นลูกๆ) 2 คน ซึ่งที่บ้านพิมเรียกว่าเป็นทีมซอยเงาะค่ะ (แต่บ้านอื่น ทีมอื่นอาจจะใช้จำนวนคนต่างไปจากนี้ก็ได้ค่ะ) .... ซึ่งในทุกๆ ปีที่ผ่านมาที่บ้านพิมก็จะใช้บริการทีมซอยเงาะทุกปีค่ะ (ทีมซอยเงาะ ก็เพื่อนบ้านกันนี่แหละ) แต่มาปีนี้ด้วยความที่เงาะสุกเป็นต้น ๆ ไม่ค่อยได้สุกพร้อมกันทุกคน ไม่ได้มีเงาะให้เก็บพร้อมกันมากมาย ก็เลยใช้วิธีเก็บกันเอง ไม่ได้ไปจ้างทีมสอยเงาะมาอ่ะค่ะ
โดยหลัก ๆ ถ้าเราตัดเงาะกันเอง คนที่ทำหน้าที่สอยเงาะจากต้น (สอยในที่นี้คือตัดเป้นกิ่งเป็นช่อลงมา) ก็คือแม่พิม กับน้องชายพิมค่ะ ส่วนคนที่คอยซอยเงาะ (จากช่อให้เป็นลูกเดี่ยวๆ) อยู่ด้านล่างก็คือน้องสะใภ้พิม กับน้าหรือยายข้างบ้านอ่ะค่ะ (ถ้าพิมไป พิมก็ทำหน้าที่ซอยเงาะเหมือนกันค่ะ)
วิธีการสอยเงาะก็ไม่ยากอะไรค่ะ แค่เพียงเหล่ๆ ตาดูเงาะให้ทั่วต้น พอเจอเงาะช่อไหนแดงทั้งช่อแล้ว ก็เอากรรไกรตัดกิ่งไม้ที่ด้ามยาว ๆ (ยาวประมาณ 2.5 เมตร) ตัดฉับเข้าไปที่เหนือเงาะช่อนั้นก็เป็นอันเรียบร้อยล่ะค่ะ (แล้วช่อเงาะก็จะตกลงพื้นดินที่มีผ้าหรือตาข่ายรองอยู่อีกทีค่ะ)
NOTE :: ด้วยความที่ป่าเงาะ (ที่บ้านพิมมักเรียกว่า ป่าเงาะ แทน สวนเงาะ) นั้นมียุงชุมมาก.ก.ก.ก.ก.ก ถึงมากที่สุดอย่างที่พิมบอกไว้ข้างต้น ระหว่างการเก็บเงาะก็เลยต้องมีการเผาใบไม้ที่ชื้น ๆ อยู่ตลอดเวลาเพื่อเอาควันมาไล่ยุงอ่ะค่ะ
และก็นี่ค่ะ ช่อเงาะที่ถูกคอยสอยตัดลงมาจากต้น แดง ๆ ทั้งน๊านนน
ซึ่งการตัดเงาะจากต้นลงมาทั้งช่อแบบนี้ นอกจากจะทำให้สะดวกแล้ว ยังเป็นการตัดแต่งกิ่งเงาะให้โปร่งไปในตัวด้วยอ่ะค่ะ (แต่ก็ต้องมาแต่งกิ่งให้เรียบร้อยอีกครั้งนะคะ)
จริง ๆ เมื่อก่อนจะว่าไป ตอนน้องสะใภ้พิม (คนในภาพด้านล่าง) เค้าแต่งงานกะน้องชายพิมแล้วมาอยู่ที่สวนใหม่ ๆ เมื่อสัก 3 ปีที่แล้ว เค้าก็อยากจะเป็นคนสอยเงาะนะคะ ไม่อยากเป็นคนซอยเงาะอ่ะ เค้าบอกว่างานสอยท่าทางจะสนุกกว่า แต่หลังจากปีนไปอยู่บนต้นเงาะได้ประมาณชั่วโมงนึง ความคิดนั้นก็เปลี่ยนไป เพราะการอยู่บนต้นเงาะนานๆ นอกจากจะเมื่อยมากแล้ว เวลาหิวน้ำหรือปวดห้องน้ำ จะกินน้ำจะเข้าห้องน้ำมันก็ลำบากมากเลยอ่ะค่ะ .... เพราะงั้นหลังจากได้ขึ้นต้นเงาะคราวนั้น น้องสะใภ้พิมเค้าก็เลยเปลี่ยนใจขอเป็นคนซอยเงาะอยู่ข้างล่างดีกว่าค่ะ (ถ้าพูดถึงอัตราค่าจ้าง คนสอยได้มากกว่าคนซอย)
