เช้าวันนี้เนี่ยก็เป็นเช้าวันที่ 2 ของทริป "ตะลุยเมืองชล ค้นหาของกิน ถิ่นห้ามพลาด" ของพิมกับคุณสามีแล้วนะคะ
เช้านี้เนี่ยพิมมีแพลนว่าจะไปดูเค้าเผาข้าวหลาม ซึ่งเป็นหนึ่งในของดีเมืองชลกันที่ร้านแม่นิยม ซึ่งอยู่หลัง ม. บูรพา บางแสนอ่ะค่ะ (แพลนมาตั้งแต่ 1 เดือนก่อนมาแหละ ^^) คือพิมน่ะเป็นคนชอบกินข้าวหลามนะคะ แต่ไม่เคยรู้เลยว่าข้าวหลามเค้ามีขั้นตอนในการทำยังไง มีการเผายังไง แล้วพอได้รู้มาว่ายังคงมีร้านนึง ก็คือ ร้านแม่นิยมนี่แหละค่ะ ที่เค้ายังคงทำไปเผาไปขายไป แล้วเปิดให้คนทั่วไปเข้าไปชมวิธีการทำวิธีการเผาได้ พิมก็เลยเกิดความสนใจ และอยากลองไปดูด้วยตาตัวเองสักครึ่งนึงนะคะ
แต่ด้วยความที่เตาแรกเค้าจะเริ่มเผากันตอนประมาณตี 4 และในการเผา 1 รอบจะใช้เวลาถึง 3-4 ชม. เพราะงั้นถ้าจะไปดู ไปถ่ายรูป หรือไปศึกษา ก็ต้องไปถึงร้านแม่นิยมสักประมาณไม่เกินตี 5 อ่ะค่ะ ^^" ซึ่งพอเห็นตัวเลขเวลาแล้ว พิมก็แอบคิดในใจว่าแล้วพิมจะตื่นไหวไหมน๊าาาา คือตอนแรกนี่ลังเลสุด ๆ เลยนะคะ แต่พอมาคิดอีกทีไหน ๆ มาถึงชลบุรีแล้ว และพิมก็อยากเห็นขั้นตอนการทำข้าวหลามมานานแล้ว เพราะงั้นตื่นเร็วกว่าปกติสัก 3-4 ชม. ไม่เห็นจะเป็นไรเลย ...... สบายๆ ค่า (ฮ่าๆ)
พูดถึงข้าวหลามแม่นิยมแล้ว พิมเชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยได้ยินชื่อกันมาบ้าง โดยเฉพาะคนที่ไปชลบุรีบ่อย ๆ หรือยู่ชลบุรีนะคะ .... ข้าวหลามแม่นิยมเนี่ยเป็นข้าวหลามที่เริ่มขายมาตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์อ่ะค่ะ โดยแต่เดิมคุณยายนิยม (เจ้าของร้าน ตอนนี้อายุกว่า 80 ปีแล้ว) จะเผาข้าวหลามที่บ้าน แล้วนำไปขายที่ตลาดหนองมนนะคะ ซึ่งในยุคนั้นเนี่ยก็จะมีคนมาขายข้าวหลามแค่ไม่กี่เจ้าเท่านั้นเองอ่ะค่ะ แต่ต่อมาภายหลังด้วยความที่อยากให้ลูกค้าได้กินข้าวหลามแบบสดใหม่ คุณยายก็เลยกลับมาขายที่บ้านแทน โดยจะทำการเตรียมข้าวหลามที่หลังบ้าน แล้วข้ามเอาไปเผาตรงที่ว่างฝั่งตรงข้ามบ้าน จากนั้นก็เอากลับมาวางขายที่หน้าบ้านนะคะ ^_^
ซึ่งเสน่ห์ของข้าวหลามแม่นิยม นอกจากความสดใหม่ที่แบบเผาไปขายไปแล้ว ก็คือ ของกรรมวิธีในการเผาอ่ะค่ะ โดยข้าวหลามแม่นิยมเป็นข้าวหลามเจ้าเดียวในจังหวัดชลบุรี ที่ยังทำการเผาด้วยฟืนจากกาบมะพร้าวตามวิธีการเผาแบบโบราณนะคะ ซึ่งเจ้าสิ่งนี่แหละที่กลายเป็นเสน่ห์ให้ข้าวหลามแม่นิยม ได้รับความนิยมตลอดมาอ่ะค่ะ ^_^
กรรมวิธีในการทำข้าวหลามของแม่นิยม จะเริ่มต้นจากการนำกระบอกไม้ไผ่มาตัดให้เป็นท่อนสั้นตามความต้องการก่อนนะคะ ซึ่งไม้ไผ่ที่จะนำมาใช้ทำเป็นกระบอกข้าวหลามเนี่ย คุณยายนิยมบอกว่าเมื่อก่อนจะใช้เป็นไผ่สีสุก เพราะเป็นไผ่ชนิดเดียวที่มีเยื่อข้างใน แต่ในปัจจุบันด้วยความที่ไผ่สีสุกเริ่มหายาก ก็เลยมีการปรับเปลี่ยนมาใช้เป็นไผ่ทั่ว ๆ ไป อย่างไผ่ตรง ไผ่ป่าแทนอ่ะค่ะ ซึ่งไผ่พวกนี้คุณยายก็จะรับซื้อมาจากชาวบ้านแถวกาญจนบุรีนะคะ
และเมื่อตัดไผ่เป็นท่อนเรียบร้อยแล้ว คุณยายก็จะเอาข้าวเหนียวที่แช่น้ำไว้จนนุ่มแล้ว พร้อม ๆ กับถั่วดำ หรือบางทีก็เป็นมะพร้าวอ่อน เผือก มากรอกใส่กระบอกที่เตรียมรอไว้อ่ะค่ะ
