สวัสดีค่ะเพื่อน ๆ วันนี้พิมจะมาชวนเพื่อน ๆ ไปเที่ยว 3 จังหวัดใกล้ ๆ กรุงเทพฯ ภายใน 1 วันนะคะ รับรองงานนี้ของกินอร่อยๆ เพียบบบบบบ ใครสนใจตามพิมมาได้เลยจ้า
ทริปนี้เริ่มต้นจากน้องสาวคนนึง ชื่อหวาน น้องเค้าต้องไปทำข่าวสงกรานต์แถว ๆ บ้านน้องเค้าที่อ่างทอง ก็เลยชวนพิมกับคุณสามีไปด้วยค่ะ แล้วน้องเค้าบอกว่าชวนเพื่อนๆ ไปด้วยก็ได้นะคะ พิมก็เลยชวนน้องเรเรอีกคน แล้วน้องเรเร ก็เลยชวนเพื่อนชื่อน้องมดมาอีกคนนึงค่ะ สรุปทริปนี้เราเลยมีสมาชิกด้วยกันทั้งหมด 5 คน นะคะ ^_^
ทริปนี้เนี่ยเราเริ่มต้นกันที่แถวสี่แยกอโศกเพชร ตอน 7 โมงเช้าค่ะ จุดหมายแรกที่เราจะไปก็คือตลาดศาลเจ้าโรงทอง จังหวัดอ่างทอง ซึ่งเป็นชุมชนบ้านเกิดของน้องหวานเค้านะคะ ^_^
ตอนแรกเรากะว่าจะไปถึงตลาดกันสัก 8 โมงครึ่ง แต่ปรากฎว่าระหว่างทาง รถติดเป็นระยะ ๆ ค่ะ T__T คงเพราะเป็นวันเริ่มต้นวันสงกรานต์ (13 เมษา) คนก็เลยออกจากกรุงเทพฯ กันเยอะ เพราะงั้นกว่าเราจะไปถึงตลาดก็เลยเลทไปซะ 40 นาที แต่ก็ไม่สายเกินที่จะไปเดินชิมของอร่อย ๆ ค่า ^_^
เรามาเริ่มกันที่ร้านแรกเลย กับร้านขายขนมครกทรงเครื่องค่ะ ^_^ ... ตอนที่พวกเราอยู่ระหว่างเดินทาง น้องหวานบอกว่าอยากจะพาพวกเราไปชิมขนมครกทรงเครื่องที่ตลาดศาลเจ้าโรงทอง ในใจพิมตอนนั้น ขนมครกทรงเครื่อง ? พิเศษตรงไหน ? แตกต่างจากที่อื่นตรงไหน ? เพราะในใจพิมตอนนั้นคิดว่าขนมครกทรงเครื่องของที่นี่ ก็คงเหมือน ๆ กับที่อื่น คือเป็นขนมครกทั่วไปแล้วโรยหน้าด้วยเผือกบ้าง ฟักทองเชื่อมบ้าง ฝอยทองบ้างอะไรประมาณนั้นนะคะ
แต่พอมาถึงร้านขายขนมครกทรงเครื่องจริง ๆ ต้องบอกว่าเป็นคนละอย่างกับที่พิมคิดไว้เลยค่ะ แบบว่าคนละเรื่องกันไปเลยอ่ะ ขนมครกทรงเครื่องของที่ตลาดศาลเจ้าโรงทองเป็นขนมครกทรงเครื่องที่พิมยังไม่เคยเห็นที่อื่นทำขายเลยนะคะ นอกจากงานตามอิมแพคก็อาจจะมีบ้าง แต่ก็นาน ๆ ครั้ง เพราะขนมครกทรงเครื่องของที่นี่ จะเป็นขนมครกที่โรยหน้าด้วยถั่วงอกงวกหั่นท่อนสั้น และไข่เจียวสับผัดกับกุ้งสด สามเกลอ ปรุงรสให้ออกเค็มนิด ๆ ประมาณนั้นอ่ะค่ะ