ซึ่งวิธีการสอยเงาะนั้นก็ไม่ยากอะไรเลยค่ะ แค่เอากรรไกรตัดกิ่ง ... ตัดเอาเฉพาะลูกเงาะจากช่อเงาะออกมาก็เท่านั้นเองค่ะ (พิมเรียกว่าเงาะลัง = ตัดเงาะใส่ลงลัง)
ซึ่งบางทีเวลาตัดเงาะเนี่ย หากเพื่อนบ้านสวนข้างๆ เค้าว่าง ไม่ได้ทำอะไร เค้าก็จะแวีบ ๆ มาช่วยเราซอยเงาะด้วยอ่ะค่ะ เรียกว่าเป็นน้ำใจไม่ตรีที่มีให้ระหว่างเพื่อนบ้านด้วยกันอ่ะนะคะ
สำหรับเงาะพวงไหนที่มีขนาดลูกเสมอกัน และมีสีแดงทั้งพวงทั้งช่อ ..... เราก็จะเอาเงาะพวงนั้นไปทำ "เงาะช่อ" แทนน่ะค่ะ เพราะขายได้ราคาดีกว่าเงาะลังประมาณกิโลละ 5 บาท อีกทั้งเวลาซื้อ คนซื้อเค้าก็มักจะซื้อเป็นช่อใหญ่ ช่อละ 3 กิโล 4 กิโลก็ว่ากันไป ทำให้ขายแล้วเห็นเงินมากกว่าเงาะลังอ่ะค่ะ
วิธีการทำเงาะช่อนั้นก็ไม่ยากค่ะ เริ่มต้นจากการคัดเงาะพวงที่มีลูกขนาดใหญ่เสมอกัน สีแดงเสมอกันหรือไล่เลี่ยกันทั้งพวง นำมาตัดแต่งกิ่งให้เรียบร้อย ริดใบที่เกินจำเป็นออกไป (หรือริดทิ้งทั้งหมด) จับมารวมกันเป็นช่อใหญ่ ตกแต่งด้วยใบเงาะนิดหน่อยพอสวยงาม แล้วมัดด้วยตอกหรือหนังยางเส้นใหญ่ ๆ อ่ะค่ะ ชุบน้ำสักหน่อยพอให้เงาะสดชื่น ก่อนที่จะค่อย ๆ บรรุลงในลังหรือในเข่งที่กรุด้วยใบตองโดยรอบเพื่อกันลมเข้าอ่ะค่ะ ^^
ซึ่งที่ผ่านมาในปีนี้ แม้เงาะประเภทนี้จะมีราคาสูงกว่าเงาะลังกิโลละ 5 บาท แต่ด้วยความที่เราคัดเงาะ ดูแลเงาะกันมาอย่างดี อีกทั้งในขั้นตอนการบรรจุและการขนส่งก็ทนุถนอมมาอย่างดี แม้ราคาเงาะต่อช่อจะเกิน 100 บาท และบางช่ออาจจะถึง 170-180 บาท (กิโลละ 35) แต่ก็ทำให้เงาะแบบนี้ขายดีกว่าเงาะลังมาก ๆ เลยค่ะ (แต่ถ้าลูกค้ามีงบน้อย อยากให้เราทำแบบช่อเล็ก ๆ ให้สักช่อละกิโล สองกิโล พิมก็จัดให้ตามความต้องการและงบประมาณของลูกค้านะคะ ^^)