จากนั้นคุณยายก็นำกระบอกไปปักลงบนดินตรงจุดที่จะใช้ที่เผาเผาข้าวหลาม โดยปักให้มีความลึกประมาณ 2 นิ้ว และเรียงกันเป็นแถวตามแนวยาวนะคะ เสร็จแล้วคุณยายก็จะค่อย ๆ เทน้ำกะทิใส่ลงไปในแต่่ละกระบอก แล้วก็เริ่มจุดไฟเพื่อเผาข้าวหลามอ่ะค่ะ
สำหรับวัสดุที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผาข้าวหลาม คุณยายเล่าให้ฟังว่า หลักๆ ก็จะใช้เป็นกาบมะพร้าวที่เป็นกาบแข็ง ๆ นะคะ โดยข้าวหลาม 1 ชุด เนี่ย จะใช้เวลาในการเผาประมาณ 3-4 ชม. ขึ้นอยู่กับขนาดกระบอกและปริมาณข้าวเหนียวที่อยู่ในกระบอกอ่ะค่ะ โดยในระหว่างการเผา ไม่ใช่ว่าแค่จุดไฟแล้วก็จบนะคะ แต่จะต้องคอยดูความแรงของไฟตลอดเวลา หากไฟแรงเกินก็จะต้องคอยเขี่ยถ่านออก และหากไฟอ่อนเกิน ก็จะต้องคอยเขี่ยถ่านให้เข้าไปใกล้ ๆ กระบอกด้วยอ่ะค่ะ ^_^
และเมื่อข้าวหลามสุกดีแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะหยิบขึ้นมาวางขายได้เลยนะคะ แต่จะต้องเอาไปล้างทำความสะอาดและเช็ดให้แห้งก่อน ถึงจะเอามาขึ้นมาวางที่หน้าร้านได้อ่ะค่ะ
ปัจจุบันข้าวหลามป้านิยมราคาเริ่มต้นอยู่ที่กระบอกละประมาณ 25-30 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับขั้นตอนในการทำ รสชาติ ความหอม และปริมาณข้าวหลามในกระบอกแล้ว พิมว่าเป็นราคาที่ถูกมากๆ เลยอ่ะค่ะ เพราะงั้นแล้วใครที่ชอบข้าวหลามแบบพิม ผ่านมาแถวบางแสน อย่าลืมแวะซื้อข้าวหลามแม่นิยมไปชิมกันนะคะ ^_^
จากร้านแม่นิยม เหลือบตาดูนาฬิกาก็ปาเข้าไปเกือบ 8 โมงแล้วอ่ะค่ะ ตอนแรกพิมคิดว่าจะไปหาอะไรกินเป็นมื้อเช้าก่อนที่จะกลับโรงแรมนะคะ (ที่โรงแรมไม่มีมื้อเช้าจ้า) แต่เอาเข้าจริงอาจจะเพราะว่ามันยังเช้าเกิน พิมก็เลยไม่ค่อยรู้สึกหิวเท่าไหร่อ่ะค่ะ ก็เลยตัดสินใจกลับไปที่โรงแรมก่อนดีกว่า เพื่อไปอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า แล้วค่อยเช็คเอ้าท์ออกมาหาข้าวกิน ..... น่าจะดีกว่านะคะ
แล้วหลังจากที่อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า และพักสายตากันไปนิดนึงแล้ว ประมาณสัก 10 โมงกว่าๆ พิมก็ได้ฤกษ์เช็คเอ้าท์ออกมาจากโรงแล้วเพื่อไปหาข้าวมื้อเช้ากินแล้วอ่ะค่ะ ^_^
จากโรงแรม .... จุดหมายสำหรับมื้อเช้าของพิม อยู่ที่ร้านป้าอ่อนกอกก๊วน ที่อยู่ภายในตัวเมืองจังหวัดชลบุรีนะคะ
ร้านป้าอ่อนกอกก๊วน เป็นร้านอาหารตามสั่งสไตล์บ้าน ๆ ที่อยู่ใกล้กับศาลเจ้าโจวซือกงและปุนเถ้ากงอ่ะค่ะ (สามารถจอดรถในบริเวณศาลเจ้าได้เลยนะคะ) ... จริง ๆ ก่อนหน้านี้พิมไม่เคยรู้จักร้านป้าอ่อนมาก่อนเลยนะคะ จนกระทั่งวันนึงเมื่อราว 6-7 เดือนที่แล้ว ขณะที่พิมกำลังนั่งหาข้อมูลเกี่ยวกับจังหวัดชลบุรี ว่าถ้ามาชลบุรีจะไปกินอะไรดี พิมก็ไปเจอกับกระทู้รีวิวร้านอาหารของร้านป้าอ่อนโดยบังเอิญอ่ะค่ะ ซึ่งจากรูปที่คนเค้าไปกินแล้วถ่ายมารีวิว (เป็นคนพื้นที่ ๆ เป็นขาประจำร้านป้าอ่อน) ก็ทำให้พิมตัดสินใจว่าสักวันพิมจะต้องมากินข้าวที่ร้านป้าอ่อนให้ได้นะคะ ^_^
