header



หลายวันก่อนน้องชายพิมเข้ากลับไปที่บ้านสวนของครอบครัวพิมที่อยู่จันทบุรี  และก็ตัดขนุนพันธุ์ทองประเสิรฐแก่ ๆ จากต้นที่ปลูกไว้ในสวนมาหลายลูกเลยค่ะ  

ตอนแรกที่น้องชายบอกว่าตัดขนุนมา  พิมก็ไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่นะคะ  เพราะว่ายังไม่เห็นหน้าตาขนุน 😂😂   แต่พอเมื่อวันก่อนที่น้องชายแกะขนุน แล้วส่งรูปมาให้ดู   พิมถึงกับต้องขี่จักรยานไปหาน้องชาย  และก็ขอแบ่งขนุนมาครึ่งโล เพราะว่ามันน่ากินมากเลยค่ะ  😂

แล้วด้วยความที่ช่วงนี้พิมมีโควต้าในการกินผลไม้หวาน ๆ วันนึงไม่มาก   พอแบ่งขนุนจากน้องชายมาครึ่งโล (ประมาณ 10 ยวง)  พิมก็เลยกินไปแค่ 2-3 ยวง  ส่วนที่เหลือพิมก็เลยเก็บที่เหลือใส่ตู้เย็นเอาไว้นะคะ    และด้วยความที่ไม่อยากเก็บนาน ก็เลยแอบคิดว่าเอาขนุนมาแปรรูปทำเป็นขนมดีกว่าค่ะ   ตอนแรกว่าจะทำเค้กขนุน  แต่ไข่ที่มีอยู่ก็ซื้อมานานแล้ว ทำเค้กไม่น่าจะโอเค  เพราะเค้กต้องใช้ไข่สดใหม่ถึงจะดีเน๊าะคะ     ก็แอบคิดงั้นทำสังขยาขนุนดีไหม  แต่น้ำตาลมะพร้าวไม่มีจ้า ครั้นจะออกไปซื้อ ฝนก็กำลังตกหนักเลยค่ะ     😂😂  สุดท้ายหลังจากคิดไปคิดมาอยู่สามร้อยยี่สิบสี่ตลบ  เลยคิดว่างั้นทำข้าวต้มน้ำวุ้นไม่ก็รวมมิตรน่าจะดี  เพราะนอกจากจะใช้วัตถุดิบไม่เยอะแล้ว ก็ยังทำไม่ยากอีกต่างหาก ที่สำคัญพิมมีวัตถุดิบครบเลยนะคะ   

แต่ด้วยความที่พิมเคยทำรวมมิตรน้ำกะทิลงเวบครัวบ้านพิมแล้วเน๊าะ  เพราะงั้นวันนี้พิมก็เลยเลือกที่จะทำเป็นข้าวต้มน้ำวุ้นค่ะ   ซึ่งเป็นเมนูที่ทำง่ายมาก ๆ หากเพื่อน ๆ หาใบตองได้ บอกเลยว่าเมนูนี้ทำตามได้สบาย ๆ เลยจ้า ...... ป่ะ ไปดูส่วนผสมและวิธีทำกันนะคะ ☺️☺️

 glutinous rice in syrup 13

glutinous rice in syrup 20

glutinous rice in syrup 19 

:: ส่วนผสมและเครื่องปรุง :: 

- ข้าวเหนียว 500 กรัม
- น้ำใบเตยคั้นข้น ๆ  1/4 ถ้วย

- ใบตองกว้าง 4 ซม. ยาวประมาณ 25  ซม. 75 - 80 ชิ้น
- ไม้กลัด 75 - 80 ชิ้น

- น้ำตาลทราย 500 กรัม
- น้ำเปล่า หรือน้ำลอยดอกมะลิ  400 กรัม
- ใบเตยล้างสะอาด มัดรวมกัน 3 ใบ   (ถ้าใช้น้ำลอยดอกมะลิก็ไม่ต้องใช้ใบเตย) 
- ขนุนหวานๆ 200 กรัม

** สูตรนี้ได้ตัวข้าวต้มประมาณ 75 - 80 ตัว 

** สัดส่วนน้ำคั้นจากใบเตยที่พิมใช้คือ ใบเตย 40 กรัม น้ำเปล่า 100 กรัม ปั่นรวมกันให้ละเอียด แล้วกรองด้วยผ้าขาวบางทบ 2-3 ชั้น เก็บไว้แต่น้ำใบเตยค่ะ 

glutinous rice in syrup 01

:: วิธีทำ ::

