ช่วงนี้พิมเห็นเพื่อนๆ ในเฟสบุ๊คเค้านิยมทำวุ้นสลับสีกัน แอบกลัวตกเทรนด์ ก็เลยขอทำบ้างค่ะ ^_^
พูดถึงวุ้น ... จะว่าไปแล้ว เป็นขนมที่พิมคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็กๆ เลยค่ะ สมัยตอนพิมยังเด็กๆ หน้าบ้านพิมเป็นคลอง ทุกบ่ายก็จะมีเรือพายลำเล็กๆ ของ "ยายวน" พายเรือมาขายกาแฟ ขายขนมสารพัดสารพัน (รวมถึงขายตุ๊กตากระดาษด้วย ^^") แล้วสมัยนั้น มันไม่มีร้านค้าแบบในสมัยนี้ ทุกวันพิมก็จะตั้งตาตั้งตารอเรือยายวนนี่แหละค่ะ
สมัยนั้น (ประถมต้น) จำได้ว่า แม่ให้พิมไปกินโรงเรียนวันละ 3 บาท แต่ถ้าวันไหนไม่ได้ไปโรงเรียนก็อดได้ T___T แต่ถ้าเรือยายวนมา แม่ก็จะให้ 1 บาท เอาไปซื้อขนมยายวนนี่แหละค่ะ ซึ่งมันเป็นอะไรที่ยากลำบากมาก เพราะขนมยายวนมีเต็มเรือเลยค่ะ ตั้งแต่หัวเรือ กลางเรือ ไปจนถึงท้ายเรือ >_< นับได้หลายสิบอย่าง แต่ถึงจะมีเยอะมากแค่ไหน ก็เลือกได้เพียงแค่ 1 อย่างเท่าที่เงิน 1 บาทจะซื้อได้ ..... เท่านั้น >_< และขนมของยายวนที่พิมซื้อบ่อยมากๆ เลย ก็คือ วุ้นในหลอดกาแฟ...ที่แช่เย็นๆ นี่แหละค่ะ เพราะนอกจากจะทั้งหวาน หอม เย็น อร่อยแล้ว ด้วยเงิน 1 บาทก็ยังซื้อได้ตั้ง 3-4 อันแน่ะค่ะ ^_^
เพราะงั้นวันนี้พิมก็เลยจะมาชวนเพื่อน ๆ ระลึกถึงความหลังของพิมด้วยการทำวุ้นกันสักหน่อยค่ะ แต่ว่าขออัพเกรดเป็นวุ้นสลับสีในถ้วยสี่เหลี่ยมสวยๆ แทนนะคะ ^__^
แต่ก่อนจะไปลงมือทำกันเนี่ย พิมขออธิบายนิดนึงนะคะว่า วุ้นสลับสีที่เราจะทำกันในวันนี้เนี่ยโดยหลัก ๆ ก็จะมี 2 ชั้นด้วยกัน คือ ชั้นของวุ้นสี (วุ้นใส) กับชั้นของวุ้นกะทิ ดังนั้นแล้วตอนเราเคี่ยววุ้น เราจะต้องทำ 2 วุ้นนะคะ ส่วนสีเขียวสีม่วงในส่วนของวุ้นสี เดี๋ยวเราค่อยเอาวุ้นใสที่ผสมแล้ว มาแบ่งใส่สีตอนก่อนจะหยอดอ่ะค่ะ
:: ส่วนผสม "วุ้นสี" ::
- วุ้นผง 3/4 ชต. (ถ้าชอบให้แข็งนิดนึง เพิ่มเป็น 1 ชต.)
- น้ำลอยดอกมะลิ 3 ถ้วย
- น้ำตาลทราย 1 ถ้วย (สูตรนี้จะหวานไม่มาก ถ้าชอบหวานมาก อาจจะเพิ่มน้ำตาลเป็น 1 + 1/4 ถ้วย ก็ได้ค่ะ)
- สีผสมอาหารตามชอบ (พิมใช้สีเขียวแอ๊ปเปิ้ล สีม่วง และสีแดงสตรอเบอรี่ แบบสีน้ำ)
- รายละเอียดเกี่ยวกับการตวง ถ้วยคืออะไร ถ้วยตวง ชต. ชช. ช้อนตวงคืออะไร วิธีการใช้ถ้วยตวง ช้อนตวง >> คลิ๊กที่นี่ <<
:: ส่วนผสม "วุ้นกะทิ" ::
- วุ้นผง 1.5 ชต.