ร้านป้าอ่อนถึงจะเป็นร้านอาหารตามสั่ง แต่เอาจริงก็จะมีเมนูตามสั่งไม่มากนักอ่ะค่ะ หลัก ๆ ก็จะมีแค่ข้าวผัด ผัดผงกะหรี่ ผัดกะเพรา ผัดกระเทียมพริกไทย อะไรประมาณนี้นะคะ แต่ถึงร้านป้าอ่อนจะมีเมนูให้สั่งอยู่แค่ไม่กี่เมนู ชาวบ้านแถวนี้ก็นิยมมาทานอาหารที่ร้านป้าอ่อนกันมากมายเลยค่ะ ไม่ว่าจะมากินที่ร้าน หรือสั่งไปเป็นอาหารกล่อง เพราะทีเด็ดของร้านป้าอ่อนไม่ใช่อยู่ที่จำนวนเมนูนะคะ แต่อยู่ที่อาหารทะเลสด ๆ ไม่ว่าจะเป็นกุ้งสด หมึกสด กั้ง หอยเชลล์ เนื้อปู ไข่ปู ที่ป้าอ่อนคัดสรรเอามาใช้เป็นวัตถุดิบอ่ะค่ะ ^_^
สำหรับอาหารที่พิมสั่งมาทานในวันนี้ ใจจริงพิมก็อยากจะลองหลายๆ อย่างเลยนะคะ แต่ด้วยความที่แต่ละจานมีปริมาณเยอะมาก (ดูเอาจากที่โต๊ะอื่นสั่ง) และพิมก็แอบอิ่ม ๆ จากข้าวหลามเมื่อเช้าไปเกือบครึ่งกระเพาะแล้ว มื้อนี้พิมก็เลยขอสั่งให้ตัวเองแค่จานเดียว คือ ผัดผงกะหรี่ทะเลราดข้าว และก็สั่งให้คุณสามีอีก 1 จาน คือ ผัดกะเพรารวมมิตรทะเลอ่ะค่ะ
ซึ่งหลังจากได้ชิมแล้ว ในเรื่องความสดและปริมาณของเนื้อสัตว์ พิมยกนิ้วให้เลยอ่ะค่ะ เอาไป 100 เต็ม 100 เลยค่ะป้าอ่อน แบบว่าทั้งสดและเยอะจริงๆ (เยอะขนาดพิมกินไม่หมดนะคะ - -") แต่ในส่วนของรสชาติ ทั้งผัดกะเพราและผัดผงกะหรี่แอบติดหวานนิดนึงตามสไตล์คนชลบุรี แต่ถ้าเหยาะน้ำปลาลงไปสักหน่อย ก็โอเคเลยอ่ะค่ะ ^_^
(คุณสามีกินน่าเอร็ดอร่อยมากกกกกกก)
จากร้านป้าอ่อน หลังจากที่พิมกินข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ระหว่างเดินกลับไปยังที่จอดรถ พิมก็เจอเข้ากับร้านกุยช่ายทอดสไตล์ชลบุรีร้านนึงนะคะ ที่ตอนขาไปพิมไม่ทันสังเกตุ เพราะว่าร้านพี่เค้าปิดอยู่อ่ะค่ะ ^^ (ร้านพี่เค้าเปิด 11 โมง อยู่ในซอยเดียวกับร้านป้าอ่อนเลย)
ตอนแรกที่พิมเห็นป้ายว่าเค้าขายกุยช่ายทอดเนี่ย บอกตรง ๆ ว่าพิมไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่นะคะ เพราะที่กรุงเทพฯ ก็มีกุยช่ายทอดเยอะแยะมากมาย เอาเฉพาะที่ตลาดนัดตอนเย็นแถวบ้านพิมก็ 3 เจ้าเข้าไปแล้วอ่ะค่ะ (อันนี้ไม่นับกุยช่ายนึ่งนะคะ) จนกระทั่งแว๊บบบบนึง พิมเห็นพี่เค้าหยิบแป้งขึ้นมาแผ่เป็นแผ่นบาง ๆ แล้วตักไส้กุยช่ายใส่ลงไป จากนั้นก็บีบแผ่นแป้งให้ติดกันจนได้เป็นลูกแป้งกลมๆ รี ๆ ยาวๆ แล้วพี่เค้าก็เอาปทอดในน้ำมันร้อนจนกระทั่งสุกเหลืองกรอบทั่วทั้งชิ้น ..... พิมถึงได้รู้ว่านั่นคือกุยช่ายทอดสไตล์ชลบุรี ซึ่งต่างจากกุยช่ายทอดที่พิมเคยกินมาทั้งชีวิตมากๆ เลยอ่ะค่ะ ^_^
กุยช่ายทอดสไตล์ชลบุรี จะมีลักษณะเป็นกุยช่ายที่ตัวยาว ๆ รี ๆ สีเหลืองทองนะคะ (บางร้านก็ตัวแบน ๆ บางร้านก็ตัวอ้วนกลม) โดยกุยช่ายแบบนี้เนี่ย เค้าจะกินกับน้ำจิ้มสีแดงที่มีซอสพริกเป็นส่วนผสม และรสชาติออกเปรี้ยวๆ หวานๆ ค่ะ ซึ่งเท่าที่พิมได้ลองซื้อมาชิม 40 บาท (6 ตัว) รสสัมผัสของแป้งจะคล้าย ๆ เกี๊ยวซ่า แต่ไส้ข้างในก็จะเหมือนกุยช่ายตามปกติทั่วไปนะคะ .... สรุปแล้วก็อร่อย และเป็นอีกไอเทมนึงที่ถ้ามาชลบุรี ก็ควรจะต้องลองมาชิมดูอ่ะค่ะ ^_^