สำหรับการกรุเข่งกรุลังเงาะ ... พิมจำได้ว่าเมื่อปีที่แล้ว เคยมีเพื่อนท่านนึงถามพิมมาว่าทำไมถึงไม่กรุด้วยกระดาษ ทำไมถึงจะต้องกรุด้วยใบตอง เหตุผลก็เพราะว่าใบตองเป็นวัสดุธรรมชาติที่หาได้จากในสวน ไม่ต้องไปเสียเงินหาซื้อมา (ทำให้ลด คชจ. ตรงนี้ไปได้) อีกทั้งใบตองเป็นวัสดุที่สามารถระบายน้ำได้ดีค่ะ ไม่ทำให้ผลไม้มีกลิ่นอับ แถมการกรุลังด้วยใบตองยังทำให้ดูผลไม้ของเรามีความเป็นธรรมชาติ+น่ากินมากขึ้น ดังนั้นแล้วที่สวนพิม (และสวนอื่นๆ) จึงเลือกที่จะใช้ใบตองกรุลังเงาะแทนการใช้กระดาษน่ะค่ะ
และใบตองที่บ้านพิมใช้ในการกรุลังเงาะ ก็จะเป็นใบตองกล้วยไข่อย่างในภาพนี่ค่ะ ....... ซึ่งจริง ๆ สวนอื่นเค้าจะใช้ใบตองกล้วยน้ำว้ากันนะคะ แต่ว่าใบตองกล้วยน้ำว้าของที่สวนพิม ส่วนใหญ่พิมจะให้แม่ตัดมาให้พิมใช้ห่อขนม มัดข้าวต้ม หรือทำกระทงห่อหมกมากกว่าอ่ะค่ะ เพราะงั้นก็เลยต้องใช้ใบตองกล้วยไข่แทน ซึ่งก็ใช้ได้ดีไม่แพ้กันเลยค่ะ
และก็นี่ค่ะ ..... หลังจากที่เราตัดเงาะกันอยู่ 3-4 ชม. (กะๆ เอา พิมก็ไม่ได้จับเวลาแน่นอน) เราก็ได้เงาะลังมาอย่างในภาพนี่ประมาณ 20 ลังได้อ่ะค่ะ
ส่วนเงาะช่อหรือเงาะพวง ก็ได้มาประมาณ 3-4 เข่งอ่ะค่ะ
เพื่อนๆ .......... ดูสีสันสิค่ะของเงาะช่อสิค่ะ แดงสดใสมากๆ ๆ ส่วนความหวาน กรอบ หอม และความสดใหม่นั้นไม่ต้องพูดถึงเลย เพราะว่ามีเต็มเปี่ยมอยู่แล้วอ่ะค่ะ
ถัดจากเงาะโรงเรียน พิมก็ขอพาเพื่อนๆ ไปดูเงาะสีชมพูกันบ้างนะคะ
สำหรับเงาะสีชมพูนี่จะว่าไปแต่ดั้งเดิมเค้าไม่ใช่เงาะที่มีสีชมพูแบบนี้นะคะ ......เพราะสมัยสัก 70-80 ปีก่อนชาวจันทบุรี แถบอำเภอขลุงเค้าได้นำเอากิ่งพันธุ์เงาะบางยี่ขันจากกรุงเทพฯ ไปปลูกที่จันทบุรี แล้วเกิดมีการกลายพันธุ์ขึ้นมา จากเงาะที่มีสีเปลือกสีแดงอมส้ม เนื้อเงาะไม่ล่อนจากเม็ด รสชาติออกเปรี้ยวเล็กน้อย ขนสั้น ไม่ยาวสวย กลายเป็นเงาะที่มีเปลือกสีชมพูสด ขนเงาะยาวสวย เม็ดล่อน รสชาติหวาน ชุ่มฉ่ำ ...... ชาวบ้านจึงพากันตั้งชื่อว่าเงาะชนิดนี้ว่า เงาะพันธุ์หมาจู เพราะขนยาวสวยเหมือนขนของหมาจูที่นิยมเลี้ยงกันในสมัยนั้น และกลายมาเป็น "เงาะพันธุ์สีชมพู" ในที่สุดอ่ะค่ะ