- น้ำลอยดอกมะลิ 2 ถ้วย
- น้ำตาลทราย 1/3 ถ้วย
- หัวกะทิ 2.5 ถ้วย
- เกลือป่น 1/2 ชต.
- แป้งข้าวเจ้า 3/4 ชต.
- รายละเอียดเกี่ยวกับการตวง ถ้วยคืออะไร ถ้วยตวง ชต. ชช. ช้อนตวงคืออะไร วิธีการใช้ถ้วยตวง ช้อนตวง >> คลิ๊กที่นี่ <<
:: วิธีทำ ::
ในขั้นตอนของการทำวุ้นทั้งสองแบบเนี่ย พิมขอบอกก่อนเลยค่ะว่ามีขั้นตอนเหมือนกันเป๊ะๆ ต่างกันแค่ตอนสุดท้ายของวุ้นกะทิ ที่เราจะมีการใส่กะทิลงไปผสมเท่านั้นเองค่ะ ^__^ แต่เราไม่สามารถที่จะผสมส่วนผสมของทั้งสองวุ้นรวมกันแล้วค่อยมาแบ่งใส่กะทิทีหลังได้ เพราะอัตราส่วนบางอย่างมันต่างกันนะคะ
โอเค .. เมื่อเข้าใจตรงกันแล้วก็มาลงมือทำกันเลยค่า
เริ่มต้นเรามาทำส่วนของวุ้นสี (วุ้นใส) ก่อนนะคะ .... ให้เราหาหม้อมา 1 ใบ ใส่ผงวุ้นลงไป ตามด้วยน้ำลอยดอกมะลิ (วิธีทำน้ำลอยดอกมะลิ ดูตอนท้ายสุด) คนพอวุ้นเข้ากับน้ำ พักไว้ประมาณ 10 นาที
ก็นำหม้อขึ้นตั้งไฟ ใช้ไฟกลางค่ะ ใช้ตะกร้อมือคนจนวุ้นละลาย ก็ใส่น้ำตาลทรายลงไป คนจนน้ำตาลละลายหมด
ก็กรองด้วยผ้าขาวบางสักรอบนึง แต่พิมหาผ้าขาวบางไม่เจอ - -" ก็เลยกรองด้วยกระชอนตาถี่ ๆ แทนนะคะ
แล้วเอาขึ้นตั้งเตาอีกรอบ ใช้ไฟอ่อน เคี่ยวไปเรื่อยๆ ประมาณสัก 10-15 นาที หรือจนกระทั่งวุ้นตึงๆ มือ เหนียวนิด ๆ ก็ปิดไฟเตา แล้วเอาหม้อวุ้นหล่อ (แช่) ไว้ในภาชนะที่มีน้ำร้อน เพื่อไม่ให้วุ้นแข็งตัวค่ะ
ต่อมาเราก็จะมาทำในส่วนของวุ้นกะทิกันต่อเลยนะคะ
ก็ให้เราเทผงวุ้นผสมกับน้ำลอยดอกมะลิ พักไว้ประมาณ 5 นาที แล้วนำขึ้นตั้งไฟ ใช้ไฟกลางคนจนวุ้นละลาย ก็ใส่น้ำตาลทรายลงไป คนให้น้ำตาลละลาย ก็กรองด้วยผ้าขาวบางสักรอบนึง แล้วเทใส่กลับหม้อใบเดิม ใช้ไฟอ่อน เคี่ยววุ้นไปประมาณสัก 10 นาที จนกระทั่งวุ้นเหนียวนิด ๆ ก็เทหัวกะทิที่ผสมกับแป้งข้าวเจ้าและเกลือป่นใส่ลงไปค่ะ คนให้เข้ากันดี จนแป้งสุก ก็ปิดไฟเตา
เพิ่มเติม :: วิธีผสมหัวกะทิกับแป้งข้าวเจ้าก็คือ ตวงแป้งข้าวเจ้าใส่ลงในถ้วย/ชามใบใหญ่ ใส่กะทิลงไปสักครึ่งนึง ใช้ตะกร้อมือคนให้แป้งละลาย ใส่เกลือและหัวกะทิที่เหลือตามลงไป คนให้เข้ากันอีกที ก็ใช้ได้ล่ะค่ะ