น้องหวานบอกว่าในสมัยก่อน จะมีคนขายขนมครกแบบนี้ในตลาดนี้อยู่ 2 เจ้า ขายกันมา 30-40 ปีตั้งแต่น้องหวานยังไม่เกิดซะด้วยซ้ำนะคะ เจ้าแรกขายขนมครกทรงเครื่องอย่างเดียว ส่วนคุณป้าเจ้านี้จะขายทั้งขนมครกธรรมดา และขนมครกทรงเครื่องแบบนี้อ่ะค่ะ แต่ว่าตอนนี้เหลือแค่เจ้าเดียวแล้วนะคะ
ตอนที่พิมไปถึงตลาดเนี่ย เวลาประมาณสัก 9 โมง 10 นาทีได้ ถ้าเป็นปกติป้าเค้าจะขายขนมครกหมดแล้ว หมดแบบว่าเก็บร้านกลับบ้านไปแล้วอ่ะค่ะ >_< แต่ว่าวันนี้น้องหวานอยากให้เราได้ชิม ก็เลยโทรไปบอกเพื่อนเค้าที่อยู่ที่ตลาดให้ช่วยบอกป้าให้เก็บไว้ให้หน่อย ป้าก็ใจดีมาก เก็บไว้ให้เรา 2-3 เตาเลยค่า
ซึ่งหลังจากได้ชิมไปประมาณ 4-5 ฝา บอกได้เลยนะคะว่าอร่อยจริงๆ เป็นขนมครกในแบบที่พิมไม่เคยกินมาก่อน ตัวขนมครกจะมีรสหวานมันกะทิสไตล์ขนมครกโบราณ พอกินคู่กับหน้าที่มีรสเค็มนิด เผ็ดพริกไทยหน่อย หอมเครื่อง .... อร่อยมากจริง ๆ ตอนแรกกะจะกินแค่ 3-4 ฝา แต่เอาจริงกินเพลินไปซะ 10 กว่าฝาเลยค่ะ >_< แบบว่าเริ่มต้นก็กินเยอะซะแล้ว ฮ่ะๆ (ราคา 9 ฝา 20 บาท)
จากร้านขายขนมครก พิมเดินย้อนไปที่หน้าทางเข้าตลาด เพื่อจะไปชิมขนมกล้วยเจ้านึงที่ดูจากสายตา พิมว่าน่าจะอร่อยไม่แพ้ขนมครกเลยนะคะ
พูดถึงขนมกล้วยแล้ว ปกติที่พิมเห็นเค้าทำขายกัน ถ้าไม่ใส่กระทง ใส่ถ้วย ใส่กรวยนึ่ง ก็เอาไปห่อใบตองย่างด้วยไฟอ่อน ๆ เน๊าะคะ แต่ว่าขนมกล้วยของร้านนี้จะเป็นขนมกล้วยที่อบสุกในพิมพ์วอฟเฟิลอ่ะค่ะ หน้าตาน่ากินมาก พิมเลยจัดการซื้อมาซะ 2 แผ่น แบบร้อนๆ เลย ปรากฎว่าอร่อยจริง ๆ ค่ะ รสชาติเหมือนวอฟเฟิลที่มีส่วนผสมของกล้วยเยอะ ๆ ... ใครที่ชอบกินขนมกล้วย พิมเชื่อว่าขนมกล้วยในแบบนี้น่าจะถูกปากเพื่อน ๆ นะคะ
ถัดมาอีกร้านใกล้ ๆ กันกับร้านขนมกล้วย ก็จะเป็นคุณยายขายขนมแป้งจี่ค่ะ ซึ่งเท่าที่พิมไปยืนถ่ายรูปอยู่ประมาณ 5 นาที ก็มีคนแวะเวียนมาซื้อขนมของคุณยายไม่ขาดสายเลยนะคะ แบบว่าคนละ 20 บาท 30 บาท มีคนนึงซื้อถึง 50 บาท แม้พิมจะไม่ได้ชิมด้วยตัวเอง แต่จากคนที่มาซื้อ จากกลิ่นหอมของขนม จากหน้าตาขนม พิมคิดว่าอร่อยแน่นอนค่ะ ^_^