ซึ่งเงาะสีชมพู .... ตอนที่เค้ายังไม่แก่จัด เปลือกเค้าก็จะออกสีแดง ๆ อมเหลืองส้มแบบในภาพนี้อ่ะนะคะ รสชาติก็จะออกเปรี้ยวๆ นิดนึงด้วย
แต่ถ้าแก่จัดแล้ว สีเปลือกของเค้าก็จะเป็นสีชมพู๊....ชมพูแบบในภาพนี้ (แต่ในภาพนี้สีมัน vivid ไปหน่อยนึงค่ะ >_<") ..... แถมรสชาติหวาน และก็เนื้อชุ่มฉ่ำมากๆ เลยอ่ะค่ะ
ส่วนในภาพด้านล่างนี่ยังไม่แก่จัด แต่ว่าร้านประจำที่รับซื้อของที่บ้านพิมเค้าเอาแบบนี้ค่ะ แก่จัดกว่านี้เค้าไม่เอา เพราะถ้าตัดแก่จัดไปกว่านี้ มันจะช้ำง่าย เน่าง่าย....อีกทั้งโอกาสมีหนอนที่ขั้วก็จะมีเยอะด้วยอ่ะค่ะ
ว่าแล้วก็ขอเด็ดเอาเงาะสีชมพูกับเงาะโรงเรียนของที่สวนบ้านพิมมาเปรียบเทียบให้เพื่อนๆ ดูกันแบบจะ ๆ เลยนะคะว่าอันไหนจะยังไง ^__^ ........... ซึ่งด้านซ้ายจะเป็นเงาะโรงเรียน ส่วนด้านขวาเงาะชมพูนะคะ
ด้วยรสชาติและลักษณะเนื้อเงาะ ......... เงาะโรงเรียนเค้าจะมีเนื้อที่ใสกว่า ผิวเนื้อเงาะเรียบกว่า แต่เงาะสีชมพู (ขอเรียกสั้นๆ ว่าเงาะสี) จะมีเนื้อที่ขาวกว่าและผิวของเนื้อเงาะจะไม่ค่อยเรียบเท่าไหร่ค่ะ ส่วนรสชาติเงาะโรงเรียนจะออกไปทางหวานกรอบ บางทีมีอมเปรี้ยวนิดนึง แต่เงาะสีจะออกหวานแบบหวานชุ่ม ๆ เมื่อกัดแล้ว รสของเงาะจะเต็มปากเลยอ่ะค่ะ ........ แต่โดยส่วนใหญ่แม้พิมว่ารู้สึกว่าเงาะสีอร่อยกว่า แต่คนสมัยปัจจุบันจะชอบกินเงาะโรงเรียนมากกว่าอ่ะค่ะ ซึ่งพิมเคยถามลูกค้าว่าเพราะอะไร ลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะตอบว่าเพราะเงาะสีชมพูมันลูกไม่ค่อยโต ไม่ล่อน อีกทั้งมีน้ำชุ่ม ๆ ก็เลยไม่ชอบ ...... ก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละคนอ่ะเน๊าะค่ะ ^^
ว่าแล้วพิมก็ขอตัวไปจัดการลังเงาะให้เรียบร้อยสัก 2-3 ชม. ก่อนนะคะ ........ แล้วเดี๋ยวมาเจอกับอีกทีในตอนที่ 4 หรือตอนสุดท้ายของเรา กับ "ผลไม้ท้ายสวน ก่อนกลับบ้าน" กันจ้า