(มีขายหลายเจ้า ตามที่พิมหาข้อมูลมา เค้าว่าเจ้าดั้งเดิมเค้าว่าอยู่แถวพนัสนิคม เป็นเจ้าที่ปัจจุบันทำส่งขายให้หลาย ๆ ร้าน แต่เจ้าที่ขายมานานและอร่อยอีกเจ้านึง จะอยู่แถวเฉลิมไทยนะคะ)
เนื่องจากว่าภารกิจของพิมในวันนี้ เน้นกินและเน้นช๊อปปิ้งของฝาก อาหารซะหน่อยเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นแล้วจากจากซอยก๊อกก๊วน จุดหมายถัดไปของพิมก็คือ สะพานราชนาวี ที่อยู่แถว ๆ แหลมแท่นนะคะ ^^
หลายคนอาจจะสงสัยว่าเอ๊ะ พิมมาทำอะไรที่สะพานราชนาวี คืองี้ค่ะ จากที่เมื่อหลายเดือนก่อนพิมไปเดินสะพานปลาอ่างศิลา แล้วก็มีน้องคนนึงถามพิมว่า พี่พิมไปเดินทำอะไรคะที่สะพานปลา เพราะถ้าพี่พิมจะซื้อกั้งซื้อปู หนูแนะนำให้ไปที่แถวสะพานราชนาวีตรงแหลมแท่นดีกว่านะคะ เพราะตรงนั้นแม้ชนิดปลาจะน้อย แต่ความสดและราคานี่ดีงามสุดๆ ...... พิมก็เลยเกิดความสนใจขึ้นมาอ่ะค่ะ ^^
พูดถึงสะพานราชนาวีแล้ว หลายคนที่เป็นนักท่องเที่ยวน่าจะรู้จักสะพานราชนาวีหรือแหลมแท่นในมุมมองของคนที่ชอบมายืนดูวิวทะเลสวย มานั่งรับลมทะเลเย็นๆ หรือในมุมมองของคนที่ชอบมานั่งตกปลาตอนกลางคืนทำนองนั้นนะคะ (พิมเคยดูเพื่อนๆ ในเฟส เค้ามานั่งตกปลาที่นี่ตอนกลางคืน ได้ปลาสาก ปลาอีโต้ตัวใหญ่ ๆ กันคนละหลายตัวเลยค่า) แต่จะมีใครบ้างที่รู้ว่า แหลมแท่นเนี่ยก็เป็นอีกจุดนึงที่เพื่อน ๆ สามารถจะมาหาซื้ออาหารทะเลสด ๆ ได้นะคะ ^_^
ตอนแรกที่เพื่อนรุ่นน้องของพิมบอกกับพิมว่า อาหารทะเลที่นี่สดมาก.ก.กก.ก พิมก็แอบสงสัยนะคะว่าจะสดสักแค่ไหนกัน แต่พอได้ไปดูของจริง เอ่อ... สดจริงค่ะ สดขนาดที่บางทีพิมไปดู กุ้งก็ยังเด้งดึ๋ง ๆ กั้งก็ยังดีดตัวไปมา ปลาก็ยังตาพริบ ๆ อยู่เลยนะคะ ซึ่งที่สดขนาดนี้ได้ก็เพราะว่าพวกกุ้งปูปลาเหล่านี้ ชาวประมงที่เป็นคนแถว ๆ นี้ เค้าออกหากันเอง และเอากลับมาขายกันเอง โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง และไม่ผ่านการดองน้ำแข็งอ่ะค่ะ (ประมาณว่าแกะจากอวนขึ้นมา ก็เอามาวางขายเลย)
ที่สำคัญนอกจากความสดแล้ว อย่างที่พิมบอกไปตอนแรก ราคาอาหารทะเลของที่นี่ก็ยังไม่แพงอีกด้วยนะคะ อย่างกุ้งตัวขนาดที่เห็นในฝ่ามือพิมโลละ 200 เท่านั้นเองค่ะ ถ้าซื้อแถวบ้านพิมและสดขนาดนี้ อย่างน้อยต้องมีสัก 300 ในมือนะคะ หรืออย่างกั้งเป็น ๆ ขนาดที่เห็นในภาพด้านล่าง ก็โลละ 100 บาทเท่านั้นเองอ่ะค่ะ ส่วนปลาใบปอตัวโต ๆ ราคาโลนึงก็ 150 นะคะ หรืออย่างปูม้าเป็น ๆ ก็โลละ 300-400-500 บาทตามขนาดตัวอ่ะค่ะ เพราะงั้นแล้วถ้าใครไปเที่ยวชลบุรี แล้ววันจะกลับหรือวันก่อนกลับ ผ่านแถว ๆ สะพานราชนาวีแหลมแท่นนี่ อย่าลืมจอดแวะซื้ออาหารทะเลกลับไปทำอาหารกินที่บ้านนะคะ เพราะสดและราคาประหยัดจริง ๆ ค่า ^_^
(แต่ข้อด้อย คือ แทบไม่มีให้เลือก และถ้าสมมติว่าก่อนหน้าเรามีคนมาแวะเหมาไปหมด ถ้าเราอยากจะได้ เราก็ต้องนั่งเรือประมงชาวบ้านลำถัดไปที่กำลังจะเข้ามานะคะ แต่ก็ใช้เวลาไม่นานมาก เพราะมีเข้ามาเรื่อย ๆ อ่ะค่ะ)
จากแหลมแท่น .... หลังจากที่พิมช๊อปปิ้งกุ้งไป 1 โล กั้ง 2 โล และปลาอีโต้ 3 ตัว (ปลาอีโต้จะเอาไปทำแกงส้ม กะทอดราดพริกเย็นนี้ค่า) จุดหมายถัดไปของพิมก็อยู่ที่ตลาดหนองมน ซึ่งห่างจากแหลมแท่นไปแค่เพียง 10 กว่านาทีเท่านั้นเองนะคะ
