หลายวันก่อนพิมชวนเพื่อนๆ ทำขนมตาล ก็มีหลายคนถามมาว่าแล้วจะหาเนื้อตาลจากไหน หรือถ้ามีลูกตาลทั้งลูก จะยีลูกตาลทำยังไง วันนี้พิมเลยจะมาสอนเพื่อนๆ ยีลูกตาลกันค่ะ
เริ่มแรก .. ก็มาดูหน้าตาลูกตาลกันก่อนนะคะ เป็นอย่างนี้ค่ะ ซึ่งลูกตาลที่เราจะนำมายีเอาเนื้อตาลได้นั้น .. ต้องเป็นลูกตาลสุกเท่านั้นค่ะ .... (เมื่อ 2-3 ปีก่อน พิมซื้อลูกละ 10 บาท แต่ตอนนี้เค้าขายเป็นโล ๆล ละ 7-8 บาท ซึ่ง 3 ลูกนี้ก็ประมาณ 40 บาทค่ะ)
พอได้ลูกตาลสุกมาแล้ว ก็นำมาล้างให้สะอาด (เผื่อว่ามีเศษดินเศษผงติดมา) ...... พักให้สะเด็ดน้ำ ... พอสะเด็ดน้ำดีแล้ว เราก็จะเริ่มมาทำการจัดการกับลูกตาลกัน ด้วยการดึงขั้วด้านบนลูกตาลออกไปเป็นอันดับแรกค่ะ
แล้วก็ค่อยๆ ดึงเปลือกดำๆ ของลูกตาลออกไปจนหมด (จะดึงด้วยนิ้วมือเรา หรือใช้มีดช่วยก็ได้ทั้งนั้นค่ะ ตามสะดวกเล) .... พอดึงเปลือกหมดแล้ว ก็ทำการแยกผลตาลที่อยู่ข้างในออกเป็นอัน ๆ ไป (ลูกตาล 1 ลูก จะมีผลตาลเล็กๆ ข้างใน 2-4 ผล/อันค่ะ) .... แล้วก็พักเอาไว้ก่อน
ป.ล. พิมอาจจะใช้สรรพนามเรียกแทนไม่ถูกต้องนัก ถ้าใครทราบก็ช่วยแนะนำพิมด้วยนะคะ
จากนั้นหันมาดูอุปกรณ์สำหรับยีลูกตาลกันค่ะ ... ซึ่งคนอื่นเค้ามีวิธีการยีลูกตาลยังไง+มีอุปกรณ์อะไรบ้างนี่ พิมไม่แน่ใจ (เพราะว่าไม่เคยเห็น) แต่สำหรับพิม ในการยีลูกตาลจะใช้อุปกรณ์ 2 อย่างนี้ค่ะ ก็คือตะแกรงที่ตาห่างหน่อย และมีความแข็งแรง กับหม้อใบใหญ่ ๆ 1 ใบ ที่ปากหม้อมีขนาดกว้างเท่า ๆ กับตะแกรง ..... (แล้วก็มีผ้าขาวบาง กับเชือก ซึ่งจะใช้ตอนใกล้เสร็จค่ะ)
แล้วก็มีน้ำสะอาดที่เราต้องเตรียมไว้ใช้จุ่มลูกตาลอีกประมาณ 1/2 หม้อค่ะ
เมื่อเตรียมอุปกรณ์พร้อม .... ก็เริ่มมาทำการยีลูกตาลกันค่ะ ด้วยการวางตะแกรงบนปากหม้อ ใช้มือข้างที่ไม่ถนัด (มือซ้าย) จับตะแกรงให้ยึดติดกับหม้อให้ดี แล้วใช้มือข้างที่ถนัด (มือขวา) จับตาล 1 ผลขึ้นมาถูไปถูกมากับตะแกรงตามในภาพ เพื่อให้เนื้อตาลหลุดออกมา และหล่นลงสู่ก้นหม้อค่ะ
นี่ค่ะ .. ถูไปถูกมาสักพัก จะได้เนื้อตาลออกมาเรื่อยๆ หน้าตาประมาณนี้
ต่อมา ... เมื่อเรายีลูกตาลได้ไปสักแป๊บ เราจะรู้สึกว่าลูกตาลมันยังมีเนื้อตาลติดอยู่ตามเส้นๆ แต่ว่ามันยีออกมาไม่ได้ เพราะมันเริ่มแห้ง ก็ให้เราเอาผลตาลจุ่มลงไปในน้ำค่ะ
แล้วก็นำขึ้นมายีบนตะแกรงอีกรอบ โดยการถูไปถูมาหลายๆ ครั้งจนกระทั้งเนื้อตาลหลุดออกจากผลตาลหมด และผลเล็กๆ ของลูกตาลมีลักษณะแห้ง สีซีดลงมากๆ และดูแล้วไม่มีเนื้อตาลเหลือติดแบบในภาพ ... ก็เป็นอันใช้ได้ ... แสดงว่าตาลผลเล็กๆ ผลนี้ทิ้งได้แล้วล่ะค่ะ
แล้วเมื่อพิมยีลูกตาลด้านบนทั้งหมดเสร็จเรียบร้อย ... ก็จะได้น้ำได้เนื้อตาล (Step ที่ 1) ออกมาเป็นแบบในภาพด้านล่างนี้นะคะ ... ซึ่งจากภาพเราจะสังเกตุเห็นได้ว่า ในเนื้อตาลที่เรายีไว้ มีสิ่งแปลกปลอมเช่น เปลือกตาล เส้นๆ จากลูกตาล ติดลงไปด้วย รวมถึงมีน้ำที่เราใช้ตอนยีตาลอยู่มากมาย .... ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการอ่ะค่ะ