แล้วเอาหม้อวุ้นกะทิหล่อ (แช่) ไว้ในกาละมัง/หม้อน้ำร้อน เช่นเดียวกับหม้อวุ้นสีนะคะ ^__^
จากนั้นก็มาถึงขั้นตอนของการหยอดวุ้นลงพิมพ์ล่ะค่ะ ซึ่งในชั้นแรกเพื่อนๆ จะหยอดวุ้นสีหรือวุ้นกะทิก่อนก็ได้ ตามที่ชอบเลยนะคะ ... แต่จากในสูตรเนี่ย ปริมาณวุ้นกะทิจะมีมากกว่า ดังนั้นแล้วถ้าไม่หยอดวุ้นกะทิก่อน ในแต่ละชั้นก็ควรจะหยอดวุ้นกะทิให้มีความหนามากกว่าวุ้นสีสักหน่อยนึงค่ะ จะได้พอดีกัน
สำหรับพิม ... ขอเลือกหยอดวุ้นใสก่อนล่ะค่ะ ซึ่งสีของวุ้นใสเนี่ยถ้าเพื่อนๆ ชอบสีไหน อยากได้สีไหนก็ผสมสีตามชอบเลยนะคะ ของพิมเนี่ยก็ขอเลือกเป็นสีม่วงกะสีเขียวล่ะกันค่ะ ส่วนสีแดงเดี๋ยวเอาไว้ทำอย่างอื่น (มีแค่ 3 สี - -")
วิธีผสมสีของพิมก็คือ ตักวุ้นใส (ร้อนๆ) ใส่ลงในถ้วยที่มีปากสำหรับเท ใช้หลอดกาแฟดูดสีน้ำจากในขวด มาใส่ลงในวุ้น 1 หยด เอาช้อนคนให้เข้ากัน ถ้ารู้สึกว่าสีอ่อนไปก็หยดสีเพิ่มอีก 1 หยด คนให้เข้ากัน ถ้าได้ความเข้มของสีถูกใจแล้วก็พอ แต่ถ้ายังไม่ถูกใจก็หยดเพิ่มได้ตามชอบค่ะ แต่สีอ่อนจะดูน่าทานกว่าสีเข้มเกินนะคะ ^__^ ........... ของพิมก็ได้ออกมาเป็นแบบนี้ค่ะ
เพิ่มเติม :: วิธีผสมสีในถ้วยแรก ถ้านึกไม่ออกว่าจะผสมสีวุ้นใสในปริมาณกี่ถ้วยกี่ช้อนโต๊ะดี ก็ลองทำแบบพิมดูนะคะ คือ ตามสูตรนี้เนี่ยจะใส่ได้ประมาณ 10 ถ้วยขนาดในภาพ (แต่พิมใส่ 11 ถ้วย เพราะตั้งใจให้เหลือพื้นที่ด้านบนไว้ตกแต่งด้วยวุ้นกุหลาบอีกที) ซึ่งในแต่ละถ้วย ถ้าใส่วุ้นถ้วยละ 1 ช้อนโต๊ะใน 1 ชั้น ก็เท่ากับ 1 ชั้นจะใช้วุ้นใสประมาณ 10 ช้อน เราก็ตักวุ้นใสใส่ถ้วยที่จะผสมสี 10 ช้อน แล้วค่อยหยดสีผสมอ่ะค่ะ หากขาดเหลือก็เพียงแค่นิดหน่อยเท่านั้น ^__^ แล้วก็ดูระดับขีดในถ้วยเอาไว้นะคะ ว่าอยู่ที่ขีดประมาณไหน ในชั้นต่อไป จะได้ไม่ต้องตวงด้วยช้อนอีกแล้วอ่ะค่ะ
แล้วก็ใช้ช้อนตักหยอดใส่ถ้วย ... ในภาพด้านล่างนี่ พิมใส่ไปประมาณถ้วยละ 1 ช้อนโต๊ะ หรือช้อนกินข้าวช้อนสั้นอ่ะค่ะ
พักไว้ให้วุ้นชั้นแรกของเราเซตตัว ผิวหน้าตึงนิด ๆ ก็หยอดวุ้นกะทิใส่ลงไป (พิมใส่ 1.5 ชต) ....... ซึ่งวุ้นกะทินี่เราไม่ต้องผสมสีนะคะ ตักจากหม้อหยอดลงไปในถ้วยได้เลยค่ะ