ก่อนจะไปลงมือทำตัวข้าวต้ม เรามาทำน้ำเชื่อมเอาไว้ก่อนนะคะ  เพราะน้ำเชื่อมเนี่ยสามารถทำทิ้งเอาไว้ได้หลายวัน ไม่จำเป็นต้องทำวันที่เราทำตัวข้าวต้มก็ได้ค่ะ 😊

เริ่มจาก ... หยิบหม้อมาใบนึง ใส่น้ำตาลทรายลงไป ตามด้วยใบเตย  น้ำเปล่า  ..  ใช้ทัพพีคนน้ำกับน้ำตาลให้เข้ากัน  แล้วยกหม้อขึ้นตั้งเตา เปิดไฟกลางนะคะ    จากนั้นรอสักแป๊บ พอน้ำเชื่อมเดือดก็หรี่ไฟลงนิ๊ดดดนึง   เคี่ยวน้ำเชื่อมไปสัก 10 นาที กะว่าให้น้ำเชื่อมเหนียวขึ้นหน่อยนึงก็ปิดไฟเตา  แล้วยกหม้อลงวางพักไว้ได้เลยค่ะ 

*** น้ำตาลทรายที่ใช้จะเป็นน้ำตาลทรายขาวหรือน้ำตาลทรายไม่ขัดสีก็ได้ทั้งหมดนะคะ   แต่ถ้าใช้น้ำตาลไม่ขัดสี  สีของน้ำเชื่อมก็จะออกใสและเป็นสีน้ำตาลมากนิดนึง  ถ้าชอบ ก็โอเคเลยค่ะ 

glutinous rice in syrup 04

ระหว่างรอน้ำเชื่อมเย็น ก็มาเตรียมขนุนกันนะคะ  สำหรับขนุนเนี่ยเพื่อน ๆ จะเลือกใช้พันธุ์ไหนก็ได้ที่ไม่ใช่พันธุ์มาเลย์  เพราะขนุนพันธุ์มาเลย์ เนื้อจะออกไปทางกรอบและหนามาก กลิ่นไม่ค่อยหอม รสไม่ค่อยหวาน  เหมาะกับการเอาไปเชื่อมหรือกินเล่นแบบกรอบ ๆ มากกว่าค่ะ   แต่ถ้าเอามาทำขนมแบบนี้ เนื้อขนุนต้องไม่หนามาก สีขนุนต้องสวย กลิ่นต้องหอม รสต้องหวาน อย่างพันธุ์ทองประเสิรฐถึงจะดีนะคะ   แต่ถ้าหาไม่ได้จริง ๆ พันธุ์ไหนก็ได้ เอาตามสะดวกเลยค่ะ 😊

เมื่อได้ขนุนมาแล้ว ก็ให้หั่นขนุนเป็นชิ้นบาง ๆ ยาว ๆ แบบในภาพนะคะ 

glutinous rice in syrup 05

พอน้ำเชื่อมเย็นสนิทแล้ว ก็ให้เรากรองน้ำเชื่อมด้วยผ้าขาวบางหรือกระชอนตาถี่ ๆ สักครั้งนึง เผื่อว่ามีเศษผงหลงมาด้วยค่ะ    แล้วก็ใส่ขนุนลงไป คน ๆ ให้เข้ากัน ก็จะได้เป็นน้ำเชื่อมขนุนสำหรับกินกับข้าวต้มน้ำวุ้นแล้วนะคะ  แต่ ... ถ้าเพื่อนๆ ยังไม่ได้ใช้น้ำเชื่อมในทันที ก็ให้แยกขนุนกับน้ำเชื่อมเอาไว้ก่อน  แล้วค่อยใส่ตอนใกล้ ๆ จะกิน ขนุนจะได้ไม่อมน้ำเชื่อมมากไปค่ะ 

glutinous rice in syrup 06

ต่อมาในส่วนของข้าวเหนียว วันนี้พิมใช้เป็นข้าวเหนียวเขี้ยวงูและเป็นข้าวเก่า    แต่เพื่อน ๆ จะใช้ข้าวเหนียวธรรมดา เป็นข้าวใหม่หรือข้าวเก่าก็ได้นะคะ 

ให้เอาข้าวเหนียวไปล้างด้วยน้ำสะอาดประมาณ 3-4 ครั้งจนน้ำซาวข้าวใสค่ะ 

glutinous rice in syrup 02

จากนั้นก็เติมน้ำเปล่าลงไปให้ท่วมข้าวสัก 2 ข้อนิ้ว    ตามด้วยน้ำคั้นใบเตยที่เตรียมไว้  คนให้เข้ากัน  แล้วแช่ข้าวไว้ประมาณ  1 ชม. - 1.5 ชม. นะคะ   (ข้าวใหม่ 1 ชม.  ข้าวเก่า 1.5 ชม.) 