ดังนั้นเราก็จะทำการกรองเอาแต่เฉพาะเนื้อตาลออกมา ด้วยการใช้ผ้าขาวบาง 1 ผืน กางออกและวางลงบนตะกร้าพลาสติคตาโปร่งๆ สักใบ
แล้วก็จัดการเทลูกตาลที่เรายีไว้เมื่อกี้ลงไป .... ทั้งหมด ... และพักเอาไว้สัก 5 นาที เพื่อให้น้ำที่ผสมอยู่ในเนื้อตาล ตกลงมาด้านล่าง (เนื้อตาลจะได้แห้งมากขึ้น)
จากนั้นพอครบ 5 นาที หรือเห็นว่าเนื้อตาลเหลวน้อยลงพอประมาณแล้ว .... ก็ทำการรวบมุมผ้าขาวบางทั้ง 4 มุมเข้าหากัน
แล้วก็ค่อยๆ หมุนผ้า เพื่อรีดให้เนื้อตาลลอดออกมาจากผ้ามากที่สุด .... ก็รีดจนกระทั่งเนื้อตาลหมดอ่ะนะคะ
ก็จะได้เนื้อตาล Step ที่ 2 ออกมาแบบนี้นะคะ
และในภาพด้านล่างนี่ก็คือ ห่อผ้าขาวบางที่เรารีดเนื้อตาลออกไปหมดแล้ว .. เหลือแต่กากและสิ่งที่เราไม่ต้องการทิ้งเอาไว้ในผ้าขาวบางที่เป็นกระจุกๆ อ่ะค่ะ
และเมื่อได้เนื้อตาล step ที่ 2 แล้ว ..... เราก็จะมาทำขั้นตอนสุดท้ายที่เรียกว่า "การเกรอะ" เพื่อให้ได้เนื้อตาล Step ที่ 3 กันค่ะ
ด้วยการเอาผ้าขาวบางอีกผืนนึง (หรือผืนเมื่อกี้ก็ได้ แต่ต้องไปซักให้สะอาดซะก่อน) ...... มาทบ 2 ชั้น วางลงบนตะกร้าโปร่งๆ ใบเดิม
แล้วก็เทเนื้อตาล Step ที่ 2 ลงไป ... แบบนี้
จากนั้นก็ทำการรวบมุม 4 มุมเข้าหากันเหมือนเดิม ... แต่ว่าคราวนี้ไม่ต้องทำการรีดเนื้อตาลนะคะ แค่รวบมุม แล้วทำการผูกเชือกมุมทั้ง 4 ให้แน่น ... ก็พอแล้วค่ะ
พอผูกเชือกเสร็จแล้ว ก็นำเอาไปผูกแขวนไว้กับอะไรก็ได้ .... แต่ให้แขวนไว้ในลักษณะแบบนี้นะคะ ซึ่งการแขวนแบบนี้ จุดประสงค์ก็เพื่อให้น้ำที่ปนอยู่ในเนื้อลูกตาลหยดลงมาให้หมด จนเหลือแค่เพียงเนื้อลูกตาลเพียงอย่างเดียว.... ซึ่งถ้าเป็นสมัยโบราณจะใช้วิธีการแขวนข้ามคืนค่ะ คือ แขวนทิ้งไว้ตั้งแต่หัวค่ำ แล้วตอนเช้าก็มาเก็บไป ... แต่ปัจจุบันบางคนอาจไม่สะดวกที่จะทำแบบนั้น ก็จะใช้วิธีการแขวนทิ้งไว้ประมาณ 8-10 ชม. แทนก็ได้ค่ะ
แล้วพอรุ่งเช้ามา .... ในห่อผ้าขาวบางที่เราแขวนเอาไว้ ก็จะเหลือแค่เพียงเนื้อตาลที่แฉะๆ หน่อยเท่านั้นเองค่ะ .... ซึ่งเนื้อตาลที่ได้ในขั้นนี้ พิมเรียกว่าเนื้อตาล Step ที่3 หรือเนื้อตาลที่เกรอะเรียบร้อยแล้ว ... พร้อมเอามาทำขนมตาลล่ะค่ะ
แต่ถ้าหากเรายังไม่ได้ทำขนมตาลในทันที หรือว่าทำแต่ใช้เนื้อตาลไม่หมด ..... ก็ให้เราตักเอาเนื้อตาลเก็บใส่ถุงหรือขวดเอาไว้ แล้วแช่ตู้เย็นช่องธรรมดาเพื่อเก็บรักษาเนื้อตาลไว้นะคะ .... ซึ่งการเก็บรักษาเนื้อตาลแบบนี้ จะช่วยยืดอายุเนื้อตาลไว้ให้เราได้ทำขนม ....ได้ประมาณ 3 อาทิตย์โดยไม่ต้องใช้สารอะไรช่วยเลยค่ะ
ส่วนสูตรขนมตาลที่พิมว่าอร่อย .... และอยากให้เพื่อนๆ ได้ลองก็คือ สูตรนี้ เลยค่ะ ... ยังไงถ้าเพื่อนๆ สนใจ ก็ลองดูกันได้นะคะ ^^