พอวุ้นกะทิชั้น 2 เริ่มเซตตัว ก็ตักวุ้นใสมาผสมสีเพิ่ม ซึ่งในชั้นนี้พิมจะใช้สีเขียวนะคะ
ผสมเสร็จ ก็หยอดเหมือนเดิม
แล้วที่เหลือก็หยอดวุ้นกะทิสลับกับวุ้นใส (วุ้นสี) ไปเรื่อย ๆ จนสุดท้ายก็จบด้วยวุ้นกะทิแบบนี้นะคะ ........ แล้วพักไว้ให้เย็น ก่อนจะนำเข้าแช่ตู้เย็นให้เย็น ๆ ค่ะ ^_^
อ้อ ๆ เกือบลืมๆ ....... ตอนที่หยอดเสร็จ หากมีฟองอากาศที่ผิวหน้าของวุ้น ให้เราเอาไม้จิ้มฟันสะอาดๆ จิ้มลงไปที่ฟองอากาศให้มันแตกออก ผิวหน้าวุ้นของเราจะได้เรียบสวยงามแบบนี้นะคะ
แล้วเราก็จะได้วุ้นสลับสีออกมาหน้าตาน่าทานแบบนี้แหละค่ะ ^_^
และถ้าเพื่อนๆ มีผงวุ้นเหลือ และมีพิมพ์วุ้นน่ารักๆ (พิมใช้พิมพ์ซิลิโคน ซื้อมาจาก IKEA & Amazon) ก็ให้ทำวุ้นใสอีกสัก 1 สูตรนะคะ แล้วเอามาผสมสีสวยๆ หยอดลงใส่พิมพ์
ก็จะได้วุ้นน่ารัก ๆ แบบนี้ค่ะ (ในภาพนี่พิมแกะวุ้นออกมาจากพิมพ์แล้วค่ะ)
ซึ่งเพื่อนๆ สามารถเอาวุ้นน่ารักด้านบนเนี่ย มากินเล่นแบบชิลด์ ๆ หรือจะเอามาประดับในถ้วยวุ้นสลับสีของเราแบบนี้ก็ได้ค่ะ
ยังไงไปลองทำกันดูนะคะ ...... แล้วพบกันใหม่กับเมนูขนมหวานอันถัดไปจ้า ^_^
เพิ่มเติม :: วิธีทำน้ำลอยดอกมะลิคือ เก็บดอกมะลิดอกตูมที่มีสีขาว (ใกล้บาน) ตอนหัวค่ำ มาเด็ดขั้วออก แล้วล้างอย่างเบามือ พักให้สะเด็ดน้ำ ..... เทน้ำสะอาด (น้ำฝน-น้ำต้มสุก พักให้เย็นสนิท) ใส่หม้อเคลือบ วางดอกมะลิลงไปอย่างเบามือ ปิดฝาให้สนิท พอรุ่งเช้าก็ค่อยเปิดฝาเก็บดอกมะลิออก เราก็จะได้น้ำลอยดอกมะลิที่หอมกลิ่นดอกมะลิมากๆ เลยค่ะ .... ย้ำๆ อย่าปล่อยให้ดอกมะลิลอยอยู่ในน้ำจนถึงตอนสาย เพราะจะกลายเป็นน้ำมีกลิ่นเหม็นแทนกลิ่นหอมอ่ะค่ะ
เพิ่มเติม :: อย่าลืมนะคะ สำคัญมากๆ หลังจากที่เราผสมวุ้นใส และวุ้นกะทิเสร็จเรียบร้อยแล้ว ระหว่างรอหยอดใส่พิมพ์ เราจะต้องเอาหม้อวุ้นแต่ละหม้อ แช่ไว้ในภาชนะที่มีน้ำร้อน เพื่อไม่ให้วุ้นในหม้อแข็งตัวนะคะ ซึ่งวิธีแช่หม้อของพิมก็คือ เอาหม้อวุ้นวางในกาละมังแสตนเลสหรือหม้อที่ใบใหญ่กว่าที่มีน้ำร้อนอยู่ แล้วเอากาละมังนั้นตั้งบนเตาแก๊ส เปิดไฟอ่อนมากๆ ไว้ตลอด จนกระทั่งหยอดวุ้นเสร็จครบทุกชั้นเลยค่ะ