จากร้านแป้งจี่ เดินเข้าไปด้านในหน่อย ใกล้ ๆ กับร้านขายขนมครก ก็จะเป็นร้านขนมไทย "ทรงนิมิต" ที่เปิดมา 30 กว่าปีแล้วนะคะ (จริง ๆ เปิดมากว่า 50 ปีแล้ว แต่เมื่อก่อนเป็นร้านตัดเสื้อ ตอนหลังถึงค่อยเปลี่ยนมาเป็นร้านขนมไทยค่ะ) .. ตอนแรกที่น้องหวานพาไปร้านนี้ พิมไม่รู้เลยนะคะว่าเป็นร้านดัง >_< จนกระทั่งพิมไปโพสต์ภาพขนมของร้านนี้ในเฟสพิมในเพจครัวบ้านพิม ปรากฎว่ามีแฟนเพจ มีเพื่อน ๆ พิมที่ไม่ได้อยู่ในอ่างทอง แต่เป็นลูกค้าประจำของร้านนี้นับสิบคนเลยอ่ะค่ะ ^_^
ที่ร้านขนมไทยทรงนิมิต ก็จะมีขนมไทยมากมายหลายอย่างให้ได้เลือกซื้อกันเลยนะคะ เช่น ขนมเบื้อง อาลัว ขนมไข่ ครองแครงกรอบ ดอกลำดวน ข้าวตัง ทองม้วนกรอบ คุ๊กกี้ไส้สับปะรด ข้าวตู แป้งจี่ ถั่วกวน ฝอยทอง ทองหยอด เม็ดขนุน และอื่น ๆ อีกมากมายเลยค่ะ
แต่ขนมที่่เหมือนเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ ก็คือ ขนมเกสรลำเจียก และขนมลูกเต่า ที่ทางร้านมีการทำสด ๆ ให้เห็นที่หน้าร้านเลยนะคะ ^_^
พูดถึงขนมเกสรลำเจียกแล้ว บางคนที่ไม่เคยได้ยินชื่อเลยอาจจะสงสัยว่าคือขนมอะไร ขนมเกสรลำเจียกเป็นขนมไทยที่มีส่วนผสมหลัก ๆ คือ มะพร้าวขูดขาว น้ำตาล และแป้งข้าวเหนียว มีวิธีทำคร่าวๆ ก็คือ นำมะพร้าวไปกวนกับน้ำตาลทรายและน้ำมะพร้าวอ่อน หรือถ้าอยากให้เป็นสีเขียวมีกลิ่นใบเตย ก็ให้ใช้น้ำคั้นใบเตยแทนน้ำมะพร้าวอ่อนค่ะ กวนจนเหนียว จนสามารถปั้นได้ ก็โอเคตักขึ้นพักไว้ให้เย็นนะคะ จากนั้นก็นำแป้งข้าวเหนียวมาเคล้ากับน้ำลอยดอกมะลิเบา ๆ พอให้แป้งชื้น แล้วยีแป้งด้วยกระชอนร่อนแป้งตาถี่ ๆ ลงในกระทะที่เปิดไฟร้อนอ่อนๆ ให้แป้งเป็นวงกลม ๆ รี ๆ พอแป้งสุกก็หยิบไส้ที่ปั้นเป็นแท่งยาวประมาณ 1 นิ้ววางลงไป แล้วก็ม้วนๆ แป้งให้เป็นแท่งยาว ตักขึ้นวางพักไว้ในจาน เราก็จะได้ขนมเกสรลำเจียกออกมาแล้วค่ะ ^_^
ซึ่งตอนที่พิมทำเองเนี่ย ขอบอกว่าแต่ละอันทำใช้เวลามากนะคะ ฮ่ะๆ แต่พอมาดูคุณป้าทำแล้ว คุณป้าทำไวมากกกกกกก จนดูว่าเป็นขนมทำง่ายไปเลยค่ะ ^_^