ตอนแรกเนี่ย พิมไม่ได้ตั้งใจว่าจะมาตลาดหนองมนนะคะ เพราะว่าเดี๋ยวนี้เนี่ย ตลาดที่ขายสินค้าเหมือน ๆ กับหนองมน มีเยอะแยะไปหมดแทบจะทุกจุดท่องเที่ยวในชลบุรีเลยอ่ะค่ะ ไม่ว่าจะร้านเล็ก ร้านใหญ่ ร้านขายอย่างเดียว หรือร้านขายของหลายอย่างรวมกัน เรียกว่าขับรถผ่านไปในอาณาเขตบริเวณชลบุรี ยังไงก็เจอนะคะ
แต่เมื่อหลายปีก่อนสมัยตอนพิมยังเด็ก ๆ เนี่ย แม่พิมเค้าชอบพาพิมมาบางแสนค่ะ จริง ๆ เรียกได้ว่าเป็นทะเลแห่งเดียวที่แม่เคยพาพิมมานะคะ ^^ (หลังจากนั้นพอพิมโต ก็พาแม่ไปเที่ยวหลายทะเลแทนค่า) ซึ่งเวลาที่มาบางแสนเนี่ย แทบทุกครั้งแม่พิมก็มักจะต้องแวะหนองมนเสมอ ๆ เพื่อซื้อของฝากโน่นนี่ ไม่ว่าจะเป็นปลาเค็ม หอยแดง ปูม้า หมึกหวาน ข้าวหลาม หนมจาก กลับไปฝากคนที่บ้านและญาติพี่น้องเสมออ่ะค่ะ แต่พอวันเวลาผ่านไป จากที่เคยมาบางแสนหนองมนปีละครั้ง กลายเป็น 3-4 ปีมาครั้ง จนในที่สุดก็ไม่ได้มาเลยอีกนับเป็นสิบปีอ่ะค่ะ
เพราะงั้นแล้วครั้งนี้พิมมีโอกาสได้มาชลบุรี บางแสน ก็ขอแวะตลาดหนองมนเพื่อรำลึกถึงความหวัง และหาของกินอร่อยๆ กลับไปฝากคนที่บ้านพิมสักหน่อยนะคะ
เมื่อเอ่ยถึงตลาดหนองมน พิมเชื่อว่าหลาย ๆ คนน่าจะรู้จักตลาดแห่งนี้ดี เพราะว่าเป็นตลาดที่อยู่คู่เมืองชลบุรีมาหลายสิบปีแล้วอ่ะค่ะ โดยสินค้าที่ขายอยู่ในตลาดหนองมนเนี่ยก็จะมีทั้งอาหารทะเลสด ๆ อย่างปูม้า กุ้ง ปลา มีอาหารทะเลแปรรูปอย่างหอยจ๊อ หมึกสามรส แจงลอน หอยจ๊อ หมึกแห้ง ปลากุเลาเค็ม ปลาอินทรีเค็ม หอยดอง กั้งดองนำ้ปลา ปลาหวาน ฯลฯ แล้วที่สำคัญที่จะไม่พูดถึงซะไม่ได้ ก็คือ ข้าวหลาม และขนมจากนะคะ
ซึ่งในสมัยนั้นเนี่ย สมัยตอนพิมมาเที่ยวหนองมนครั้งแรก ๆ คนขายข้าวหลามหนองมนก็มีอยู่แค่ไม่กี่เจ้าอ่ะค่ะ (โปรดอย่าถามนะคะว่าสมัยนั้นอายุเท่าไหร่ >_<) แต่พอวันเวลาผ่านไป เมื่อชื่อเสียงของความเป็นหนองมนมีมากขึ้น คนทำข้าวหลามมาขายที่หนองมนก็เลยมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนครั้งนี้ที่พิมไปหนองมนมา นับดูเฉพาะร้านขายข้าวหลามในหนองมนก็มีมากกว่า 30 เจ้าแล้วอ่ะค่ะ ^^
เมื่อพูดถึงข้าวหลามหนองมน ... เพื่อน ๆ อาจจะสงสัยว่าแล้วมีที่มาที่ไปยังไง ถึงได้เป็นข้าวหลามหนองมนอย่างทุกวันนี้เน๊าะคะ (ต้องมีสักคนอย่างรู้สิน่าาาา ^^)
คือ สมัยก่อนเนี่ยตอนที่ยังไม่มีการทำข้าวหลามหนองมนขายเป็นเรื่องเป็นเป็นราว ชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านหนองมน เค้าก็มีอาชีพทำนา (ข้าวเหนียว และข้าวเจ้า) เหมือนชาวบ้านทั่วไปอ่ะค่ะ พอทำนาได้ข้าวส่วนนึงก็เอาเก็บไว้กิน แล้วส่วนนึงก็เอาไปขาย .... ในส่วนที่เก็บไว้กิน พอหมดหน้านา ชาวบ้านเค้าก็จะเอาที่เป็นข้าวเจ้ามาทำอาหารกินตามปกติ ส่วนข้าวเหนียวบ้างก็เอามาหุงเป็นข้าวเหนียวนึ่ง บ้างก็เอามาผสมกับน้ำตาลและมะพร้าวทำเป็นข้าวหลามนะคะ ซึ่งสมัยนั้นก็จะเป็นการทำกินแค่เพียงในบ้านเท่านั้นอ่ะค่ะ