สำหรับน้ำใบเตยที่พิมใส่ลงไป  พิมต้องการแค่กลิ่น ไม่ได้ต้องการสี เพราะงั้นพิมจึงใส่น้ำใบเตยไม่มาก  แต่ถ้าใครอยากให้ข้าวออกสีเขียวมากหน่อย  ก็เพิ่มปริมาณน้ำใบเตยให้มากกว่านี้ได้เลยค่ะ 😊😊

glutinous rice in syrup 03

ระหว่างที่เราแช่ข้าว ก็มาเตรียมในส่วนของใบตองกันนะคะ

สำหรับใบตอง ให้เราใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำบิดหมาด ๆ เช็ดให้ทั่วใบตองทั้งด้านสีเขียวเข้มและด้านสีเขียวอ่อน (เรียกว่าด้านนวล) เลยค่ะ  จากนั้นฉีกใบตองให้มีขนาดกว้างประมาณ 1.5 นิ้ว  หรือ 4 ซม.  ส่วนความยาวก็ตามความยาวของใบตองเลยนะคะ   ถ้าเพื่อน ๆ ใช้ข้าวเหนียวตามสูตรพิมคือ 500 กรัม ก็ฉีกใบตองไว้ประมาณ 80 ชิ้นค่ะ  แต่ถ้าจะทำแค่ครึ่งสูตร คือใช้ข้าวเหนียว 250 กรัม ฉีกใบตองไว้สัก 40 ชิ้นก็พอนะคะ 

จากนั้นลองใช้ไม้บรรทัดวัดดูว่าใบตองมีความยาวประมาณเท่าไหร่  ถ้าเกิน 25 ซม. ก็ตัดส่วนที่เหลือทิ้งได้เลยค่ะ  (ตัดส่วนปลายใบตองที่นิ่ม ๆ น๊า)   แต่ถ้าสมมติว่าใบตองที่เพื่อน ๆ มี มันยาวไม่ถึง 25 ซม.   อย่างน้อยขอให้ยาวสัก 22 ซม. ก็ได้อยู่นะคะ 😊😊

glutinous rice in syrup 07

และเมื่อแช่ข้าวเหนียวครบเวลาแล้ว  ก็ให้เราเทน้ำในกะละมังทิ้งได้เลยค่ะ   ถ้าเพื่อน ๆ ใส่น้ำใบเตยพอ ๆ กับพิม  ก็จะได้ข้าวเหนียวที่มีสีเขียวอ่อน ๆ (อ่อนมากกก 😂😂)  ตามภาพด้านล่างเลยนะคะ 

glutinous rice in syrup 08

จากนั้นก็มาถึงขั้นตอนการห่อล่ะค่า  ใครที่มึน ๆ งง ๆ ไม่รู้ว่าต้องห่อยังไง  อ่านคำอธิบายด้านล่างแล้วก็ไม่เข้าใจ  สามารถดูคลิปวีดโอตอนที่พิมห่อได้ที่ >> https://youtu.be/KEGr5x5xx6w นะคะ

เริ่มแรก  ....  ให้เราหยิบใบตองที่ฉีกไว้ขึ้นมาชิ้นนึง  เอาด้านนวลหงายขึ้นและหันปลายใบตองตรงส่วนแข็งเข้าหาตัวเราค่ะ    จัดการทำกรวยสามเหลี่ยมตรงปลายใบตองด้านแข็ง  ตัดข้าวเหนียวใส่ลงไปประมาณ 1 ช้อนชาพูน ๆ  แล้วห่อแบบพับใบตองไปมาให้เป็นทรงสามเหลี่ยม  พอสุดปลายใบตองก็ใช้ไม้กลัดทิ่มทะลุข้างนึงไปอีกข้างนึง  แล้วใช้กรรไกรตัดแต่งปลายใบตองส่วนเกินให้เรียบร้อย  ก็จะได้ตัวข้าวต้มก่อนเอาไปต้มออกมาอย่างในภาพด้านล่างนะคะ 