แล้วที่ด้านข้าง ๆ คุณป้าขนมเกสรลำเจียก ก็มีคุณน้าอีกคนนึงกำลังทำขนมลูกเต๋านะคะ ซึ่งเมื่อก่อนพิมเคยคิดว่าขนมลูกเต๋าเนี่ยเค้าทำให้เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมตั้งแต่ขั้นตอนการปั้นแล้วค่ะ แต่เอาจริง ๆ เค้าก็ปั้นมาแบบทรงกลมทั่วไป แล้วตอนที่เอาขนมมาจี่บนกระทะ ก็ค่อย ๆ ใช้ไม้แบน ๆ 2 อัน มาบีบให้ขนมจากทรงกลมเป็นทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสนะคะ ^_^
หลังจากที่ช๊อปปิ้งขนมไทยที่ร้านทรงนิมิตรเสร็จแล้ว หวานก็พาเราเดินชมตลาดกันต่อค่ะ ระหว่างทางก็ผ่านร้านขายพริกแกง ร้านขายผักกาดดอง หน่อไม้ดอง ร้านขายผัก และร้านขายของอื่น ๆ อีกมากมายนะคะ ซึ่งอารมณ์ของตลาดจะเป็นเหมือนตลาดชุมชน ขายของกันหน้าบ้านซะเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงสะอาดมาก แต่ก็มีร้านที่เป็นแบบรถเข็นมาตั้งขายประปรายอยู่เหมือนกัน ก็เป็นเสน่ห์ไปอีกแบบค่ะ ^_^
ร้านนี้ขายข้าวต้มมัด มัดเล็ก ๆ มัดละ 5 บาท และมีปุยฝ้ายแบบโบราณที่ทำมาเป็นสิบยี่สิบปีตั้งแต่น้องหวานยังเด็ก ๆ แล้วอ่ะค่ะ
ข้าวเกรียบงา สมัยเด็กๆ แม่ไปเพชรบุรีชอบซื้อมาปิ้งกินทู๊กกกกที
ข้าวเหนียวมูน มีขายประมาณ 10 ร้านได้ น่าจะเพราะช่วงนี้เป็นหน้ามะม่วงสุกนะคะ
พุทรากวนสมัยพิมยังเด็ก ๆ ไม่รู้มีใครเคยกินไหม ตอนเด็ก ๆ นี่ชอบมาก แต่ตอนนี้กลัวติดฟันค่ะ ฮ่าๆ
นกกระทาย่าง หนูนาย่าง มีขายอยู่เจ้าเดียว ไม่รู้ขายยังไง แต่เพื่อนๆ พิมหลายคนชอบกินมากเลยค่ะ
ปลากระดี่วง สมัยเด็กๆ บ้านพิมยกยอเองได้ปลากระดี่เยอะ ก็เอามาทำตากแห้งเป็นวง ๆ แบบนี้แหละค่ะ
วงละ 25 บาท ของโปรดแม่มาก ๆ กินคู่กับแกงส้ม กองนี้ประมาณ 6 วง
หมากแห้งป่น ของโปรดของยายพิม ไว้กินคู่กับใบพลู และปูนแดง
มีดพร้า จอบ เสียม คราด เคียว ค้อน อุปกรณ์ช่าง อุปกรณ์การเกษตรสารพัดชนิด
ร้านขายเครื่องครัวเจริญรัชต์
ที่ทับกล้วยให้แบนๆ