ต่อมาเมื่อมีการจัดงานประจำปีที่ศาลเจ้าหลังหมู่บ้านหนองมน (ปีไหน พิมไม่ทราบจริง ๆ แต่คาดว่าก็คงหลายสิบปีแล้ว) จากข้าวหลามที่ทำกินในบ้านเฉย ๆ ก็มีการทำออกมาขายเพื่อให้คนอื่นที่มางานประจำปีที๋ศาลเจ้าได้ลองชิมกันบ้างนะคะ แล้วต่อมาเมื่อมีการตัดถนนสุขุมวิทผ่านใกล้บริเวณศาลเจ้า ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวบางแสนมากขึ้น มีคนแวะเวียนมาชิมข้าวหลามหนองมนมากขึ้น ก็เกิดร้านค้าขายข้าวหลามที่หนองมน รวมถึงร้านค้าขายอย่างอื่นเพิ่มมากขึ้น และในที่สุดก็เลยกลายเป็นตลาดหนองมนที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้อ่ะค่ะ
โดยข้าวหลามที่ขายอยู่ที่ตลาดหนองมนเนี่ย จะแบ่งการเผาออกเป็น 2 แบบ คือ เผาด้วยฟืน (กาบมะพร้าว) ตามวิธีโบราณ กับเผาด้วยแก๊ส ตามวิธีสมัยใหม่นะคะ ซึ่งทั้งสองแบบจะต่างกันที่กลิ่น อันนึงจะเป็นกลิ่นไม้ไผ่แบบทื่อ ๆ แต่อีกอันจะเป็นกลิ่นไม่ไผ่ผสมกลิ่นฟืนอ่ะค่ะ โดยเจ้าที่ยังเผาด้วยฟืน ปัจจุบันมีอยู่ 2 เจ้า ก็คือ ข้าวหลามแม่เผื่อ กับแม่นิยม ...... ซึ่งเพื่อนๆ สามารถซื้อทานได้ตามความชอบเลยนะคะ
(การเผาด้วยฟืน ต้องใช้พื้นที่เยอะ เกิดควันเยอะถึงเยอะมาก หากไม่ได้อยู่ในที่โล้งกว้างแล้ว ก็จะไปรบกวนเพื่อนบ้าน ดังนั้นจึงต้องมีการปรับมาเป็นเผาด้วยแก๊สอ่ะค่ะ)
นอกจากข้าวหลามหนองมนแล้ว ของอีกอย่างนึงในตลาดหนองมนที่พิมชอบมากกกกก ก็คือหอยเสียบดองนะคะ
ตอนสมัยพิมยังเด็ก ๆ ที่พิมเล่าให้ฟังว่าแม่ชอบพาพิมมาบางแสน เราก็พากันมาขุดหาหอยเสียบเอากลับไปดองนี่แหละค่ะ ซึ่งในสมัยนั้นเนี่ย หอยเสียบราคาถูกมากกกกก แบบว่าแทบจะไม่มีราคาเลย แล้วก็ยังเยอะมาก นั่งจุ๊มปุ๊กอยู่ริมชายทะเล เอามื้อคุ้ย ๆ ลงไปในทราย แป๊บ ๆ เดียวก็ได้เต็มขวดลิตรแล้วนะคะ แต่พอมาถึงปัจจุบันนี้่เนี่ย อาจจะเพราะในสมัยก่อนเราเก็บหอยเสียบกันเยอะเกินไป ตอนนี้หอยเสียบที่บางแสนเลยหาแทบไม่ได้แล้วค่ะ นั่งจุ้มปุ๊กสักชั่วโมงนึง จะได้หอยสัก 20 ตัวไหมก็ยังไม่รู้เลยนะคะ - -"
เพราะนั้นแล้วปัจจุบันหอยเสียบก็เลยราคาสูงมาก (ตามความรู้สึกพิมนะ) อย่างตัวเล็กๆ ในกาละมังด้านล่างขวามือสุด ก็ขีดละ 30 บาทแล้วอ่ะค่ะ ส่วนตัวใหญ่ในกาละมังด้านบน ข้าง ๆ ขวดหอยแมลงภู่ดอง ราคาแทบจะไม่อยากพูดถึง เพราะปาเข้าไปขีดละ 100 กว่าบาทจ้า T__T ...... แต่เน๊าะคะ ความอยากกินมันมีมากกว่าเหตุผลและอะไรทั้งสิ้น T__T พิมก็เลยจัดการอุดหนุนตัวเล็กมาซะ 2 ขีด และตัวใหญ่ขีดนึง ...... กินคนเดียวสบายใจเลยค่า (ไม่มีคนอื่นเค้ากินด้วย >_<)
สำหรับเพื่อน ๆ คนไหนที่อยากซื้อของกินที่ตลาดหนองมน และตลาดอื่นๆ โดยเฉพาะของกินที่มีราคาสูง ๆ เนี่ย เพื่อไม่ให้ต้องเสียใจหรือผิดหวัง พิมขอแนะนำว่าอย่าซื้อสินค้าที่แม่ค้าหยิบใส่ถุงเอาไว้แล้วนะคะ หรืออย่าซื้อสินค้าที่เราไม่เห็นข้างในถุงอ่ะค่ะ เช่น พวกปลาอินทรีเค็มที่ห่อกระดาษแล้วใส่ถุงไว้อีกที หรือหมึกสามรสที่คนขายหยิบใส่ถุงเอาไว้แล้วนะคะ เพราะการที่เราไม่เห็นข้างใน เราก็จะไม่รู้เลยว่าข้างในมันมีอะไรบ้าง จะดีหรือจะเสีย เพราะนั้นแล้วเลือกซื้อเฉพาะที่แม่ค้าหยิบใส่ถุงให้ใหม่ ๆ จะดีกว่าอ่ะค่ะ
(กะพรุนดองฝาด กินกับน้ำจิ้มถั่ว)