✨ สิ่งสำคัญมากๆ ที่ควรต้องนึกถึงตลอดเวลาห่อ ✨ .... ก็คืออออออ 1. ต้องห่อให้แน่นค่ะ  เพราะถ้าห่อไม่แน่น มันจะพื้นที่ว่างระหว่างเมล็ดข้าวเหนียวที่อยู่ในห่อ ทำให้เวลาต้มข้าวเหนียว ตอนที่ข้าวเหนียวเริ่มสุกและพองตัว  ข้าวเหนียวจะไม่กอดกัน เพราะงั้นเวลากินก็จะรู้สึกว่าข้าวเหนียวไม่ค่อยหนึบ ไม่ค่อยเหนียว เพราะมันไม่ค่อยเกาะตัวกันนะคะ  😊

อย่างที่ 2  ต้องพยายามห่อให้ไม่มีรูตรงมุมแหลมทั้ง 3 มุม  หรือมีรูเล็กที่สุดด้วยค่ะ  เพราะถ้าเป็นรูใหญ่ เวลาต้ม น้ำจะเข้าไปในห่อข้าวเหนียวได้  ก็จะทำให้ข้าวเหนียวสุกแบบอืด ๆ กินไม่อร่อยนะคะ 

glutinous rice in syrup 09

เบ็ดเสร็จแล้วสูตรนี้ถ้าใช้ข้าวเหนียว 500 กรัม ก็จะได้ประมาณ 75 - 80 ตัวค่ะ  

glutinous rice in syrup 10

หลังจากที่ห่อเสร็จ ก็ให้เอาไปต้มในน้ำเดือด (ตั้งน้ำให้เดือดก่อน แล้วค่อยหย่อนตัวข้าวต้มใส่ลงไป)  ประมาณ 1.5 - 2 ชม. นะคะ  

glutinous rice in syrup 11

พอครบเวลาก็ตักเฉพาะตัวข้าวต้มขึ้นแช่ไว้ในน้ำเย็น  พอหายร้อน ก็เทใส่ตะกร้าโปร่ง พักให้สะเด็ดน้ำค่ะ 

ตัวข้าวต้มแบบนี้ ถ้ากินไม่หมดจะอยู่ในอุณหภูมิห้องได้ประมาณ 3 วัน  แต่ถ้าอากาศร้อนมาก ๆ ก็อาจจะอยู่ได้แค่ 2 วันนะคะ  แต่ถ้าจะให้นาน แช่ตู้เย็นอยู่ได้เป็นสัปดาห์ค่ะ 😊😊 

glutinous rice in syrup 12

ถึงเวลากิน เราก็แกะตัวข้าวต้มใส่ถ้วยน่ารัก ๆ ตามจำนวนที่อยากกินนะคะ  

 glutinous rice in syrup 15

glutinous rice in syrup 16

แล้วก็ตักน้ำแข็งป่นใส่ลงไป ตามด้วยน้ำเชื่อมและขนุนมากน้อยตามความหวานที่ชอบค่ะ  แล้วเราก็จะได้ "ข้าวต้มน้ำวุ้น"  ขนมหวานในแบบไทย ๆ ที่ทำง่ายมาก ๆ หน้าตาอย่างในภาพข้างล่างนะคะ 😊😊

glutinous rice in syrup 21

ตัวข้าวต้ม .. ด้วยความที่มันเป็นข้าวเหนียวล้วน ๆ เน๊าะ มันก็จะออกจืด ๆ หน่อยค่ะ  แต่พอเราราดน้ำเชื่อมที่มีขนุนลงไปด้วย ก็จะได้รสหวาน ได้กลิ่นหอมของขนุน ได้กลิ่นหอมของใบเตย  และยิ่งพอได้น้ำแข็ง ก็จะออกแนวหวานเย็น กินแล้วชื่นใจที่สุดนะคะ  

glutinous rice in syrup 18

เมนูนี้เนี่ยใช้ส่วนผสมน้อยมาก หลัก ๆ มีแค่ข้าวเหนียว น้ำตาล ขนุน ใบเตย เท่านั้นเอง  แต่อาจจะยากหน่อยตอนที่ห่อ  แต่พิมเชื่อว่าถ้าเพื่อน ๆ ได้ลงมือทำ ลองห่อแบบใจเย็น  ๆ ไปสัก 5-6 ห่อ ก็จะเริ่มจับจุดได้ว่าต้องห่อยังไงถึงจะสวย ห่อยังไงถึงจะแน่น ห่อยังไงข้าวเหนียวถึงจะไม่รั่วออกมานะคะ

ยังไงลองไปทำดูกันน๊า ติดขัดตรงไหนก็มาถามไถ่กันได้ แล้วเจอกันใหม่ในขนมหวานอันถัดไป สวัสดีค่า 😊😊 

glutinous rice in syrup 19
glutinous rice in syrup 20



ครัวบ้านพิม on Facebook

สมาชิก