และหลังจากเดินชมตลาดกันไปพักนึงแล้ว ก็ได้เวลาหาของอร่อย ๆ ใส่ท้องต่อกันล่ะค่ะ น้องหวานก็พาพวกเรามาที่ร้านนี้นะคะ เป็นร้านขายขนมไข่ปลา ซึ่งขนมไข่ปลาเนี่ยแต่เดิมก็จะเป็นขนมพื้นบ้านของชาวบ้านแถบสิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรีนี่แหละค่ะ (เท่าที่พิมเคยอ่านมาจากใน google นะคะ) ต่อมาอาจจะไม่เป็นที่นิยม ก็เลยค่อย ๆ สูญหายไปตามกาลเวลา แต่ที่ตลาดศาลเจ้าโรงทองยังมีให้ชมและให้ชิมอยู่ 1 เจ้าค่ะ
พูดถึงขนมไข่ปลา หลายคนอาจจะสงสัยว่าคืออะไร ใช้ไข่ปลาจริง ๆ มาทำรึเปล่า ... พิมก็จะเล่าให้ฟังอย่างนี้นะคะว่า ขนมไข่ปลาเนี่ยมีส่วนผสมหลัก ๆ คือ แป้งข้าวเหนียว เนื้อตาล น้ำตาล และมะพร้าวขูดค่ะ วิธีทำก็จะมี 2 แบบด้วยกัน (อธิบายคร่าวๆ นะคะ) คือถ้าใช้น้ำตาลปี๊บ ก็จะนวดแป้ง เนื้อตาล น้ำตาลเข้าด้วยกัน ปั้นให้มีลักษณะเหมือนไข่ปลา แล้วเอาไปนึ่งหรือต้มให้สุกค่ะ แต่ถ้าสูตรที่ใช้น้ำตาลทรายอย่างที่พิมเคยทำ ก็จะนวดแป้ง เนื้อตาลรวมกัน ปั้นเป็นเหมือนไข่ปลา แล้วเอาไปต้มในน้ำเชื่อม หรือนึ่งให้สุก แล้วค่อยเอามาแช่ในน้ำเชื่อม เวลาทานก็คลุกกับมะพร้าวทึนทึกขูดที่ผสมเกลือป่นนิดหน่อยประมาณนี้นะคะ ซึ่งที่ร้านนี้เค้าจะใช้วิธีการต้มในน้ำเชื่อม ... รสชาติขนมก็จะหนึบๆ หวานๆ มัน ๆ เค็มนิดๆ หอมกลิ่นตาล อร่อยดีค่ะ เพื่อนๆ คนไหนผ่านมาแถวนี้ ลองมาหาชิมดูนะคะ หรือถ้าอยากลองทำ ก็ดูสูตรได้ในเวบครัวบ้านพิมนี่แหละ หมวดขนมไทยค่า
ใกล้ ๆ กับร้านขายขนมไข่ปลา ก็จะมีร้านขายข้าวเหนียวแก้ว ขนมมัน ขนมกล้วย ข้าวเหนียวหน้ากะทิ ที่น้องหวานบอกว่าเค้าขายมาตั้งแต่หวานยังเด็ก ๆ แล้วหวานก็ไปซื้อข้าวเหนียวแก้วมาให้พวกเราได้ชิมกัน 2 กล่อง อร่อยอีกแล้วค่ะ รสชาติจะหวานนุ่มๆ ไม่หวานแหลมเหมือนที่ทำกันในสมัยนี้ ใครผ่านไปผ่านก็ลองไปแวะชิมนะคะ
จากข้าวเหนียวแก้ว แม้เราจะเดินชิมกันมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ขนมครก ขนมกล้วย ข้าวเหนียวแก้ว น้ำอัญชัน น้ำเก๊กฮวย แต่บอกตามตรงว่าเริ่มหิวค่ะ >_< น้องหวานก็เลยพาไปที่ศูนย์อาหารประจำตลาด เป็นศูนย์อาหารขนาดเล็กที่น้องหวานบอกว่าเมื่อก่อนคึกคักมาก มีร้านเยอะเหมือนศูนย์อาหารตามห้างเลย แต่หลังจากไฟไหม้ใหญ่ ไหม้ทั้งตลาดไปเมื่อปี 2548 แม้จะมีการปรับปรุงใหม่ แต่ตลาดก็ไม่กลับมาคึกคักเหมือนเดิม แบบว่าฟังน้องหวานพูดแล้วก็รู้สึกเสียดายมากๆ นะคะ