(แจงลอน)
และหลังจากที่พิมเดินช๊อปปิ้งอยู่ที่ตลาดหนองมนชั่วโมงกว่า ได้หนมจากมา 5 มัด (ฝากข้างบ้าน) หมึกสามรสครึ่งโล (ฝากน้องชาย) แจงลอน 10 ไม้ (ฝากแม่) หอยเสียบดอง 3 ขีด (ของตัวเอง) กั้งดองครึ่งโล (ของคุณสามี) ^^ ก็ได้เวลาที่พิมจะต้องไปที่อื่นต่อแล้วนะคะ ซึ่งที่ๆ พิมตั้งใจจะไปต่อก็เป็นจุดหมายสุดท้ายสำหรับทริปชลบุรีของพิมในครั้งนี้แล้ว นั่นก็คือ "ศูนย์จักรสานใหญ่ที่สุดในโลก" ที่อยู่ในเขตอำเภอพนัสนิคมอ่ะค่ะ ^_^
แต่เนื่องจากว่าตั้งแต่พิมกินข้าวเช้าที่ร้านป้าอ่อนก๊อกก๊วนไปแล้วเนี่ย พิมก็ยังไม่ได้ทานอะไรเป็นเรื่องเป็นราวอีกเลยนะคะ T__T ระหว่างทางที่จะขับรถจากหนองมนไปยังพนัสนิคม พิมก็เลยให้คุณสามีแวะที่ตลาดสดเทศบาลอำเภอบ้านบึงสักหน่อย เพื่อจะหาก๋วยเตี๋ยวหมูบ้านบึงอร่อย ๆ กินอ่ะค่า
พูดถึงก๋วยเตี๋ยวหมูบ้านบึงแล้ว จะว่าไปพิมยังไม่เคยได้กินมาก่อนเลยนะคะ แต่จากที่พิมหาข้อมูลมาเนี่ย (ฟังดูวิชาการมากๆ ^^) เค้าบอกว่าเป็นก๋วยเตี๋ยวหมูสไตล์ชลบุรีที่ไม่มีที่ไหนเหมือนอ่ะค่ะ
ก๋วยเตี๋ยวหมูบ้านบึงแตกต่างจากก๋วยเตี๋ยวหมูทั่วไป เริ่มตั้งแต่ในส่วนของน้ำซุปก๋วยเตี๋ยวที่เค้าจะใส่พวกหมึกแห้งกุ้งแห้งลงไปต้มกับกระดูกหมูด้วยนะคะ ทำให้นอกจากน้ำซุปจะมีรสหวานจากกระดูกหมูแล้ว ก็ยังมีรสหวานและมีความหอมจากกุ้งแห้งกับหมึกแห้งอีกด้วยอ่ะค่ะ ซึ่งเจ้าสองอย่างนี่แหละที่ทำให้น้ำซุปของก๋วยเตี๋ยวหมูบ้านบึงมีความกลมกล่อมและกลิ่นหอมเป็นเอกลัษณ์ที่สุดเลยนะคะ
และนอกจากน้ำซุปแล้ว ในส่วนของเครื่องที่ใส่ ถ้าไม่นับหมูบะช่อ ฮื่อก๊วย หมูต้มหั่นชิ้นบาง ๆ แล้ว เค้าก็จะมีการเพิ่มกุ้งแห้ง และหมึกแห้งฉีกฝอยโรยหน้าด้วยอ่ะค่ะ ... เรียกว่าพอได้กินไป 1 ชามแล้ว ถึงกับต้องสั่งอีกชามมารอเลยอ่ะค่า
โดยร้านที่ขายก๋วยเตี๋ยวหมูบ้านบึงในเขตอำเภอบ้านบึง ชลบุรีเนี่ย ก็มีอยู่นับเป็นสิบ ๆ ร้านเลยอ่ะค่ะ แต่ร้านที่พิมเคยเห็นคนไปกินแล้วเอามารีวิวบ่อย ๆ ก็คือร้านที่อยู่ในซอยข้างธนาคารกรุงไทย สาขาบ้านบึงนะคะ แต่เผอิญว่าวันที่พิมไป ร้านนี้เค้าหมดตั้งแต่บ่ายโมง >_< ในขณะที่พิมไปถึงตอนเกือบบ่าย 3 โมง ก็เลยอดกินไปตามระเบียบจ้า
แล้วแอบเม้าท์นิดนึง ตอนที่รู้ว่าร้านเค้าปิดนี่เคว้งเลยนะคะ แบบว่าแล้วพิมจะไปกินก๋วยเตี๋ยวบ้านบึงเจ้าไหนดีล่ะเนี่ย เพราะมันมีหลายเจ้าเหลือเกิน ก็เลยเดินไปถามอาม่าร้านขายอะไหล่ยนต์ที่อยู่ใกล้ ๆ กับธนาคารกรุงไทย ว่ามีร้านที่ขายก๋วยเตี๋ยวบ้านบึงอร่อย ๆ ร้านอื่นอีกไหม อาม่าก็บอกว่า นี่เลย... ลื้อต้องไปร้านนี้เลย ที่อยู่ใกล้ๆ กับศาลเจ้าเซียนซื่อไท้ ฝั่งตลาดสด รับรองอร่อย เพราะอั๊วะก็กำลังจะปิดร้าน และไปกินที่ร้านนี้เหมือนกันอ่ะ ....... ก็เลยเป็นที่มาของก๋วยเตี๋ยวบ้านบึงในวันนี้แหละค่า
(ราคาชามละ 40-50 บาท)
จากก๋วยเตี๋ยวบ้านบึง จุดหมายสุดท้ายที่พิมจะแวะไปเที่ยวในวันนี้ ก็คือ ศูนย์จักสานใหญ่ที่สุดในโลก ที่อยู่ในอำเภอพนัสนิค จังหวัดชลบุรีอ่ะค่ะ ^_^
หลายคนอาจจะสงสัยว่าเอ๊ะ !! ทำไมศูนย์จักสานที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถึงมาอยู่ที่อำเภอพนัสนิคมได้นะคะ