ที่ศูนย์อาหารแห่งนี้มีร้านอาหารอยุ่ 5 ร้าน คือร้านอาหารตามสั่ง 2 ร้านขายหอยทอด 1 ร้านขายก๋วยเตี๋ยวไส้เนื้อ 1 และ ร้านน้ำ (กาแฟโบราณ) อีก 1 ร้านค่ะ
พิมเลยลองสั่งหอยทอด กับก๋วยเตี๋ยวไส้เนื้อมากิน แบบไม่คาดหวังอะไร แต่ปรากฎว่าหอยทอดอร่อยนะคะ คือตัวแป้งด้านในเค้าจะหนึบๆ เหมือนแป้งออส่วน แต่ไม่เละเท่า ส่วนแป้งด้านนอกจะกรอบ ๆ เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสไตล์แป้งหอยทอดที่พิมชอบเลยอ่ะค่ะ
ส่วนก๋วยเตี๋ยวไส้เนื้อ ตอนแรกเนี่ยพิมคิดว่าเป็นก๋วยเตี๋ยวที่ใส่ไส้เนื้ออย่างเดียว (พิมชอบกินไส้เนื้อตุ๋นยาจีน แบบก๋วยเตี๋ยววัดดงมูลเหล็ก) ก็แอบคิดว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ปรากฎว่าจริงๆ แล้ว คือก๋วยเตี๋ยวที่ใส่เครื่องในเนื้อตุ๋นหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ นะคะ กลิ่นจะเบา ๆ ไม่มีกลิ่นของเครื่องเทศ รสชาติจะอ่อน ๆ กินคู่กับพริกน้ำส้มดีงามค่ะ
และหลังจากกินมื้อแรกของวันนี้กันเสร็จเรียบร้อย ก็ได้เวลาที่เราจะเดินทางกันต่อแล้วล่ะค่ะ เพราะเลทมาเยอะแล้ว >_< (กะจะออกกันตอน 09.30 แต่ 10.33 ยังไม่ได้ออกเลยค่า) แต่ก่อนไปขั้นรถ ก็ขอแว๊บไปซื้อกระด้ง กระจาด ติดไม้ติดมือกลับไปฝากแม่ซะหน่อยค่ะ ซึ่งที่ร้านนี้ (อยู่ใกล้ ๆ กับหน้าทางเข้าตลาด ฝั่งขวามือ) ก็จะมีเครื่องจักสานพวกกระด้ง กระจาด ชะลอม หาบ กระเช้า งอบ กระบุง ทั้งชิ้นเล็ก ชิ้นใหญ่ แล้วก็ยังมีพวกครก เขียง หวด ซึ้ง ที่นึ่งอีกมากมายเลยนะคะ ยังไงลองไปหาซื้อกันได้ค่า
และจุดหมายหลังจากนี้ พวกเราก็จะไปไหว้พระที่วัดม่วงกันนะคะ และก็ไปต่อด้วยการกินกุ้งเผาตัวโต ๆ ที่สิงห์บุรี ตามด้วยไปไหว้พระที่วัดมงคลบพิตร วัดใหญ่ชัยมงคล และจบทริปด้วยการไปกินอาหารที่ร้านกู่โภชนา ร้านดังประจำจังหวัดอยุธยาค่า ส่วนว่าแต่ละที่จะมีอะไรน่าสนใจบ้าง กุ้งที่สิงห์บุรีจะตัวใหญ่ขนาดไหน คอยติดตามชมกันในตอนต่อไปนะคะ