คือเมื่อก่อนนี้เนี่ย ตอนที่เกิดชุมชนขึ้นมาใหม่ๆ ชาวบ้านที่มาอยู่ที่อำเภอพนัสนิคม เป็นชาวลาวที่อพยพมาจากประเทศลาว ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของไทยในสมัยนั้นนะคะ แล้วด้วยความที่ความรู้และความสามารถด้านการจักสาน เป็นของที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษของชาวลาวควบคู่กับอาชีพทำนา (ตอนนั้นน่าจะเรียกได้ว่าเป็นชาวไทยแล้ว) พอหมดหน้านา มีเวลาว่าง ก็เลยมีการทำเครื่องจักสานต่างๆ ขึ้นมาเพื่อเอาไว้ใช้ในครัวเรือนอ่ะค่ะ
แต่ต่อมา เมื่อเข้าสู่ยุคของการแลกเปลี่ยนสินค้ากัน ชาวบ้านเค้าก็จะเอาเครื่องจักสานซึ่งเป็นผลผลิตของบ้านตัวเอง ไปแลกกับข้าวของต่าง ๆ จากหมู่บ้านอื่นบ้างนะคะ จนในที่สุดจากการแลกเปลี่ยนก็เลยกลายเป็นการซื้อขายแทนอ่ะค่ะ
โดยในช่วงประมาณปี 2520 เป็นยุคที่สินค้าจักสานของพนัสนิคมมีความเฟื่องฟูมากๆ นะคะ เพราะมีการส่งออกไปขายที่ต่างประเทศ ไม่ว่าจะในยุโรป อเมริกา มากมายเลยอ่ะค่ะ ทำให้งานจักสานของอำเภอพนัสนิคม เป็นที่รู้จักของตลาดโลก จากเดิมที่มีไว้ใช้แค่ในครัวเรือนเท่านั้นนะคะ
โดยสินค้าจักสานที่มีขายในหมู่บ้านจักสานพนัสนิคมเนี่ย ก็มีมากมายหลายแบบเลยอ่ะค่ะ ไม่ว่าจะเป็นแบบที่ใช้ดักจับสัตว์น้ำ อย่าง ลอบ ไซ กระจู้ หรือแบบที่ใช้ในครัวเรือน อย่างกระด้ง กระจาด ตระกร้า กระบุง กระเชอ กระเช้า ชะลอม เข่ง ปุ้งกี๋ เก้าอี้ เปล ฝาชี หรือกรงนกนะคะ
และก็จะมีแบบที่เป็นจักสานชิ้นเล็ก ๆ น่ารัก ๆ ชนิดที่เอาไว้ไปใส่ของชำร่วย ของที่ระลึก จำพวกกระด้ง กระจาด ผอบไม้ไผ่ แจกันอันจิ๋ว ๆ อีกด้วยอ่ะค่ะ
ที่สำคัญคือ ราคาไม่แพงนะคะ อย่างของจิ๋ว ๆ ในภาพด้านบน ชิ้นละประมาณ 10-20 บาท กระจาดกระด้งใบในภาพด้านบน ๆ ราคาก็หลักร้อยกว่าบาท หรือฝาชีสวย ๆ ราคาเริ่มต้นก็ 200 กว่าบาทเท่านั้นเองอ่ะค่ะ เรียกว่าสวย คุณภาพดี และราคาถูกเลยอ่ะค่ะ เพราะงั้นแล้วถ้าเพื่อนๆ ผ่านมาแถวพนัสนิคม แล้วไม่รู้ว่าจะซื้อของขวัญของฝากอะไรกลับไปฝากคนที่บ้านดี พิมแนะนำเครื่องจักสานที่พนัสนิคมนี่เลยนะคะ ^^
จากร้านขายเครื่องจักรสาน เหลือบดูเวลาปาเข้าไป 5 โมงเย็นกว่า ๆ เพราะงั้นจุดหมายถัดไปของพิมก็คือบ้านแล้วอ่ะค่ะ ซึ่งจากพนัสไปถึงบ้านพิมเนี่ยก็ใช้เวลาแค่ชั่วโมงกว่าๆ พิมคงไม่ได้แวะไหนแม้แต่ปั๊มน้ำมัน ^^ เพราะงั้นแล้วพิมก็ขอจบทริปชลบุรี 2 วัน 1 คืนไว้ตรงนี้เลยนะคะ ตัวพิมเองไม่ใช่คนพื้นที่ แต่จากการที่ได้มาเที่ยวชลบุรีในทริปนี้ 2 วัน (และมาเที่ยวในครั้งอื่น ๆ อีกด้วย) พิมรู้สึกว่าชลบุรีเป็นจังหวัดที่น่ามาเที่ยวมากค่ะ ทั้งเดินทางไม่ไกล ทั้งอาหารอร่อย และทั้งสถานที่เที่ยวก็หลากหลาย เพราะงั้นแล้วถ้าวันว่างครั้งหน้า เพื่อนๆ ไม่รู้ว่าจะไปเที่ยวไหนดี พิมแนะนำชลบุรีเลยนะคะ และที่สำคัญมาแล้ว ก็อย่าลืมแวะไปชิมปลาคก อาหารพื้นถิ่นจังหวัดชลบุรีด้วยจ้า ..... แล้วพบกับพิมใหม่ในทริปถัดไปนะคะ ส่วนทริปนี้ พิมขอไปกินข้าวหลามหนองมนและหอยดองที่ซื้อมาก่อนล่ะค่า ^_^